อีกขั้นของการรักษาไมเกรน
ผู้ป่วยไมเกรนขั้นรุนแรงถึง 1 ใน 10 รายสามารถหายขาดได้ด้วยการรักษาที่ก้าวหน้าไปมาก
หากถามผู้ป่วยโรคไมเกรนว่าอาการปวดไมเกรนเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้น ปวดสุดๆ! สุดจะทนเลย! สุดยอดแห่งความทรมาน ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่คำที่ใช้อธิบายอาการปวดจากไมเกรน...หนึ่งในโรคที่สร้างความทรมานให้ผู้ป่วยมากที่สุด แต่กลับเป็นหนึ่งในโรคที่วงการแพทย์เข้าใจน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามการรักษาไมเกรนเริ่มมีความหวังมากขึ้น เมื่อแพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถึงประมาณ 1 ใน 10 ราย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอยู่กับอาการทางระบบประสาทที่แสนบั่นทอนร่างกายและจิตใจ โดยอาจต้องทนปวดตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงไปจนถึง 2-3 วัน แม้ว่าจะไม่มีวิธีการรักษาที่รับรองผลได้ แต่ผลวิจัยทางการแพทย์ก็ช่วยให้เรามียาและวิธีรักษาที่ได้ผลกว่าเดิมในการช่วยลดอาการปวดไมเกรนแทนที่ผู้ป่วยจะต้องพึ่งยาแอสไพริน 2 เม็ดและเก็บตัวอยู่ในห้องมืดเมื่อมีอาการ
ไมเกรนคืออะไร
ไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่พบบ่อยที่สุด โดยมีอาการปวดตุบๆ อย่างรุนแรง เพราะการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ช่วงที่มีอาการผู้ป่วยจะรู้สึกปวดอย่างรุนแรงบริเวณศีรษะด้านหน้า ขมับสองข้าง เบ้าตา หรือหูข้างใดข้างหนึ่ง
นอกจากอาการปวดแล้ว ผู้ป่วยอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน สายตาพร่ามัว รวมทั้งมักจะมีประสาทรับรู้ที่ไวกว่าปกติ เช่น แสบตา หนวกหู เหม็นกลิ่นแรงๆ รู้สึกศีรษะหวิวๆ หนาวและเหงื่อออก มีอาการอ่อนเพลียและไม่เจริญอาหาร ไมเกรนสามารถ โจมตีผู้ป่วยเมื่อไหร่ก็ได้แต่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มมีอาการปวดในช่วงเช้า
ผู้หญิงมีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า โดยอาการมักจะเริ่มในกลุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 10-55 ปีและถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งนี้อย่างน้อยร้อยละ 60 ของผู้หญิงที่เคยเป็นไมเกรนจะมีอาการดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์และมีอายุครรภ์ระหว่าง 6-9 เดือน
สาเหตุของไมเกรน
มีการตั้งทฤษฎีขึ้นมาหลายทฤษฎีเพื่ออธิบายถึงสาเหตุของไมเกรนแต่กลับไม่มีทฤษฎีไหนสามารถอธิบายได้ชัดเจน ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ไมเกรนเกิดจากระบบการทำงานของหลอดเลือดในสมองผิดปกติและมีการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนินออกมา เมื่อเซโรโทนินอยู่ในระดับสูง หลอดเลือดจะเริ่มหดตัว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาพร่า เวียนศีรษะ เมื่อระดับเซโรโทนินลดต่ำลง หลอดเลือดจะขยายตัวออกและกดทับปลายประสาทรอบๆ ทำให้มีอาการปวดเกิดขึ้น อีกทฤษฎีหนึ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ และการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดอาการปวด การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ได้กล่าวถึงปัจจัยด้านพันธุกรรม นั่นคือผู้ป่วยโรคไมเกรนได้รับการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติมาจากบรรพบุรุษ ทำให้การทำงานของเซลล์สมองบางชนิดผิดปกติไป
ประเภทของไมเกรน
การวิจัยทางการแพทย์ได้ถูกท้าทายด้วยความจริงที่ว่า ไมเกรนไม่ได้มีเพียงประเภทเดียว แต่สัญญาณ อาการ และความรุนแรงของอาการปวดจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ไมเกรน 2 ประเภทที่พบบ่อยที่สุด คือไมเกรนแบบมีอาการนำ (Classic Migraine) และไมเกรนแบบไม่มีอาการนำ (Common Migraine)
ความแตกต่างที่ชัดเจนของไมเกรน 2 ประเภทนี้คือ ไมเกรนแบบมีอาการนำจะมีอาการเตือนในช่วง 10-30 นาที ก่อนเกิดอาการปวดหรือที่เรียกว่า "ออร่า" โดยผู้ป่วยมักจะเห็นแสงจ้า เส้นซิกแซก หรือตาพร่ามัวไปชั่วขณะ บางรายอาจเกิดอาการพูดติดขัด ชาตามแขนและขา หน้าหรือมือกระตุก และมีอาการมึนงง ส่วนไมเกรนชนิดไม่มีอาการนำจะไม่มีออร่า แต่ก่อนปวดผู้ป่วยมักมีอาการหลายอย่าง เช่น อารมณ์ปรวนแปร ไม่มีแรง หรือบวมน้ำ โดยทั่วไปไมเกรนชนิดไม่มีอาการนำมักจะเกิดขึ้นช้ากว่าแต่มีอาการนานกว่า จึงส่งผลต่อชีวิตประจำวันมากกว่าไมเกรนชนิดมีอาการนำ
อาหารและปัจจัยกระตุ้น
แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไมเกรนเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ผลการวิจัยทางการแพทย์ก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของอาหารบางประเภทและอาการปวดไมเกรน ความเกี่ยวพันดังกล่าวนี้เกิดจากทฤษฎีที่ว่าสารเคมีในอาหารบางชนิดทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวและกระตุ้นการเกิดไมเกรน ผู้เชี่ยวชาญบางท่านยืนยันว่าอาหารอาจเป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะได้โดยทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ที่มีแนวโน้มแพ้อาหารนั้นๆ
ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นไมเกรนได้ มีดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน
- แสงจ้าหรือเสียงดัง
- อาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลตและเนยแข็งชนิด Aged Cheese
- ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งรสอาหาร เช่น ผงชูรส ไนเตรต หรือซอสถั่วเหลือง
- นิโคติน
- การอดอาหาร
- ความเครียด การใช้ร่างกายหนักเกินไป การอดนอน
- อากาศเปลี่ยนแปลง
- ยาบางชนิด
การรักษาไมเกรน
จากการค้นคว้าวิจัยนานนับปี ทำให้แพทย์ค้นพบทางเลือกในการรักษามากขึ้นและดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใหม่ๆ หรือวิธีการรักษาใหม่ๆ อาทิ การรักษาความผิดปกติของหัวใจที่มีรูรั่วเล็กๆ ที่ผนังหัวใจห้องบนซ้ายและห้องบนขวาหรือเรียกว่าภาวะ Patent Foramen Ovale (PFO) ซึ่งมีผลต่อการรักษาไมเกรนในผู้ป่วยหลายล้านคน
แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยลดความเครียดและหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพื่อป้องกันและช่วยควบคุมไมเกรนรวมทั้งอาการปวดศีรษะอันเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดอื่นๆ นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของไมเกรนได้เป็นอย่างดี วิธีการรักษาทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ การวัดการตอบสนองทางชีวภาพ (Biofeedback) ขณะที่การฝึกการผ่อนคลายก็ช่วยผู้ป่วยบางรายลดความถี่และความรุนแรงของอาการได้เช่นกัน
ยังคงมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่ต้องทรมานกับอาการปวดจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติโดยไม่ทราบเลยแม้แต่น้อยว่าความทรมานนั้นคือไมเกรน อย่างไรก็ตาม การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินอาการและวินิจฉัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่คุณไม่ควรละเลย
การรักษาความผิดปกติของหัวใจอาจช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ในปัจจุบันมีการรักษาความผิดปกติของหัวใจแบบที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแต่สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ลดปริมาณการใช้ยา และทำให้ผู้ป่วยไมเกรนลดความทุกข์ทรมานจากอาการปวดศีรษะได้อย่างไม่น่าเชื่อ
จากการศึกษาพบว่าความผิดปกติของหัวใจสภาวะหนึ่งที่เรียกว่า Patent Foramen Ovale หรือ PFO ซึ่งก็คือ การที่ผนังของหัวใจระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องบนขวาเกิดมีรูรั่วขนาดเล็กๆ ซึ่งเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ถ้าหากเราสามารถอุดรูรั่วดังกล่าวนั้นได้จะส่งผลให้อาการปวดศีรษะไมเกรนลดลงอย่างมาก
"การรักษาหรือปิดรูรั่วของผนังหัวใจห้องบนซ้ายและห้องบนขวาดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้จะได้ผลดีกับผู้ป่วยไมเกรน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ามีวิธีการรักษาในลักษณะนี้ด้วย" พญ.สุรีย์รัตน์ ปันยารชุน อายุรแพทย์หัวใจ ผู้ทำการรักษา PFO อยู่เป็นประจำกล่าว
จากสถิติพบว่าประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรจะมีความผิดปกติของหัวใจที่เรียกว่า PFO มาแต่กำเนิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการหรืออันตรายแต่อย่างใด และยังมีประชากรบางส่วนไม่ทราบว่าตนมีความผิดปกตินี้อยู่ ซึ่งความผิดปกติของหัวใจในลักษณะนี้สามารถตรวจพบจากผู้ป่วยที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลด้วยอาการสมองขาดเลือด
การรักษา PFO นี้มีมากกว่า 10 ปีมาแล้ว เริ่มต้นจากการปิดเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของภาวะสมองขาดเลือดจากลิ่มเลือด เล็กๆ อุดตัน และต่อมาจึงนำมารักษาผู้ป่วยไมเกรน เมื่อการรักษาเริ่มแพร่หลายมากยิ่่งขึ้นก็พบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนกลับมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากเข้ารับการรักษา
ความสัมพันธ์ระหว่าง PFO และไมเกรน
ถึงแม้วาจะมีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุของไมเกรน แต่แพทย์ก็เชื่อว่าการที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหลังการรักษา PFO นั้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของโลหิตหลังการรักษา เมื่อโลหิตถูกส่งไปยังปอดนั้น ปอดนอกจากจะทำหน้าที่ให้ออกซิเจนแก่โลหิตแล้วยังทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองในการกำจัดสารเคมีต่างๆ ที่ไม่ต้องการหลายชนิดออกไปจากกระแสโลหิต ในผู้ป่วย PFO แทนที่โลหิตส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปยังปอด กลับไหลย้อนผ่านรูรั่วเข้าไปในกระแสโลหิตโดยไม่ผ่านการกรองจากปอด ซึ่งเมื่อโลหิตส่วนนี้ไปถึงสมอง อาจไปกระตุ้นให้เกิดการอุดตันในสมองจุดเล็กๆ หรือที่เรียกว่า Mini-Stroke หรือเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่เรียกว่าไมเกรนได้ ดังนั้น การอุดรูรั่วดังกล่าวได้ก็จะทำให้โลหิตถูกส่งไปกรองที่ปอดทั้งหมดและไม่เกิดปัญหาเมื่อเดินทางไปถึงสมอง
การรักษา PFO
พญ.สุรีย์รัตน์ อธิบายว่า การรักษา PFO จะได้ผลดีที่สุดในผู้ป่วยไมเกรนแบบที่มีอาการเตือนแบบมีแสงกะพริบหรือแสงจ้าในตา (Auras) การรักษาจะใช้เวลาเพียงประมาณ1 ชั่วโมง โดยเริ่มต้นให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกวิตกกังวลโดยให้ผู้ป่วยหลับ (Sedate) จากนั้นแพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กที่เรียกว่าสายสวนหรือ Catheter สอดเข้าไปทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบและสอดไปจนถึงห้องหัวใจด้านขวา และผ่านไปยังด้านซ้ายของหัวใจ การสอดสายสวนนี้แพทย์จะอาศัยเครื่อง X-Ray และอัลตราซาวนด์เป็นเครื่องช่วยในการสอดสายสวนไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ จากนั้นแพทย์จะใส่สายสวนสายที่ 2 ตามเข้าไป ซึ่งสายสวนสายที่ 2 นี้ตรงปลายจะมีอุปกรณ์คล้ายร่มที่หุบอยู่ติดอยู่ด้วย เมื่อแพทย์นำสายสวนไปยังจุดที่เกิดรูรั่วได้แล้วก็จะกางร่มที่ปลายสายสวนเพื่ออุดรูรั่ว PFO ให้ปิดสนิท โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืนและสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติภายใน 1-2 วัน การรักษา PFO หรือแม้แต่การรักษาโดยวิธีผ่าตัดทั่วไปต่างก็มีความเสี่ยง ซึ่งแพทย์ที่ทำการรักษาจะสามารถอธิบายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยแต่ละรายได้ดีที่สุด พร้อมทั้งเสนอวิธีการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยแต่ละราย พญ.สุรีย์รัตน์ กล่าวเสริมว่า "ผลที่ได้จากการรักษา PFO นี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก และการรักษาโดยวิธีนี้จะเป็นอีกความหวังหนึ่งของผู้ป่วยไมเกรนได้ในอนาคต"
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 22 กันยายน 2566