วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เรามีองค์ความรู้และวิธีการที่หลากหลายมากขึ้นในการบรรเทาอาการปวดทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
ความเจ็บปวดเป็นสัญญาณที่ร่างกายบอกให้ทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น อาการปวดช่วยป้องกันไม่ให้อาการบาดเจ็บร้ายแรงกว่าเดิม เช่น เมื่อคุณเอามือไปจ่อเหนือเปลวเทียน ความร้อนจะกระตุ้นให้คุณต้องรีบชักมือกลับทันที โดยทั่วไป ความเจ็บปวดจะหายไปหลังจากการบาดเจ็บหาย หรือหลังได้รับการรักษา แต่ในหลายๆ กรณีความเจ็บปวดอาจคงอยู่เป็นเดือนๆหรือเป็นปีโดยที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในหลายปีที่ผ่านมารวมทั้งความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการรับมือกับอาการเจ็บปวดเป็นผลให้ศาสตร์แห่งการรักษาความเจ็บปวดได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากหายจากความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด
ทำความเข้าใจกับอาการปวด
บางครั้งแพทย์ก็ไม่อาจชี้ชัดถึงความผิดปกติทางร่างกายที่เป็นสาเหตุของอาการปวดได้แม้ว่าจะมีการตรวจวินิจฉัยหลายครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าอาการปวดดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ความปวดเป็นอาการที่รู้ได้เฉพาะบุคคลอย่างแท้จริงและเป็นประสบการณ์ที่ไม่สบายทั้งร่างกายและอารมณ์อย่างยิ่ง ดังนั้น การทำความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานของอาการปวดอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการปวดได้เป็นอย่างดี
ความปวดแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
อาการปวดแบบเฉียบพลันอาจเป็นมากหรือน้อยแล้วแต่กรณี บางครั้งเกิดขึ้นแล้วหายไปในเวลาอันสั้น แต่บางครั้งก็คงอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งอาการปวดชนิดนี้มักเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติรุนแรงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น กระดูกหักหรือถุงน้ำดีอักเสบ รวมถึงความปวดภายหลังการผ่าตัด อาการปวดแบบเฉียบพลันจะค่อยๆ หายไปเมื่อสาเหตุของอาการได้รับการบรรเทาหรือรักษาแล้ว ส่วนอาการปวดแบบเรื้อรังจะมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานานแม้สาเหตุจะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ กล้ามเนื้อตึง อ่อนแรง ปวดเสียวร้าว อารมณ์เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้อาการปวดหัว ปวดหลังส่วนล่าง และปวดข้อจากโรคไขข้ออักเสบล้วนจัดอยู่ในประเภทนี้ อาการปวดแบบเรื้อรังอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติของประสาทรับความรู้สึกที่บาดเจ็บและถูกทำลายซึ่งจะปรากฏอาการ เช่น เจ็บเหมือนถูกไฟฟ้าช๊อต เจ็บร้าวไปทั่วบริเวณ ปวดแสบปวดร้อน เจ็บจี๊ดๆ เหมือนถูกเข็มหรือของมีคมทิ่มแทง โรคมะเร็งก็มักส่งผลทำให้ร่างกายมีอาการเจ็บปวดแบบเรื้อรังและมีอาการปวดรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีวิธีการควบคุมอาการปวดให้ดีและควบคุมอาการทุกข์ทรมานอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยบางรายมีความไวต่อความเจ็บปวดมากกว่าปกติ ในขณะที่บางรายเกิดความเจ็บปวดเนื่องจากสภาวะทางอารมณ์หรือสภาวะทางจิตใจ เช่น อาการซึมเศร้า
แนวคิดเรื่องการจัดการกับอาการปวด
พญ.จอมใจ วิจิตรานนท์-เกรียวสกุล วิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปวดผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์กับ Better Health ถึงบทบาทและความสำคัญของการรักษาอาการปวดว่า "การรักษาความปวดเป็นการแพทย์เฉพาะทางสาขาใหม่ เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์แล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยถึงสาเหตุของความปวดได้แพทย์จะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปวดเป็นผู้ประเมินความปวดเพื่อหาแนวทางควบคุมและรักษา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากประวัติ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกาย ประวัติความเจ็บป่วย รวมถึงปัจจัยต่างๆ การรักษาโรคปวดที่ซับซ้อนอาจจำเป็นต้องใช้คณะแพทย์หลายสาขาวิชา รวมถึงบางครั้งอาจต้องมีการปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยเยียวยาสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วยที่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บปวดด้วย"
การบริหารจัดการความปวดเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาความเจ็บป่วยต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ลดความทุกข์ทรมานและทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้เร็วกว่า โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ทรมานกับอาการปวดรุนแรงหรือผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นจากการบาดเจ็บสาหัสหรือการผ่าตัดใหญ่ รวมทั้งผู้ป่วย
โรคปวดหลังและปวดข้อเรื้อรัง
วิธีการรักษาความปวดนั้นมีหลายวิธีซึ่งแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาตามผลการวินิจฉัยและอาการตามความเหมาะสม ได้แก่ การใช้ยาระงับปวด ยาแก้ปวดชนิดรับประทาน ยาทา ได้แก่ ยาแก้ปวดทั่วไป รวมถึงยาต้านการอักเสบบรรเทาปวดที่หาได้ตามร้านขายยาทั่วไปอาจช่วยได้ กรณีที่มีอาการปวดรุนแรง แพทย์มักสั่งยาที่มีประสิทธิภาพในการระงับปวดที่สูงขึ้น รวมถึงอุปกรณ์การให้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยบริหารยาได้เอง (PCA) และยาเสริมต่างๆ ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาระงับความปวดจากเส้นประสาท
- การฉีดยาเป็นการฉีดยาเฉพาะจุดเข้าที่บริเวณที่มีอาการเพื่อระงับปวดหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อ ข้อ หรือประสาทรับความรู้สึก
- การกระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดและกล้ามเนื้อหดเกร็ง
- การผ่าตัด ในรายที่มีอาการเจ็บปวด ไม่สามารถบรรเทารักษาด้วยวิธีอื่นได้ อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด เพื่อรักษาที่ต้นเหตุ
- การทำกายภาพบำบัด นอกจากจะช่วยบรรเทาความปวดแล้ว การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังการบาดเจ็บด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูอาจช่วยจัดโปรแกรมที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด
วิธีการรักษาวิธีอื่นๆ อาจใช้วิธีการอื่นเพื่อร่วมรักษาอาการปวดด้วย เช่น การฝังเข็ม การผ่อนคลาย การใช้คลื่นความร้อน การวัดการตอบสนองทางชีวภาพ (Biofeedback) การบำบัดด้วยน้ำวนและการนวดกดจุด
- จิตบำบัด คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับความรู้สึกโกรธหรือความซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลจากความเจ็บป่วยเรื้อรัง
- การวินิจฉัยอาการปวดของคนไข้ การประเมินและวินิจฉัยอาการปวดของผู้ป่วยถือเป็นขั้นแรกของกระบวนการจัดการกับความปวด ในการรักษาแพทย์จะทำการตรวจผู้ป่วยและพิจารณาประวัติการรักษา ซึ่งความปวดนั้นถือเป็นสัญญาณชีพที่ห้า มีความสำคัญเช่นเดียวกับความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและความน่าจะเป็นของโรคต่างๆ อีกหลายวิธี เช่น
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) มีการใช้เอกซเรย์และคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการสร้างภาพตัดขวางจำลองภาพอวัยวะภายใน
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เป็นวิธีการสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็ก ด้วยการใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพอวัยวะของร่างกายแทนการใช้รังสีเอ็กซ์
- การสกัดปลายประสาท (Differential Nerve Block) ความปวดบางประเภทอาจซับซ้อนเพราะเกิดจากหลายสาเหตุ การสกัดเส้นประสาทอาจถูกนำมาใช้เพื่อตรวจหาที่มาของอาการปวดเพื่อจะสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้
- การฉีดสีเข้าไขสันหลัง (Myelogram) แพทย์จะฉีดสีที่ทึบแสงไปที่โพรงกระดูกสันหลังซึ่งจะใช้คู่กับการเอกซเรย์เพื่อให้ได้ผลออกมาชัดเจนขึ้น
- อีเอ็มจี (Electromyography หรือ EMG) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์วัดกระแสประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ประเมินผลการตอบสนองของกล้ามเนื้อร่วมกับการส่งสัญญาณของสมอง ไขสันหลัง และปลายประสาท
- การสแกนกระดูก (Bone Scan) นำมาใช้เพื่อวินิจฉัยและตรวจดูการติดเชื้อ การแตกหัก หรือความผิดปกติอื่นๆ ของกระดูก
- อัลตราซาวนด์ (Ultrasound) โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจสภาพอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกาย
การรักษาอาการปวดให้ได้ผล
จุดเริ่มต้นของการรักษา คือ เมื่อคนไข้ตระหนักว่าความปวดนั้นจำเป็นต้องได้รับการเยียวยา "สมัยก่อน คนไข้มักจะพยายามอดทน หรือลองรักษาอาการด้วยวิธีต่างๆ ก่อนผ่านไประยะหนึ่งแล้วจึงจะมาพบแพทย์" พญ.จอมใจ อธิบาย
"แต่ปัจจุบัน เราทราบดีว่าอาการปวดส่งผลเสียต่อร่างกาย อาทิ ความดันเลือดสูง ชีพจรเร็ว น้ำตาลในเลือดสูง ความเครียด นอนไม่หลับ บั่นทอนคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตประจำวัน ทุกคนย่อมมีประสบการณ์กับอาการปวดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการรุนแรงขึ้น รวมถึงมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ชาตามร่างกาย หรืออ่อนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรีบปรึกษาแพทย์" พญ.จอมใจ กล่าวและเน้นถึงความสำคัญของบทบาทของผู้ป่วยในการดูแลตนเองและจัดการกับความปวด
คำแนะนำโดยทั่วไปสำหรับการดูแลความปวดคือ
- มองโลกในแง่ดี ใช้ชีวิตด้วยการรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย พยายามอยู่ใกล้ผู้ที่มองโลกในแง่ดี รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ พักผ่อน ผ่อนคลาย และปฏิบัติตามแผนการรักษา
- อย่ากังวลอยู่กับอาการปวด พยายามใช้ชีวิตปกติ และทำกิจกรรมที่ชอบหรืองานอดิเรกสนุกๆ แต่ถ้ายังถูกรบกวนด้วยความปวดอยู่ ก็พยายามเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกายและการใช้ชีวิตที่หักโหม พญ.จอมใจ กล่าว "ความเครียดในชีวิตประจำวันและความเสื่อมสภาพอาจใช้เวลาก่อตัวหลายปี แม้จะดูแลตนเองดีที่สุดแล้ว บางครั้งก็อาจหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยไม่ได้" นอกจากนี้ การคิดในแง่บวกก็ช่วยได้เช่นกัน ผลการวิจัยชี้ว่าความคิดในแง่บวกจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมและลดความปวดได้ เช่นแทนที่จะคิดว่าไม่อยากออกกำลังกายเลยวันนี้ ก็เปลี่ยนเป็นออกกำลังกายแล้วเราจะรู้สึกดีขึ้น และก็จะนอนหลับสบายขึ้นด้วย
- เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่สร้างอาการปวด "ผู้ป่วยส่วนมากต้องการให้แพทย์รักษาแบบทันใจซึ่งมักจะเป็นการใช้ยา หรือวิธีการอื่นๆ โดยไม่เปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความปวดและการบาดเจ็บซ้ำๆ อีก ลักษณะการนั่งทำงานที่ผิดสุขลักษณะ การเล่นกีฬาโดยไม่ยืดกล้ามเนื้อ การมีน้ำหนักตัวมาก รวมทั้งการไม่ออกกำลังกาย มักเป็นสาเหตุของความปวดเรื้อรังที่พบบ่อย ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีเมื่อผู้ป่วยให้ความสำคัญต่อการดูแลตนเองและวิถีชีวิตให้ถูกต้อง" พญ.จอมใจกล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 22 กันยายน 2566