bih.button.backtotop.text

รู้จักเพื่อให้ห่างไกล มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก

แม้ชื่ออาจฟังไม่คุ้นหูเท่ากับมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่สถิติล่าสุด (ปี 2551) ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ระบุไว้ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้ชายไทย และเป็นอันดับ 3 ของผู้หญิงไทย

แม้ชื่ออาจฟังไม่คุ้นหูเท่ากับมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่สถิติล่าสุด (ปี 2551) ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ระบุไว้ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้ชายไทย และเป็นอันดับ 3 ของผู้หญิงไทย ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ออกรายงานที่ชวนให้ตกใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากมีการบ่งชี้ว่ามะเร็งชนิดนี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับ 3 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณไม่ควรมองข้ามโรคนี้อีกต่อไป ซึ่ง Better Health ฉบับนี้เราได้รวบรวมทุกเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยการพูดคุยกับ นพ.จักรพันธ์ โอแสงธรรมนนท์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารเพื่อให้คุณรู้จักกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น

รู้จักกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก

ลำไส้ เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ประกอบไปด้วยสองส่วนสำคัญ คือ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ โดยลำไส้ใหญ่นั้นจะแบ่งออกเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (Cecum) ลำไส้ใหญ่ (Colon) และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือลำไส้ตรง (Rectum) ซึ่งมีความยาวไม่กี่นิ้ว และถือเป็นส่วนสุดท้ายของทางเดินอาหาร ทำหน้าที่กักเก็บและขับถ่ายกากอาหารที่ผ่านการย่อย เพื่อเตรียมขับถ่ายออกจากร่างกายต่อไป
 
สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือ Colon Cancer นั้น เซลล์มะเร็งจะก่อตัวขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ ขณะที่ในมะเร็งทวารหนักเซลล์มะเร็งจะเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อในส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ใกล้กับทวารหนัก
   

รู้ทันสัญญาณอันตราย

“ในระยะเริ่มต้นมะเร็งลำไส้มักไม่ปรากฏอาการความผิดปกติใดๆ แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการส่องกล้อง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเริ่มเข้ารับการตรวจ” นพ.จักรพันธ์ แนะนำ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพัฒนาของโรคมากขึ้น ผู้ป่วยอาจแสดงอาการผิดปกติได้ ดังนี้
  • มีพฤติกรรมการขับถ่ายผิดไปจากเดิม เช่น จากที่เคยถ่ายเป็นประจำทุกวัน ก็เริ่มมีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือรู้สึกถ่ายไม่หมดไม่สุด
  • มีเลือดแดงหรือดำปนออกมาขณะขับถ่าย
  • ขนาดอุจจาระเล็กลง ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คลื่นไส้และอาเจียน เนื่องจากลำไส้อุดตันเพราะเซลล์มะเร็ง
  • รู้สึกหมดแรง อ่อนเพลียบ่อย เนื่องจากก้อนมะเร็งทำให้เกิดการเสียเลือด
  • ในบางรายอาจคลำเจอก้อนในช่องท้อง
 
อาการเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง

แม้ว่าสาเหตุของโรคจะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อโรคมะเร็งลำไส้นั้น ได้แก่
  • อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัว เคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนานเกิน 7 ปี
  • เคยถูกตรวจพบว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มาก่อน
  • เคยมีประวัติหรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น พันธุกรรมมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดไม่มีติ่งเนื้อ (Hereditary Nonpolyposis Colon Cancer) และพันธุกรรมมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดมีติ่งเนื้อ (Familial Adenomatous Polyposis)
  • สตรีที่มีประวัติเป็นมะเร็งที่รังไข่ มดลูก และเต้านมมาก่อน
  • มีภาวะอ้วน
  • เป็นผู้ที่รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ และไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร แคลเซียม และโฟเลต
  • ผู้สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และขาดการออกกำลังกาย

การตรวจวินิจฉัย

“เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น ฉะนั้นเพื่อความไม่ประมาท ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหามะเร็งแม้ว่าจะยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ” นพ.จักรพันธ์ แนะนำ
 
สำหรับวิธีการตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักนั้นมีหลากหลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีมีต่างก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป แต่เนื่องจากไม่มีวิธีใดเพียงวิธีเดียวที่จะตรวจได้โดยสมบูรณ์ แพทย์จึงมักแนะนำให้คนไข้เข้ารับการตรวจมากกว่าหนึ่งวิธีซึ่งได้แก่
 
  • การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test) เลือดในอุจจาระที่พบอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงต้องตรวจด้วยกระบวนการทางเคมี หากพบว่ามีเลือดปนออกมา ก็จำเป็นต้องตรวจเพิ่มว่าสาเหตุเกิดจากมะเร็งหรือไม่
  • การส่องกล้องบริเวณลำไส้ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) เป็นการสอดกล้องเข้าไปทางทวารหนัก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดและอยากถ่าย ผู้ได้รับการตรวจจึงมักได้รับการแนะนำให้ถ่ายหรือกินยาถ่ายก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อให้ลำไส้สะอาด
  • การส่องกล้องตรวจบริเวณลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) เป็นการสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางทวารหนักเช่นกัน ซึ่งกล้องจิ๋วนี้จะถูกปรับให้โค้งงอได้เพื่อให้สามารถตรวจดูภายในบริเวณลำไส้ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ข้อมูลจากกล้องจะถูกส่งผ่านมายังจอภาพเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและเนื่องจากก่อนการตรวจ ผู้ป่วยจะได้รับยานอนหลับ ดังนั้น หากพบความผิดปกติ เช่น มีติ่งเนื้อที่น่าสงสัย แพทย์จึงสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำมาตรวจในขั้นตอนนี้ได้เลย
  • การสวนแป้งเพื่อเอกซเรย์ภาพ (Double-contrast Barium Enema)เป็นการนำสารทึบแสงเข้าไปเคลือบตามลำไส้ผ่านทางทวารหนักเพื่อตรวจดูความผิดปกติ ซึ่งความไวในการตรวจจับความผิดปกติของวิธีนี้มีมากถึงร้อยละ 70 ถ้าพบความผิดปกติ ต้องส่องกล้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ
  • การตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ (Digital Rectal Exam) แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลำดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แต่จะจำกัดการตรวจได้แค่บริเวณทวารหนักและลำไส้ตรงซึ่งเป็นส่วนปลายของลำไส้ใหญ่เท่านั้น โดยปกติแล้วแพทย์จะตรวจด้วยวิธีนี้ก่อนทำการส่องกล้อง
  • การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Virtual Colonography) เป็นการใช้โปรแกรมจากเครื่อง CT Scan เพื่อสร้างภาพ 3 มิติ วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องให้ยานอนหลับแก่ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ สามารถใช้ตรวจดูลำไส้ได้ทั้งหมด และมีความไวสูงถึงประมาณร้อยละ 90 แต่อาจทำให้เกิดผลตรวจปลอมได้ เช่น ประเมินผลว่าก้อนอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้เป็นก้อนเนื้อ และหากพบติ่งเนื้อที่น่าสงสัย ก็จำเป็นต้องอาศัยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพิ่มเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจอีกครั้งหนึ่ง
 
ทั้งนี้ นพ.จักรพันธ์ แนะนำว่า บุคคลทั่วไปที่ได้รับการส่องกล้องเพื่อตรวจหามะเร็งแล้วไม่พบความผิดปกติ สามารถรอได้ 3-5 ปี แล้วจึงค่อยมาตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง และได้รับการรักษาจนหาย ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำทุกปีเพราะว่าโรคมะเร็งสามารถเกิดขึ้นซ้ำในที่ใดที่หนึ่งของลำไส้ได้

ระยะของโรค

ในกรณีที่มีการตรวจพบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะแบ่งระยะของโรคออกเป็นดังนี้
ระยะ 0 เซลล์มะเร็งจำกัดเฉพาะในบริเวณผิวของลำไส้ มีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
ระยะ 1 มะเร็งยังคงจำกัดอยู่ที่ผนังลำไส้ด้านใน แต่ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้
ระยะ 2 มะเร็งเริ่มแพร่กระจายออกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ แต่ไม่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองซึ่งยังรักษาให้หายได้
ระยะ 3 เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแต่ไม่ลามไปยังส่วนอื่น หลังการผ่าตัด ควรได้รับเคมีบำบัดร่วมด้วย
ระยะ 4 เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ และกระดูก ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่จะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การรักษา

วิธีที่แพทย์เลือกใช้ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น ส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับระยะของโรค แต่โดยทั่วไป การผ่าตัดและการทำเคมีบำบัดถือเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่แพทย์มักพิจารณาใช้ และในบางกรณีอาจมีการฉายรังสีร่วมด้วย
 
เนื่องจากการมองหาสัญญาณของการเป็นมะเร็งชนิดนี้ทำได้ค่อนข้างยากในระยะเริ่มต้นของโรค การป้องกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง “หมั่นดูแลตัวเองด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ลดอาหารที่ปรุงจากไขมันสัตว์ หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และสูบบุหรี่ คือหลักการป้องกันเบื้องต้นเพราะการมีสุขภาพร่างกายที่ดีย่อมเป็นเสมือนเกราะป้องกันให้คุณห่างไกลจากโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วย” นพ.จักรพันธ์ กล่าวปิดท้าย

หลากเรื่องควรรู้ 

  • ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่อาจพัฒนาต่อไปเป็นมะเร็งโดยที่ไม่ปรากฏอาการใด ๆ เลย การตรวจคัดกรองจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
  • แม้ผู้มีประวัติครอบครัวจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัว แต่ผู้ป่วยรายใหม่ถึงร้อยละ 75 ล้วนไม่เคยมีประวัติครอบครัวมาก่อนทั้งสิ้น (Myths & Facts about colorectal cancer by Richard Pazdur and Melanie E Royce, 2004)
  • ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่า โดยร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 50 ปี (ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์)
  • สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแล้ว ขนาดของก้อนมะเร็งไม่สำคัญเท่ากับความลึกที่ก้อนนั้นฝังลงในผนังลำไส้ ก้อนมะเร็งขนาดเล็กฝังลึก ร้ายแรงกว่าก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ที่อยู่ตื้นกว่า (Myths & Facts about colorectal cancer by Richard Pazdur and Melanie E Royce, 2004)
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs