อาการของการแพ้ขนสัตว์ เช่น จาม น้ำมูก คัดจมูก ไอ แน่นหน้าอก หอบ ผื่นคัน โดยจะมีอาการเป็นๆหายๆ หลังจากเล่น หรือเข้าใกล้ สัมผัสสัตว์ชนิดนั้น หรืออาจมีอาการโดยไม่ได้เข้าใกล้สัตว์ก็ได้ สารก่อ
ภูมิแพ้จากแมวและสุนัขจะอยู่ที่ผิวหนัง ขน น้ำลาย และมีขนาดเล็กน้อยกว่า 10-20 ไมครอน ทำให้ล่องลอยอยู่ในอากาศและติดอยู่ตามตัวหรือเสื้อผ้าได้นาน หากเราเข้าใกล้คนที่เลี้ยงสัตว์ที่เราแพ้ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ โดยสัตว์เลี้ยงที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย ได้แก่ สุนัข แมว หนู และกระต่าย
การหลีกเลี่ยง
- ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ภายนอกบริเวณบ้าน หากไม่สามารถทำได้ ให้แยกสัตว์เลี้ยง อยู่คนละห้องที่คนอยู่ ไม่ให้อยู่ในห้องนอน
- ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงด้วยการอาบน้ำ อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- ไม่จูบ หอม กอด สัตว์เลี้ยง แต่ถ้าทำ ให้ล้างมือ หน้าและตัวด้วยสบู่ทุกครั้งหลังการสัมผัส
- ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA filter ภายในบ้าน หรือห้องที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ เพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์ที่ฟุ้งอยู่ในอากาศ
การรักษา
- หากมีอาการให้ใช้การรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีน ยาพ่นจมูก พ่นเข้าปาก เพื่อป้องกันอาการกำเริบ
- ถ้ายังมีอาการแล้วต้องการเลี้ยงสัตว์ต่อ สามารถให้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหรือวัคซีนภูมิแพ้ หลักการคือให้สารก่อภูมิแพ้ (allergens) ชนิดแมวหรือสุนัข ฉีดเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยทีละน้อย เพื่อให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้
เรียบเรียงโดย :
ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 มกราคม 2566