bih.button.backtotop.text

มะเร็ง: ตรวจพบก่อน รักษาก่อน

รู้ทันความเสี่ยง ลดปัจจัยเสี่ยง และตรวจสุขภาพเป็นประจำ อาจช่วยชีวิตคุณได้


หากถามว่าความเจ็บป่วย หรือโรคใดเป็นโรคที่คนกลัวกันมากที่สุด คำตอบคงหนีไม่พ้นโรคมะเร็งนั่นเอง สาเหตุประการหนึ่งอาจเนื่องมาจากการที่โรคมะเร็งเกิดจากปัจจัยก่อโรคมากมาย หลายประการ จนอาจจะกล่าวได้ว่าเราทุกคนมีความเสี่ยงบางประการต่อโรคมะเร็งก็คงไม่ผิดนัก

ข้อมูลจากสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยติดต่อกันมาเป็น เวลาถึง 6 ปี และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รายงานการเสียชีวิตในปี 2550 ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 53,434 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 6 รายโดยเฉลี่ย ในจำนวนนี้โรคมะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดในผู้ชาย รองลงมาได้แก่ โรคมะเร็งปอด สำหรับผู้หญิง โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันหนึ่ง และมะเร็งเต้านมอยู่ในลำดับรอง

มะเร็ง...ใคร ๆ ก็เป็นได้

เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับโรคมะเร็งนั้น การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และทำการรักษาตั้งแต่ต้นจะเป็นเรื่องง่ายกว่า และได้ผลดีกว่า “การรักษามะเร็งที่ได้ผลดีที่สุดนั้น ควรทำการรักษาตั้งแต่ระยะต้น ๆ โดยเฉพาะเมื่อมะเร็งยังจำกัดวงอยู่ในบริเวณที่ก่อตัวขึ้น” พญ. สุธิดา สุวรรณเวโช ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง จากศูนย์มะเร็งฮอร์ไรซันกล่าว “แต่ปัญหาก็คือส่วนมากในระยะแรก มะเร็งหลายชนิดจะไม่ปรากฏอาการใด ๆ ให้ทราบ ส่วนมาก เมื่อผู้ป่วยมาหาหมอและพบว่าเป็นมะเร็ง ก็มักจะอยู่ในระยะที่โรคได้มีการพัฒนาไปมากแล้ว”

จากสถิติที่กล่าวไว้ข้างต้น มีรายงานว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 มาพบแพทย์เกี่ยวกับอาการผิดปกติต่าง ๆ และตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในระยะท้าย ๆ แล้ว “ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวว่ามีใครเป็น มะเร็ง คนส่วนมากจะนึกเห็นใจในชะตากรรมของผู้ป่วย แต่หมออยากให้คิดว่า ใคร ๆ ก็เป็นมะเร็งได้ทั้งนั้น รวมทั้งตัวเราด้วย” พญ. สุธิดา กล่าว


ตรวจร่างกาย ได้ประโยชน์

หนึ่งในกระบวนการเสริมสร้างสุขภาพ และป้องกันมะเร็งที่มักจะแนะนำกันอยู่เสมอ ได้แก่การตรวจสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจมะเร็ง

“การป้องกันนั้นง่ายกว่าการรักษา ไม่ต้องแปลกใจว่าเพราะเหตุใดแพทย์จึงต้องแนะนำให้ป้องกันตัวเองด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็ง เริ่มตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหารโดยหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา และรู้จักตัวเอง ตรงนี้หมายถึงรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง ซึ่งจะทราบได้โดยการตรวจสุขภาพนั่นเอง” พญ. สุธิดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การตรวจสุขภาพมักถูกมองข้ามไป เนื่องจากคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าสุขภาพของตนยังคงดีอยู่ จนบางครั้งอาจสายเกินไปสำหรับการรักษาเยียวยา พญ. สุธิดา เสริมอีกว่า “การตรวจสุขภาพที่เน้นในเรื่องของโรคมะเร็งโดยเฉพาะนั้นเราใช้คำว่า การตรวจคัดกรองมะเร็ง หมายความ ถึงการตรวจหามะเร็งก่อนที่มะเร็งจะแสดงอาการผิดปกติใด ๆ ซึ่งจะเรียกว่าการป้องกันก็คงได้ เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่ามีเซลล์มะเร็งชนิดใดกำลังเติบโตอยู่อย่างเงียบ ๆ ในตัวเรา นอกจากจะตรวจหาเท่านั้น”

โรคมะเร็งหลายชนิดไม่มีอาการแสดงในระยะแรก ๆ แต่สามารถตรวจพบได้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานพอสมควร อาทิ มะเร็งปากมดลูกที่จะมี “ระยะก่อนการเป็นมะเร็ง” ซึ่งเป็นระยะที่ไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจพบได้ง่าย ๆ ด้วยการตรวจ Pap Smear “ระยะก่อนการเป็นมะเร็งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งเต็มขั้นต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ บางรายเป็น 5 ปี 10 ปี ถ้าตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะนี้ การรักษาย่อมทำได้ง่ายกว่า ทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตน้อยกว่าไปรักษาตอนที่มะเร็งพัฒนาไปเต็มขั้นแล้ว”

สุขภาพดี คุณเลือกได้

บทบาทของผู้ป่วยในการสร้างเสริมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าคุณภาพ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ การป้องกันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้ป่วยไม่ตระหนักว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ที่คุณเลือกเอง


ตารางการตรวจมะเร็งสำหรับคุณ

รายละเอียดการตรวจ เพศ อายุ ความถี่
สังเกตความเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ไฝ ขี้แมลงวัน ชาย-หญิง 18 ปีขึ้นไป ทุกเดือน
ตรวจหาเลือดในอุจจาระ ชาย-หญิง 50 ปีขึ้นไป ทุกปี
ส่องกล้องตรวจลำไส้ ชาย-หญิง 50 ปีขึ้นไป ทุก 5 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
กลืนแป้ง และเอกซเรย์ลำไส้ส่วนต้น ชาย-หญิง 50 ปีขึ้นไป ทุกปี
วจเต้านมด้วยตนเอง หญิง 20 ปีขึ้นไป ทุกเดือน
ตรวจเต้านมโดยแพทย์ หญิง 20-40 ปี
40 ปีขึ้นไป
ทุก ๆ 1-3 ปี
ทุกปี
ตรวจแมมโมแกรม หญิง 40 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 1-2 ปี ตามความเสี่ยง
ตรวจภายใน และตรวจหาเซลล์มะเร็ง ปากมดลูก (Pap Smear) หญิง ภายใน 3 ปีหลังมีเพศสัมพันธ์ ครั้งแรกแต่ไม่เกินกว่าอายุ 21 ปี ทุกปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
รวจหา DNA ของไวรัส HPV ร่วมกับ Pap Test หญิง 30 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 2-3 ปี
ตรวจอัลตร้าซาวด์ และตรวจเลือด หาสารบ่งชี้มะเร็งตับ ชาย ผู้ที่เป็นพาหะ หรือผู้ที่เคยเป็น ไวรัสตับอักเสบบี และซี ทุกปี
หรือทุก ๆ 6 เดือน สำหรับผู้มีความเสี่ยง
ตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้มือคลำ ชาย 50 ปีขึ้นไป ทุกปี
ตรวจหาค่า PSA ชาย 50 ปีขึ้นไป ทุกปี
























 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs