การมีบุตรที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเป็นยอดปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน กุญแจสำคัญนั้นอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจ การเตรียมตัว การปฏิบัติตนเพื่อดูแลตัวเองทั้งก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และหลังคลอด
Q: ดิฉันอายุ 37 ปี สามีอายุ 40 ปี เราจะยังมีลูกได้อยู่ไหมคะ
A: การตั้งครรภ์ในวัยนี้อาจไม่ง่ายเหมือนสมัยอายุน้อยๆ เนื่องจากคุณภาพของไข่และอสุจิจะเสื่อมลงไปตามระยะเวลา ความกังวลของคุณเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากมีผลกระทบทั้งต่อทารกและคุณแม่เอง เป็นต้นว่าการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมของทารก หรือคุณแม่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น
เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งมีโอกาสแท้งบุตรสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการแพทย์เจริญรุดหน้าไปมาก การดูแลและประเมินความเสี่ยงหรือความผิดปกติต่างๆ ล่วงหน้าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ปัญหาที่กล่าวมาก็ไม่น่าวิตกกังวลมากนัก อันที่จริงข้อดีของการตั้งครรภ์ในวัยนี้ยังมีอีกมากในเรื่องของความพร้อมและวุฒิภาวะ ถ้าหากคุณตั้งครรภ์ตอนนี้ ก็ขอให้ถือว่าเป็นข่าวดี ควรปรึกษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์ พร้อมทั้งดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและบำรุงร่างกายอยู่เสมอก็จะแข็งแรงปลอดภัยทั้งแม่และลูก
Q: หลังจากแท้งมาสองครั้ง ดิฉันจะตั้งครรภ์ได้อีกไหมคะ
A: การแท้งบุตรไม่มีผลโดยตรงต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป ส่วนมากแล้วผู้ที่เคยผ่านการแท้งมาก็สามารถมีบุตรที่สมบูรณ์แข็งแรงได้ การแท้งบุตรอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยและส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เป็นพ่อแม่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การแท้งอาจพบได้บ่อยและโดยมากเป็นความผิดปกติตั้งแต่ขั้นปฏิสนธิซึ่งคุณทำอะไรได้ไม่มากนัก สิ่งสำคัญคือไม่ควรโทษตัวเองภายหลังการแท้ง หลายคู่อาจจะอยากรีบลองใหม่อีกครั้งโดยเร็ว แต่ควรรอระยะเวลาสักหน่อยให้ร่างกายฟื้นฟูเต็มที่จึงค่อยตั้งครรภ์อีกครั้ง พึงระลึกไว้ว่าอย่ากดดันตัวเองให้มากเกินไป เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ได้ ในระหว่างนี้ ทำใจให้สบาย ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพตัวเองและวางแผนเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
Q: ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดมีสาเหตุมาจากอะไร และจะป้องกันได้อย่างไร
A: ภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในช่วง 5 วันแรกหลังคลอด โดยเกิดจากการที่มีบิลิรูบิน (bilirubin) ในเลือดมากเกินไป บิลิรูบินถูกผลิตขึ้นมาในขั้นตอนการกำจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่า และจะถูกกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ
ในช่วงตั้งครรภ์ บิลิรูบินจะถูกกำจัดผ่านรก หลังคลอดทารกต้องเริ่มกำจัดสารดังกล่าวด้วยตัวเอง หลายครั้งที่ภาวะตัวเหลืองในทารกเกิดจากการที่ตับยังไม่พัฒนาเต็มที่จึงไม่อาจกำจัดบิลิรูบินได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก ภาวะตัวเหลืองกรณีนี้จะปรากฏชัดใน 24 ชั่วโมงแรกและหายได้ภายในหนึ่งสัปดาห์
อย่างไรก็ดี ภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกจำเป็นต้องได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกที่เป็นไปได้ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด
ท่อน้ำดีอุดตัน และปัญหาเรื่องกลุ่มเลือดของแม่ลูกที่ไม่เข้ากัน ฯลฯ แพทย์จะคอยติดตามดูเป็นระยะๆ หากพบว่ามีระดับบิลิรูบินสูงขึ้น แพทย์อาจให้การรักษาตามสาเหตุ หรือรักษาด้วยการส่องไฟ เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อสมองของเด็กได้
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 26 พฤษภาคม 2566