อย่าละเลย! สัญญาณบ่งบอกความเสี่ยงข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม
ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากการสึกหรอหรือการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้บริเวณข้อมีความผิดปกติซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้มีอาการปวด เคลื่อนไหวข้อเข่าและข้อสะโพกลำบาก ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง การสังเกตอาการของตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยบรรเทาอาการและชะลอความเสื่อมได้
อาการแรกเริ่มของข้อเข่าเสื่อมมีอะไรบ้าง
- อาการปวดเข่า จะมีอาการปวดบริเวณรอบๆ หรือในข้อเข่า อาจเริ่มจากการปวดเมื่อยเล็กน้อยหลังการเดินหรือขึ้นบันได รวมถึงรู้สึกปวดหรือข้อติดขัดในตอนเช้าหลังตื่นนอนหรือหลังจากการนั่งนานๆ และอาการปวดค่อยๆ เกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
- มีเสียงดังแปลกๆ ในข้อเข่า มีเสียงดังกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหวเข่า จากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้ออาจมีจุดกดเจ็บบริเวณข้อเข่าร่วมด้วย
- ข้อเข่าฝืดตึง เป็นอาการเริ่มแรกที่พบบ่อย โดยเฉพาะในตอนเช้าหรือหลังจากนั่งนานๆ
- ข้อเข่าติด งอหรือเหยียดเข่าได้ไม่สุดขณะเดินหรือลุกจากเก้าอี้
- ข้อเข่าไม่มั่นคงขณะเคลื่อนไหว ทำให้เดินหรือทรงตัวลำบาก บางรายอาจมีข้อเข่าผิดรูป ทำให้การเดินเสียสมดุล
อาการแรกเริ่มของข้อสะโพกเสื่อมมีอะไรบ้าง
- ปวดสะโพก โดยเฉพาะบริเวณโคนขาหนีบ รู้สึกติดขัดในข้อสะโพก ทำให้เดินลงน้ำหนักลำบากหรือปวดร้าวลงไปที่ต้นขาจนถึงหัวเข่า โดยเฉพาะเวลาเดิน ขึ้นลงบันไดหรือนั่งนานๆ
- มีเสียงดังในข้อสะโพก ขณะเคลื่อนไหวข้อสะโพก
- ข้อสะโพกฝืดติดขัด ทำให้การเดินหรือลุกนั่งลำบาก รู้สึกปวดมากขึ้นเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนในการขยับข้อสะโพก
รักษาได้อย่างไร
การรักษาโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เป็นการรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อมไม่รุนแรง เช่น การรับประทานยา การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อส่วนที่ปกป้องผิวข้อ การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ การฉีดน้ำไขข้อเทียม และการฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นหรือการฉีดสเต็มเซลล์
- การรักษาโดยการผ่าตัด ในกรณีที่มีอาการปวดข้อเสื่อมผิดรูปและรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมทั้งแบบเปลี่ยนข้อทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จะลดความเสี่ยงหรือชะลอข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมได้อย่างไร
- ควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักที่เกินจะเพิ่มแรงกดบริเวณต่อโดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพก ทำให้เกิดการสึกหรอหรือเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่นและเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่รองรับสะโพกและเข่า การออกกำลังกายยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจและปอด ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมน้ำหนัก
- การใช้วิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ตั้งแต่การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การนอนหลับอย่างเพียงพอ การจัดการความเครียด และงดการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
ศูนย์ข้อเสื่อมและข้อเทียม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้บริการโดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไปจนถึงระยะรุนแรงและซับซ้อน ทีมแพทย์ของเราทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
เรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อเสื่อมและข้อเทียม (3A: Advanced Arthritis & Arthroplasty Center)
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 26 มีนาคม 2568