นอกจากการแต่งงานแล้ว หลายคนมองว่าชีวิตครอบครัวจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีลูกไว้เป็นโซ่ทองคล้องใจ แต่ด้วยแนวโน้มในปัจจุบันที่ผู้หญิงมักแต่งงาน และมีลูกในวัย30 ปีไปแล้วทำให้หลายคนต้องประสบกับภาวะมีบุตรยาก รวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์มากขึ้น
อายุมากขึ้น โอกาสตั้งครรภ์ลดลง
แม้ว่าผู้หญิงที่เตรียมตัวเป็นคุณแม่ในช่วงวัย 30 ปีขึ้นไป จะมีความได้เปรียบมากกว่าผู้หญิงในช่วงวัย 20 ปีในแง่ของความมั่นคงทางด้านการเงิน และความมีวุฒิภาวะ แต่ในแง่ความสมบูรณ์ของร่างกายทั้งก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์แล้ว ช่วงวัยนี้มีข้อควรระวังอยู่หลายประการด้วยกัน
มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่เลยช่วงอายุ 30 ปีไปแล้วจะมีโอกาสตั้งครรภ์ลดลงกว่ากลุ่มผู้หญิงในช่วงอายุ 20 ปี เนื่องมาจากภาวะการตกไข่ที่ลดน้อยลงโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัย35 ปีขึ้นไปซึ่งถือกันว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรโดยพบว่าผู้หญิงจำนวนถึงหนึ่งในสามของกลุ่มนี้ มีปัญหาการมีบุตรยาก ขณะที่ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ภาวะความเสี่ยง และโรคแทรกซ้อน
นอกเหนือจากการตั้งครรภ์ยากแล้ว ว่าที่คุณแม่วัย 35 ปีขึ้นไปยังต้องระวังความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้
- โรคเบาหวานและภาวะความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในรายที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ของมารดา ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่มารดาตรวจพบโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
- การแท้งบุตร โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนแรกในทุกช่วงอายุมักมีความเสี่ยงต่อการแท้งอยู่บ้าง แต่เมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยผู้หญิงในวัย 35 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20 ขณะที่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีจะอยู่ที่ร้อยละ 35
- ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะที่รกเกิดการฝังตัวหรือเกาะอยู่ใกล้กับบริเวณปากมดลูก หรือขวางปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกโดยไม่มีอาการเจ็บครรภ์ หรือเกิดการเสียเลือดมากขณะคลอดซึ่งอาจแก้ไขได้โดยใช้วิธีผ่าคลอดแทนการคลอดแบบธรรมชาติ
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารก โดยเฉพาะดาวน์ ซินโดรมซึ่งความเสี่ยงมักเพิ่มสูงขึ้นตามอายุของมารดา โดยอัตราความเสี่ยงในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 35 ปี อยู่ที่ 1 ใน 400ขณะที่ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี จะอยู่ที่ 1 ใน 100
- การคลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ
- ทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์มารดา (Stillbirth) มักเกิดขึ้นหลังจาก20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 40 ปีจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น 2 - 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 20 ปีเลยทีเดียว
การตรวจวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์
เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงทุกคนจะได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่วัย30 ขึ้นไป ซึ่งมี
ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ ยิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาความผิดปกติในการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจ ดังต่อไปนี้
- การทำอัลตร้าซาวด์ เป็นการนำคลื่นเสียงความถี่สูงมาแปลให้เป็นภาพวีดีโอโดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ อาทิ เพื่อตรวจดูอายุครรภ์ของมารดาติดตามดูพัฒนาการของทารกในครรภ์และเพศของทารกเป็นต้น สำหรับคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีการตรวจจะมุ่งเน้นไปที่การ
- วิเคราะห์หาสัญญาณของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความผิดปกติของทารกการเจาะน้ำคร่ำ เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม หรือโรคทางพันธุกรรมของทารกโดยใช้เข็มขนาดยาวสอดผ่า น หน้าท้องเพื่อเจาะเข้าไปยังถุงน้ำคร่ำและดูดเอาของเหลวมาตรวจเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจชิ้นเนื้อรก เป็นการนำเซลล์ตัวอย่างจากรกมาตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจหาแนวโน้มว่าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่ เช่นเดียวกันกับการเจาะน้ำคร่ำ
ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ คุณเลือกได้
แม้จะมีประเด็นสุขภาพให้ต้องกังวล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงในช่วงวัย 30 จะไม่เหลือโอกาสในการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ยืนยันได้จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเปิดเผยว่าคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีโดยส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ และสามารถคลอดบุตรซึ่งมีสุขภาพดีได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น ว่าที่คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ไปพบแพทย์เพื่อตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนที่จะมีบุตรและควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ รวมถึงไปตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- ใส่ใจในโภชนาการที่ดี รับประทานอาหารหรือวิตามินเสริมที่มีกรดโฟลิคให้ได้ในปริมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินกว่ามาตรฐาน
- งดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้การแนะนำของแพทย์
- ไม่ควรรับประทานยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าการตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่มากขึ้นจะค่อนข้างมีข้อจำกัดในด้านความสมบูรณ์ของร่างกายแต่หากคุณแม่มีการเตรียมความพร้อมและไม่ละเลยการดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์“อายุ” ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการมีบุตรอย่างแน่นอน
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: