ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเดินหายใจ ระบาดมากในช่วงหน้าหนาว ภาวะแทรกซ้อน สามารถเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี, ผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปี และกลุ่มในสถานดูแลผู้สูงวัย, หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดช่วง 2 อาทิตย์แรก รวมถึงกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด, โรคทางสมอง, โรคหัวใจ, โรคเลือด, เบาหวาน, โรคตับ, โรคไต, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และกลุ่มคนอ้วน BMI > 40.
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ
- ปอดบวม
- ภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, หัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หัวใจล้มเหลว
- ภาวะแทรกซ้อนทางสมองและระบบประสาท เช่น ลมชัก, สมองอักเสบ, สมองขาดเลือด, กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้อวัยวะภายในหยุดทำงานเฉียบพลัน
อาการที่สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน
- ไอมากขึ้น หอบเหนื่อย ออกซิเจนต่ำ และ ไข้สูงตลอด
- ตรวจร่างกายผิดปกติ เช่น ไข้สูงลอยตลอด, ฟังเสียงปอดผิดปกติ, หัวใจเต้นเร็ว, มีความดันต่ำ
- มีไข้ตลอด มากกว่า 3-5 วัน หลังได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว
- กลับมีภาวะไข้อีกครั้งหลังจากจบการรักษาด้วยยารักษาไวรัสแล้ว
- อาการแย่ลง เช่น ไข้สูงอย่างต่อเนื่อง, หายใจลำบาก, สับสน, เจ็บหน้าอก
หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อรักษาทันที
เรียบเรียงโดย พญ. เยาวรัตน์ จันทรี
แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ทั่วไป
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 21 กุมภาพันธ์ 2568