bih.button.backtotop.text

Bumrungrad Podcast EP.44 ผ่าตัดข้อเข่าเทียม เปลี่ยนแล้วดูแลอย่างไร

เมื่อต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เปลี่ยนแล้ว.. จะกลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ และข้อเทียมมีความแตกต่างจากข้อจริงมากน้อยแค่ไหน EP นี้เราจะมาเคลียร์ข้อสงสัยในประเด็นนี้กันค่ะ


 
อะไรคือข้อบ่งชี้ว่าคนไข้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
คนไข้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดที่มาเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมักเป็นผู้สูงอายุ แล้วก็เป็นโรคที่เรียกว่าเป็นข้อเข่าเสื่อม อาจจะเป็นระยะท้ายๆแล้ว ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ได้มักจะได้ลองการรักษาอย่างอื่นมาเกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งการรับประทานยา ทำกายภาพบำบัดหรือบางคนก็มีการฉีดยาเข้าข้อเข่ามาก่อนแล้ว แต่อาการอาจจะไม่ได้ดีขึ้นมากนัก หรือมีอาการรุนแรงขึ้น จึงมาปรึกษาเพื่อจะผ่าตัด โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดคนไข้ตัดสินใจเองว่าขอผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่ออยากจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคข้อเข่าเสื่อมอีกต่อไป
 
ลักษณะของข้อเข่าเทียมเป็นอย่างไร เหมือนกับข้อเข่าจริงหรือไม่
ข้อเข่าเทียมเนี่ยรูปร่างก็จะคล้ายๆ กับข้อเข่าของคนเรา ซึ่งจะประกอบด้วยชิ้นส่วน 3-4 ชิ้น โดยส่วนใหญ่ตัวโลหะทำด้วย Cobalt-Chrome และไทเทเนียม ส่วนตรงกลางจะเป็นส่วนของพลาสติกหรือที่เราเรียกว่าโพลีเอทิลีน ซึ่งเป็นมาตรฐานของข้อเข่าเทียมทุกยี่ห้อซึ่ง ทำออกมาใกล้เคลียงกัน
 
ในกรณีข้อเข่าเสื่อมทั้งสองข้าง การผ่าตัดควรทำทีละข้าง หรือผ่าทั้ง 2 ข้างในครั้งเดียวกัน
โดยทั่วไปแล้วเราก็เลือกผ่าตัดข้างที่คนไข้มีอาการปวดมากกว่าในขั้นแรก ในบางรายไม่ต้องผ่าข้างที่สองเลย เพราะหลังจากผ่าข้างที่หนึ่งไปแล้ว เข่านั้นกลายเป็นข้างหลักและการใช้งานดีขึ้น จึงไม่ได้ผ่าข้างที่สอง  และจากที่เคยเจ็บมากก็อาจจะเจ็บน้อยลง เพราะข้างที่ผ่าแล้วกลายเป็นตัวรับน้ำหนักแทนไป ในคนไข้บางรายที่ต้องการผ่าข้างที่สอง แพทย์จะแนะนำว่าให้รออาการอักเสบทุกอย่างหายดีแล้วถึงจะผ่าข้างต่อไป โดยทิ้งช่วงซักประมาณ 3-4 เดือน
ในกรณีที่คนไข้ต้องการผ่าตัด 2 ข้างในครั้งเดียวกัน ข้อดีก็คือ จบและเจ็บในครั้งเดียว และค่าใช้จ่ายอาจจะถูกลงกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงทุกอย่างมากขึ้นการใช้เวลาในห้องผ่าตัดเป็นสองเท่า โอกาสในการติดเชื้อก็อาจจะมากขึ้น อาการเจ็บก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนมากกรณีคนไข้ที่มาทำผ่า 2 ข้าง จะเป็นคนไข้ชาวต่างชาติบางคนที่บินมาแล้วและตัดสินใจตัดสินใจผ่าทั้ง 2  ข้างเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะบินมาผ่าตัดใหม่อีกครั้ง
 
อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม
โดยทั่วไปแพทย์จะอธิบายกับคนไข้ว่าอายุของข้อเข่าเทียมจะอยู่ได้ 15-20 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการดูแลของคนไข้ด้วย
 
กระบวนการหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม  
เนื่องจากการผ่าตัดข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดใหญ่ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีแผลผ่าตัดที่มีขนาดพอสมควรเพื่อที่จะใส่ข้อเข่าเทียมเข้าไปได้ อาจมีอาการอักเสบซึ่งเป็นเรื่องปกติหลังการผ่าตัดทั่วๆไป สิ่งที่จะต้องดูแลอันดับแรกคือแผลผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะแนะนำคนไข้ว่าต้องรักษาแผลให้แห้งไม่เปียกน้ำ เป็นระยะเวลาโดยทั่วไปประมาณ 10 ถึง 14 วัน โดยอาการอักเสบทั้งหลายก็จะมียาช่วยและอาการนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงเป็นลำดับจนหายไปในที่สุด
 
การทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม   
กายภาพบำบัดเป็นสิ่งที่จำเป็นมากหลังการผ่าตัด การทำกายภาพหลังการผ่าตัดจะทำทุกวันในช่วงที่คนไข้ยังพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล และทำต่อเนื่องหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว นักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกเดินในท่าที่ถูกต้อง และมีการออกกำลังกายกล้ามเนื้อให้แข็งแรง มีการทำท่างอเหยียด โดยทั่วไปโปรแกรมกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดจะทำต่อเนื่องประมาณ 2-3 อาทิตย์
 
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีหรือไม่
อาการอักเสบนี้ก็อาจจะมีการบวมที่บริเวณแผลหลังการผ่าตัดถือเป็นเรื่องที่ปกติ ในบางรายอาจมีไข้เล็กน้อย แพทย์จะดูว่าไข้นี้ไม่ใช่สาเหตุมาจากอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาการเหล่านี้จะหายไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงที่แสดงถึงความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่ไม่มาก คือการติดเชื้อ  ถ้าแผลแดงและบวมผิดปกติ หรือมีของเหลวไหลออกมาจากแผล ควรรีบมาพบแพทย์ทันที อีกอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในคนเอเชียแต่พบน้อยกว่าชาวต่างชาติก็คือขาจะบวมมากผิดปกติหลังการผ่าตัด ซึ่งเกิดจากการที่มีเส้นเลือดอุดตันในขาเรียกว่า Deep Vein Thrombosis ซึ่งจะพบได้ในชาวต่างชาติมากกว่าในคนไทยหรือคนเอเชีย ซึ่งควรต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงเดือนแรกๆ หลังการผ่าตัด
 
หลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วจะสามารถใช้งานได้ดีเหมือนข้อเข่าจริงหรือไม่
ถ้าพูดในเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไข้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การที่เข่าเสื่อมทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางกับครอบครัวและลูกหลาน แต่พอเมื่อเปลี่ยนข้อทียมแล้ว คนไข้สามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องนั่งรถเข็น นั่นคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บุคคลในครอบครัวสบายใจมากขึ้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือว่าจะเป็นคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
 
หลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะต้องรอนานแค่ไหนถึงจะสามารถใช้งานได้ตามปกติ
โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ จึงจะกลับไปใช้งานได้ใกล้เคียงปกติ
 
สามารถใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นลงบันได การนั่งยองยอง หรือใส่รองเท้าส้นสูงได้หรือไม่
พฤติกรรมก่อนหน้านี้หรือกิจกรรมที่เราทำอยู่บ่อยๆ ก็คือขึ้นลงบันได กับการนั่งไขว่ห้างทำได้ ส่วนการนั่งสมาธิหรือนั่งยองจะทำได้ถ้ามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เพราะการนั่งยองมุมงอของเข่าอาจจะเกิน 120-130 องศาขึ้นไป ซึ่งสำหรับผู้สูงอายุถ้าสามารถนั่งด้วยมุมงอเข่าประมาณ 100-120  องศา ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ส่วนการใส่รองเท้าส้นสูงอาจจะต้องปรับขนาดส้นสั้นลง อย่าให้สูงเกินไป เพราะการใส่ส้นสูงโดยหลักทางวิทยาศาสตร์ เป็นการเพิ่มแรงกดหรือแรงโหลดต่อหัวเข่ามากกว่าการใส่ส้นเตี้ย
 
ข้อเข่าเทียมสามารถผ่านเครื่อง security check ที่สนามบินได้หรือไม่
สำหรับในกรณีที่คนไข้ต้องเดินทางและสแกน security check ในสนามบิน ซึ่งอาจจะเกิดเสียงเพราะมีโลหะอยู่ในร่างกาย ทาง รพ. บำรุงราษฎร์จะมี card ให้สำหรับคนไข้เพื่อยืนยันว่าคนไข้มีโลหะอยู่ในร่างกายจริง โดยในบัตรจะมีชื่อและรายละเอียดของคนไข้ที่ออกให้โดย รพ. บำรุงราษฎร์
 
หลังจากการผ่าตัด ควรออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอย่างขับรถหรือ ขี่มอเตอร์ไซค์ ได้เลยหรือไม่
โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังกายเบาๆ  ตั้งแต่หลังผ่าตัดอยู่แล้ว และควรออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทก เช่น ว่ายน้ำ แอโรบิคในน้ำ การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายที่เรียกว่า non-impact  พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มี impact ต่อหัวเข่า เช่น วิ่ง เทนนิส ต้องยอมรับว่ากิจกรรมทุกอย่างมีผลกับอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม อายุการใช้งานของข้อเทียมก็จะสั้นลงด้วยถ้าเราใช้งานหนักมากเกินไป

การออกกำลังกาย ถ้าไม่ใช่ส่วนที่เป็นหัวเข่า เช่น ส่วนบนของร่างกายก็ทำได้ปกติทุกอย่าง ส่วนที่เป็นแถวบริเวณเข่า จริงๆ ควรจะเน้นชนิดที่เป็นกล้ามเนื้อด้านหน้าขา หรือกล้ามเนื้อ Quadriceps ให้น้นการทำ Quadriceps strengthening exercise ถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้ แข็งแรงขึ้น ก็จะทำให้คนไข้เดินได้คล่องขึ้น ขึ้นลงบันไดได้สะดวกขึ้น
ส่วนการขับรถควรรอระยะประมาณ 2 อาทิตย์ ลองเหยียบเบรกเหยียบคันเร่งให้มั่นใจก่อนถ้าเป็นการผ่าตัดเข่าข้างขวา ส่วนมอเตอร์ไซต์ที่จะต้องใช้ขาและเข่าสตาร์ทเครื่องแรงๆ แพทย์แนะนำว่าควรจะใช้เวลาประมาณ 1- 2 เดือน ขึ้นอยู่กับอาการฟื้นตัวในคนไข้แต่ละราย
 
หลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว ควรมีการดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
หลังจากช่วงที่แผลปิดสนิทแล้วและอาการอักเสบลดลงแล้วในช่วง 2- 3 เดือน เข่าเริ่มยุบบวมลง ไม่มีอาการอุ่น แผลผ่าตัดสะอาดดี ก็สามารถใช้ชีวิตทุกอย่างได้ตามปกติ และพยายามงดเว้นการเล่นกีฬาหนักๆ ที่มี impact ต่อหัวเข่ามากๆ เพื่อถนอมอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม
 
อาหารเสริมข้อเข่ามีความจำเป็นหรือไม่
หลังการผ่าตัดจะไม่มีกระดูกอ่อนอีกต่อไป การบำรุงด้วยอาหารเสริมจึงไม่มีความจำเป็น
 
ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ​ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความเสื่อมของข้อสะโพกและข้อเข่า โดยรวมแพทย์ผู้ชำนาญและมีประสบการณ์ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทีมแพทย์ของเราให้การดูแลรักษาและผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยมามากกว่าพันราย ประสบการณ์ในการทำงานด้านเปลี่ยนข้อเทียมมากกว่าสิบปี โดยใช้ข้อเทียมที่ดีมีมาตรฐาน และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เรายังมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และดูแลฟื้นฟูสภาพภายหลังการผ่าตัด ทีมศัลยแพทย์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมยังเป็นทีมแพทย์ที่มีชื่อเสียงในวงการแพทย์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมทั้งภายในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้เรายังมีทีมแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้องและทีมสหสาขาวิชาชีพที่ชำนาญพิเศษในการดูแลผู้ป่วยโรคข้อ ซึ่งทำงานเป็นทีมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ไปจนถึงการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัด เป้าหมายของเราคือการทำให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้เหมือนเดิม


เรียบเรียงโดย นพ. พิชญ์ ธนะชานันท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อและข้อเทียม ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


 
   
Layout-BI-Podcast-Badge_Spotify-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_YouTube-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Apple-Podcasts-360x118.png

Layout-BI-Podcast-Badge_Google-Podcasts-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Anchor-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Blockdit-360x118.png


 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs