ปวดหลัง รักษาได้
อาการปวดหลังนั้นเป็นความทรมานอย่างยิ่งแต่ก็สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยวิธีการใหม่ที่ให้ผลดีกว่าเดิม
หากคุณไม่เคยต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวดหลัง นับว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่โชคดีมาก เพราะโดยเฉลี่ยแล้วคนในวัยผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 80 ต้องทรมานจากการปวดหลังไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง ซึ่งอาการปวดหลังทั่วไปมักจะหายไปเองภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่ในกรณีร้ายแรงก็อาจกินระยะเวลานานและทรมานอย่างยิ่ง
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาการปวดหลังนั้นหายยากก็เนื่องจากหลังเปรียบเสมือน "เสาหลัก" ของร่างกาย โดยมีกล้ามเนื้อหลังและเส้นเอ็นต่างๆ ทำหน้าที่รับน้ำหนักส่วนใหญ่ เรียกว่าทุกการเคลื่อนไหวล้วนเกี่ยวข้องกับหลังทั้งสิ้น
หน้าที่ของหลัง
แท่งกระดูกสันหลังประกอบไปด้วยกระดูกสันหลังเรียงตัวซ้อนๆ กันมากกว่า 30 ปล้อง เกิดเป็นช่องซึ่งล้อมรอบและปกป้องไขสันหลังและมีเส้นประสาทโยงใยเข้าออกจากไขสันหลังผ่านทางช่องกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังแต่ละปล้องถูกยึดติดกันด้วยกล้าม ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับแรงกระแทกไม่ให้กระดูกแต่ละปล้องกระทบกันเมื่อเดินหรือกระโดด
สาเหตุของโรคปวดหลัง
หลังส่วนล่างเป็นบริเวณที่รับน้ำหนักของร่างกายมากที่สุดและเกิดอาการปวดบ่อยที่สุด อาการปวดหลังโดยทั่วไปมักเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังหรือกล้ามเนื้อที่คอยพยุงหลัง และจะปวดขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ในหลายๆ กรณีอาการปวดอาจรักษาได้ภายในเวลาไม่กี่วันด้วยการรับประทานยาแก้ปวด เช่น
อัยบูโพรเฟน (Ibuprofen) ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากอาการปวดเล็กๆ น้อยๆ ได้ภายใน 4 สัปดาห์ด้วยการบำบัดเพียงเล็กน้อย ในกรณีที่อาการปวดคงอยู่เป็นเวลาเกินกว่า 4 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง
ส่วนมากแล้วประมาณร้อยละ 80 ของ
โรคปวดหลังจะมีสาเหตุมาจากอาการหลังตึง ส่วนสาเหตุอื่นๆ มีดังนี้
- การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือหกล้ม
- หมอนรองกระดูกเสื่อม อันเป็นผลมาจากกระดูกอ่อนที่หุ้มกระดูกสันหลังแต่ละปล้องเกิดการฉีกขาด
- ภาวะข้อเสื่อม/ช่องไขสันหลังตีบ
- ภาวะติดเชื้อที่กระดูกสันหลังทำให้สันหลังแข็งขาดความยืดหยุ่น
- กระดูกสันหลังเคลื่อน
- สาเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น มะเร็ง นิ่วในไต หรือภาวะติดเชื้อต่างๆ
ทั้งนี้แพทย์จะทำการซักถามเพื่อประเมินสาเหตุของอาการปวด โดยเริ่มจากประวัติด้านความเจ็บป่วยและการผ่าตัดของทั้งคุณและสมาชิกในครอบครัว ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยถึงต้นตอของอาการปวดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกิจวัตรประจำวันได้ สำหรับกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจต้องวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ภาพตัดขวาง (CT Scans)
การรักษาโรคปวดหลัง
โรคปวดหลังส่วนใหญ่อาจรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องใช้วิธีที่ซับซ้อนนัก เพียงพักผ่อนประมาณ 2-3 วัน รับประทานยาแก้อักเสบร่วมกับการประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อก็จะดีขึ้นได้ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับอาการปวดหลังเรื้อรังแพทย์จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาที่ครอบคลุมหลายด้านมากขึ้น โดยอาจรวมเอาการทำกายภาพบำบัดและการจัดการความปวดเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษาด้วย
ในภาวะปกติ กระดูกสันหลังจะมีความยืดหยุ่นและโค้งงอได้ แต่การบาดเจ็บที่หลังและภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลังแข็ง ขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้ปวดรุนแรงและเรื้อรัง ซึ่งในกรณีนี้แพทย์อาจทำการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังให้ผู้ป่วย
การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม
เทคโนโลยีการรักษาโรคปวดหลังแบบใหม่ที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม ซึ่งเป็นการขูดเอาเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกที่เสียหายออกแล้วใส่แทนด้วยหมอนรองกระดูกเทียมซึ่งจะทำหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว โดยทั่วไปหมอนกระดูกเทียมมี 3 แบบ คือ แบบที่เป็นโลหะ แบบที่เป็นไบโอโพลีเมอร์ และแบบผสมระหว่างโลหะและไบโอโพลีเมอร์ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ล้วนมีอายุการใช้งานนานหลายปี
แม้การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมจะให้ผลดีแต่ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ และอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป นอกจากการผ่าตัดเปลี่ยน หมอนรองกระดูกเทียมแล้วการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังก็เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับมานานว่าให้ผลดีในการรักษาโรคปวดหลังเช่นเดียวกัน
รักษาโรคปวดหลังโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่
หลายปีก่อน ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระดูกสันหลังต้องใช้เวลาพักฟื้นเป็นปีจึงจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผ่าตัดช่วยให้แพทย์ไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่เพื่อรักษาอาการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากกระดูกสันหลังเสื่อมได้เป็นผลสำเร็จ ตัวอย่างของวิธีการดังกล่าว ได้แก่ การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังผ่านกล้อง ซึ่งจะสอดผ่านทางรอยกรีดเล็กๆ ตรงเข้าไปยังบริเวณที่ต้องการ หรือการใช้กล้องขยายกำลังสูง มองผ่านท่อที่สอดผ่านเข้าไป เทคนิคนี้ถือเป็นการก้าวกระโดดของวงการศัลยศาสตร์อย่างแท้จริง จากการผ่าตัดใหญ่ที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อยเป็นสัปดาห์ ใช้เวลาพักฟื้นนานนับปีและมีแผลเป็นขนาดใหญ่ กลายเป็นการผ่าตัดย่อยที่ผู้ป่วยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในโรงพยาบาล ไม่กี่เดือนในการพักฟื้น โดยมีเพียงแผลเป็นเล็กๆ หลงเหลืออยู่
การป้องกันโรคปวดหลัง
ในกรณีที่คุณไม่มีอาการปวดหลัง การบริหารร่างกายที่ช่วยยืดและสร้างความแข็งแรงให้กับหลังเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้หลังของคุณมีสุขภาพดี เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและปวดบริเวณหลังน้อยลง ท่าบริหารต่อไปนี้ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์พิเศษใดๆ
ท่าเกร็งท้อง
นอนหงายบนพื้นราบ ตั้งเข่าทั้งสองข้างขึ้น หลังช่วงบั้นเอวจะไม่ติดพื้น แขม่วหน้าท้อง กดหลังให้ติดแนบกับพื้น เกร็งค้างไว้ประมาณ 5 วินาทีหรือนับ 1-5 แล้วจึงคลาย ทำใหม่ในลักษณะเดียวกัน 10 ครั้ง
ท่าเข่าชิดอก
นอนหงายเหยียดขาบนพื้นราบ งอเข่าดึงเข้ามาให้ชิดอกมากเท่าที่จะทำได้โดยให้หลังแนบกับพื้นตลอดเวลา ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาทีแล้วจึงเปลี่ยนข้าง
ท่าเข่าชิดอก
เริ่มจากท่านอนคว่ำ ใช้มือทั้งสองดันพื้นยกตัวขึ้น ทำค้างไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วพักสักครู่จึงค่อยทำซ้ำให้ครบ 10 ครั้ง
นอกจากการยืดกล้ามเนื้อแล้ว การเดิน ว่ายน้ำ ฝึกโยคะและพิลาทิส ก็เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับหลังทั้งสิ้น ที่สำคัญคืออย่ากลัวเจ็บจนไม่กล้าที่จะออกกำลังกาย แม้จะเจ็บบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่การฝึกเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วจะช่วยให้อาการปวดหายเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บและลดความเสี่ยงต่อความพิการด้วย แต่หากคุณเคยมีหรือกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับหลัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะทำกายบริหารใดๆ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 22 กันยายน 2566