bih.button.backtotop.text

ภาวะไขมันพอกตับ ใครบ้างที่ต้องระวัง

พญ.วิภากร เพิ่มพูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ กล่าวกับ Better Health ว่า “ภาวะไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ NAFLD เป็นชื่อเรียกรวมของความผิดปกติที่เกิดกับตับซึ่งเริ่มจากไขมันพอกตับ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับ

พญ.วิภากร เพิ่มพูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ กล่าวกับ Better Health ว่า “ภาวะไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ NAFLD เป็นชื่อเรียกรวมของความผิดปกติที่เกิดกับตับซึ่งเริ่มจากไขมันพอกตับ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับ

จะเห็นได้ว่าความผิดปกติและพัฒนาการของโรคเกิดขึ้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคตับกลุ่มที่ดื่มสุราเป็นประจำ สิ่งที่น่ากลัวสำหรับภาวะไขมันพอกตับในผู้ไม่ดื่มสุราก็คือผู้ป่วยมักจะไม่ทราบมาก่อนว่าเกิดความผิดปกติกับตับของตนเข้าแล้ว เลยไม่ได้ใส่ใจหรือสนใจจะรักษาจนกระทั่งตรวจพบโดยบังเอิญ”

ปัจจุบัน ประเทศไทย พบภาวะไขมันพอกตับได้มากขึ้นตามแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของเมตาโบลิกซินโดรม ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในโลหิตสูงซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวัยกลางคนอายุประมาณ 45 ถึง 50 ปีขึ้นไป ที่อัตราการเผาผลาญอาหารเริ่มลดลง

ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งระยะการดำเนินโรคได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก เป็นระยะมีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลใด ๆ กล่าวคือ ไม่มีการอักเสบ หรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
  • ระยะที่สอง เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ ในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดี และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อย ๆ เกินกว่า 6 เดือนกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
  • ระยะที่สาม การอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับค่อย ๆ ถูกทำลายลง
  • ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่อาจทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับ

พญ.วิภากรอธิบายเพิ่มว่า “เนื่องจากโรคตับนั้นเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคค่อนข้างช้า กล่าวคือ เมื่อเกิดภาวะไขมันพอกตับแล้ว ไม่ใช่ว่าใช้เวลาแค่ 1 หรือ 2 ปีจะเกิดปัญหา ต้องใช้เวลานานกว่าโรคจะดำเนินไปอีกขั้น เช่น หากมีปัญหาตับอักเสบติดต่อกันนานเกินกว่า 6 เดือน จัดว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง และกว่าที่จะพัฒนาต่อไปเป็นโรคตับแข็งขั้นที่ 1 ก็อาจใช้เวลาเป็น 10 ปี แล้วจึงค่อยพัฒนาต่อไปเป็นขั้นที่ 2 และ 3 ซึ่งก็จะมีอาการบ่งชี้เพิ่มเติม คือ อาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีน้ำในท้องมากขึ้น จนถึงระยะสุดท้ายคือความรู้สึกตัวลดลง อันนี้แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของตับแย่ลง”

สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเมตาโบลิกซินโดรม ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ได้แก่ การรับประทานยาบางชนิด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีไขมันมาพอกตับมากขึ้น อาทิ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มที่เป็นฮอร์โมนทดแทน เป็นต้น

การวินิจฉัย

โดยทั่วไปเมื่อเกิดภาวะไขมันพอกตับขึ้นมา ส่วนมากแล้วจะไม่มีอาการทางร่างกายแต่อย่างใด หรืออาจมีอาการแต่เป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ “ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการ บางรายมีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ แทบไม่เป็นที่สังเกต เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เล็กน้อย ตึง ๆ บริเวณใต้ชายโครงขวา ตอนนี้ถ้าตรวจเลือดดูจะพบว่าเอนไซม์ตับผิดปกติ ซึ่งแสดงถึงภาวะตับอักเสบ และเนื่องจากภาวะไขมันพอกตับนี้แทบจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนมากมักจะพบความผิดปกติเมื่อมารับการตรวจสุขภาพประจำปี” พญ.วิภากร กล่าว

นอกจากการตรวจเลือดซึ่งจะทำให้แพทย์ทราบถึงระดับน้ำตาล ไขมัน และค่าเอนไซม์ของตับแล้ว การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับยังสามารถทำได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งการเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ ซึ่งจะช่วยประเมินความรุนแรงของโรคได้

การรักษา

แม้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตับจะมีการดำเนินโรคค่อนข้างช้า แต่การตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกเริ่มก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการให้การรักษาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย เป้าหมายของการรักษาอยู่ที่การลดไขมันสะสมและลดการอักเสบของตับในรายที่มีการอักเสบร่วมด้วย เพื่อหยุดยั้งการดำเนินโรคต่อไป

“แม้ว่าแพทย์จะพบการอักเสบของตับจากการตรวจเลือด และพบภาวะไขมันพอกตับจากการทำอัลตร้าซาวด์ แพทย์จะยังไม่สรุปว่าการอักเสบของตับเป็นผลโดยตรงจากภาวะไขมันพอกตับจนกว่าจะตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้อีก อาทิ ไวรัสตับอักเสบ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือโรคที่มีเหล็กและทองแดงสะสมในร่างกายมากเกินไป หรือการที่ผู้ป่วยรับประทานยาที่มีผลต่อตับ เช่น พวกอาหารเสริม ยาสมุนไพรบางชนิด ซึ่งเมื่อหยุดยาเหล่านี้แล้วการอักเสบของตับอาจหายไปเองก็เป็นได้ แม้ผู้ป่วยจะยังมีไขมันพอกตับอยู่” พญ.วิภากร กล่าว

