วิตามินบี 12 คืออะไร
วิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin) เป็นวิตามินชนิดหนึ่งที่ละลายได้ในน้ำ ส่วนใหญ่แล้วจะพบในอาหารจำพวก เนื้อ ปลา ไข่ นม ตับ เป็นต้น ซึ่งวิตามินบี 12 นั้น มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง รวมถึงมีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบประสาทเป็นไปได้อย่างปกติด้วย
เนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินบี 12 ได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น หากเราได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 12 ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายได้
การขาดวิตามินบี 12 มีอาการอย่างไร
อาการที่พบได้จากการขาดวิตามินบี 12 ได้แก่
- มีอาการซีดจากภาวะโลหิตจาง หรือมีอาการตัวเหลือง
- การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ มีการรับรู้ช้าลง หลงลืมได้ง่าย
- มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- เบื่ออาหาร
อาการดังกล่าวข้างต้นพบได้ในบางราย คนที่มีปริมาณวิตามินบี 12 ในเลือดต่ำส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ
การขาดวิตามินบี 12 มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุของการขาดวิตามินบี 12 ได้แก่
1.จากการรับประทานวิตามินบี 12 ที่ลดลง |
- รับประทานมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดเป็นเวลานาน
- รับประทานเนื้อสัตว์น้อยลง
- ผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารได้น้อย
|
2. จากการที่ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 ได้น้อยลง |
- ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้
- เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้เล็ก เช่น Crohn disease, Malabsorption syndrome, Celiac disease
- ตับอ่อนทำงานบกพร่อง ผลิตเอนไซม์ไม่เพียงพอต่อการย่อยอาหาร (Pancreatic insufficiency)
- มีแบคทีเรียเจริญผิดปกติในลำไส้เล็ก
- มีการติดเชื้อพยาธิบางชนิดในลำไส้เล็ก
|
3. จากการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลลดการดูดซึมวิตามินบี 12 |
- Metformin
- ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารกลุ่ม Histamine-2 blockers หรือ Proton pump inhibitors
|
4. เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด |
- Imerslund-Gräsbeck syndrome
- Juvenile cobalamin deficiency
|
แพทย์จะวินิจฉัยการขาดวิตามินบี 12 ได้อย่างไร
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายร่วมกับตรวจค่าทางห้องปฏิบัติการเพื่อประกอบการวินิจฉัยการขาดวิตามินบี 12 เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ดูปริมาณ ขนาด และรูปร่างของเม็ดเลือดแดงว่าผิดปกติหรือไม่ ในผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 อาจพบภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจพบเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลงได้เล็กน้อย นอกจากนี้ แพทย์อาจส่งตรวจระดับวิตามินบี 12 เพิ่มเติม เพื่อดูระดับวิตามินบี 12 ในร่างกายด้วย
เราสามารถรักษาอาการขาดวิตามินบี 12 ได้อย่างไร
หากท่านเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 จากสาเหตุเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานมังสวิรัติเป็นเวลานาน มีภาวะความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือใช้ยาที่มีผลลดการดูดซึมวิตามินบี 12 ท่านควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
สำหรับการรักษา หากการขาดวิตามินบี 12 เกิดจากการรับประทานที่ลดลงโดยเฉพาะผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ สามารถรักษาได้โดยการให้รับประทานวิตามินบี 12 เสริม แต่หากเกิดจากการดูดซึมที่ผิดปกติ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยใช้ยาวิตามินบี 12 แบบฉีด (ฉีดเข้ากล้าม/เข้าหลอดเลือดดำ) หรือแบบรับประทานในขนาดสูง แต่ถ้าการดูดซึมวิตามินบี 12 ที่ผิดปกตินี้เกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก กรณีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับวิตามินบี 12 แบบฉีดทุกเดือนในระยะยาว
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 18 พฤษภาคม 2565