“ผู้ป่วยที่มีไขมันในตับแต่ไม่ได้มีตับอักเสบก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยา เพียงลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ลดอาหารหวาน อาหารมัน อย่ารับประทานแป้งมาก ไขมันในตับก็จะลดลงไปได้” พญ.วิภากร อธิบาย “ส่วนมากผู้ป่วยที่มาพบหมอ และได้รับคำแนะนำให้กลับไปลดน้ำหนักนั้นจะทำไม่ค่อยได้

หมอจึงต้องให้ยาช่วยซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น ยากลุ่มที่ช่วยเรื่องเบาหวานและลดไขมันในตับร่วมกันซึ่งไม่เหมือนกับยาเบาหวานทั่วไป หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงก็ต้องได้รับยาที่ช่วยเรื่องความดันโลหิตสูงที่ช่วยลดไขมันในตับด้วย เช่นเดียวกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือด แต่จะให้ดีที่สุดก็คือ ลดอาหารหวาน ลดอาหารมัน และออกกำลังกายค่ะ”

ลดความเสี่ยง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เนื่องจากสาเหตุหนึ่งของภาวะไขมันพอกตับเกี่ยวข้องกับเมตาโบลิกซินโดรม อาทิ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นความผิดปกติที่สามารถ ควบคุมให้ดีขึ้นได้ ส่งผลให้ภาวะไขมันพอกตับดีขึ้นตามมา

พญ.วิภากรแนะนำแนวทางการป้องกันตัวเอง และลดความเสี่ยงไว้ ดังนี้
  • พยายามลดลดน้ำหนักให้ได้ แต่ต้องอยู่ในระดับปลอดภัย เช่น สัปดาห์ละไม่เกิน 0.5 กิโลกรัม
  • ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเป็นประจำ
  • ผู้ป่วยเบาหวาน และไขมันในเลือดสูงต้องควบคุมโรคให้ดี ทั้งนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของยา การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย
  • ลด และเลิกการดื่มสุรา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้ตับมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยา หรืออาหารเสริมที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารเสริมประเภทน้ำมันต่าง ๆ เช่น น้ำมันปลา น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส และสมุนไพรต่าง ๆ
  • ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ เช่น ตรวจดูว่าตนมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบหรือไม่ หากไม่มีควรฉีดวัคซีน มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องทำฟันและทำเล็บ
  • อย่าละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี ผู้ป่วยไขมันพอกตับส่วนมากจะทราบเมื่อมารับการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งผลการตรวจแสดงค่าเอนไซม์ของตับ (AST และ ALT) ผิดปกติ (มากกว่า 40)

การดูแลสุขภาพตับ ไม่ได้ต้องการมากไปกว่าการดูแลสุขภาพร่างกายตามปกติดังที่กล่าวข้างต้น มาถึงตรงนี้ไม่ใช่แค่ผู้ดื่มสุราและผู้มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเท่านั้นที่ต้องระวังเรื่องภาวะไขมันพอกตับ แม้ผู้ที่มีน้ำหนักปกติแต่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่รับประทานยาและอาหารเสริมอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อยู่ในกลุ่มที่ต้องระวังให้มากไม่แพ้กัน
 
สัญญาณต่อไปนี้ อาจบ่งชี้ว่าตับของคุณเริ่มมีปัญหา
  • คุณมีน้ำหนักมาก และมีไขมันสะสมที่หน้าท้อง
  • คุณลดน้ำหนักอย่างไรก็ไม่ลง
  • คุณมีระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • คุณเป็นเบาหวาน
  • คุณรู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลีย
  • คุณรู้สึกเจ็บตึง ๆ ที่ชายโครงขวา
  • คุณมีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ลงและคลื่นไส้เป็นบางครั้ง

คุณทราบหรือไม่
 
  • ภาวะไขมันพอกตับพบได้บ่อย โดยในสหรัฐอเมริกาพบประมาณร้อยละ 15 ถึง 20 ของจำนวนประชากร (U.S. Liver Foundation)
  • ในประเทศไทย อัตราของจำนวนผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งของภาวะไขมันพอกตับที่พบในประชากรที่มีอายุตั้งเเต่ 35 ปีขึ้นไปทั้งเก่าเเละใหม่ อยู่ที่ร้อยละ 9.6 (2547: สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน)
  • ผู้ป่วยไขมันพอกตับกว่าร้อยละ 50 ไม่แสดงอาการโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นไขมันพอกตับระยะแรก (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)
  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ คนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้มีไขมันในเลือดสูง มีภาวะไขมันพอกตับถึงร้อยละ 90 ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 มีอาการตับอักเสบร่วมด้วย และร้อยละ 10 กลายเป็นโรคตับแข็ง (MedicineNet)
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับสามารถฟื้นฟูสภาพตับให้กลับมาดีขึ้นได้ด้วยการลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 9 (American Gastroenterological Association)
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs