ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้การรับมือกับอาการปวดหลัง ปวดคอเป็นไปอย่างตรงจุด และได้ผลดียิ่งขึ้น
อาการปวดหลัง หรือปวดคออาจเกิดขึ้นได้กับเราทุกคนในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต หลายรายโชคดีที่อาการปวดนั้นเป็นอยู่ไม่นานก็หายไป ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยมีอาการเรื้อรังจนไม่สามารถทำกิจกรรมระหว่างวันได้ตามปกติ Better Health ฉบับนี้พูดคุยกับ นพ. วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ศัลยแพทย์ระบบประสาท และหัวหน้าสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ถึงอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรัง และความก้าวหน้าในการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ได้มากที่สุด
ปวด...ปวดอย่างไร
อาการปวดหลัง ปวดคอเป็นอาการที่พบได้บ่อย” นพ. วีระพันธ์เล่า “แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ร้ายแรง และเกิดจากท่าทางในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้องนัก รวมทั้งกิจกรรมทางร่างกายที่ค่อนข้างเกินกำลัง ซึ่งหลายครั้งนำไป สู่การหดเกร็งของกล้ามเนื้อจนกลายเป็นอาการปวดในที่สุด
โดยทั่วไป อาการปวดหลัง ปวดคอมักจะหายไปได้เอง เมื่อมีอาการแล้วผู้ป่วยรู้จักดูแลตัวเองด้วยการพักร่างกาย รับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ อาการก็หมดไป ส่วนกรณีที่ปวดแล้วจะต้องมาพบแพทย์คือ อาการที่เป็นเรื้อรัง กล่าวคือ รับประทานยา ทำกายภาพบำบัดมานานกว่า 3 เดือนแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดแล้วลามไปยังบริเวณอื่น เช่น ปวดคอร้าวไปยังแขน หรือปวดหลังร้าวลงขา กรณีแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์เพราะเป็นสัญญาณว่าเส้นประสาทกำลังถูกรบกวน”
เหตุแห่งความปวด
สาเหตุของอาการปวดหลัง ปวดคอ มาจากทั้งปัจจัยภายในร่างกายของผู้ป่วยเอง และปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายในได้แก่ ความผิดปกติทางพยาธิสภาพของกระดูกสันหลัง อาทิ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคดงอผิดปกติ หรือมีเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ กิจกรรมทางร่างกายของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก ยังอาจเกิดจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ การนั่งหลังไม่พิงพนัก หลังงอ ก้มคอทำงานเป็นเวลานาน กิจกรรมเหล่านี้สร้างความเครียดให้กับกระดูกหลังและคอ เมื่อเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ปีแล้ว ปีเล่า ก็ทำให้กระดูกเสื่อมลง จนมีอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังในที่สุด
ส่วนอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูกนั้นมีอยู่บ้าง อย่างเช่น รถเบรคกระทันหัน เล่นกีฬาบิดแรงจนหมอนรองกระดูกฉีกทันทีก็มีอยู่บ้างแต่เกิดขึ้นน้อย บางรายมาพบแพทย์เพราะเข้าใจว่าอาการปวดเป็นเพราะอุบัติเหตุแต่เมื่อตรวจดูพบว่าความเสื่อมของกระดูกนั้นมีอยู่แล้ว แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดอาการปวดตามมา
สำคัญที่การวินิจฉัย
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง หรือปวดมานานกว่า 3 เดือน และรักษาโดยการรับประทานยาแล้ว ทำกายภาพบำบัดแล้วก็ยังไม่หาย กรณีแบบนี้ แพทย์จะตั้งสมมติฐานไว้ว่าน่าจะเกิดความผิดปกติต่อกระดูกสันหลังขึ้นแล้ว
นพ. วีระพันธ์เล่าถึงกระบวนการวินิจฉัยให้ฟังว่า “เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ จะต้องเริ่มด้วยการซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้มาก เพราะบางกรณีผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรังมา 3 ปี 5 ปี การมาพบแพทย์แล้วใช้เวลาคุยกันแค่ 5 นาที จะไม่ได้ข้อมูลอะไรเลย
หลายครั้งอาการเรื้อรังของผู้ป่วยจึงเกิดจากการไม่ได้รับการวินิจฉัยที่เหมาะสม ทำให้ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน เพียงแค่จับดู คลำดู อาการไม่ร้าวไปบริเวณอื่นก็จ่ายยาให้นำกลับไปรับประทานที่บ้าน ยาหมดแล้วไม่หายก็เปลี่ยนหมอไปเรื่อย ๆ ดังนั้น หลักในการวินิจฉัยคือต้องซักประวัติอย่างละเอียด หากจำเป็นก็ต้องทำเอกซเรย์ หรือเอ็มอาร์ไอเพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของปัญหาซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุดต่อไป”
ปวดเรื้อรัง รักษาได้
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อพักผ่อนแล้ว และรับประทานยาแล้ว และทำกายภาพบำบัดแล้วก็ยังไม่หาย จะมีทางเลือกในการรักษาอย่างไรอีก นพ. วีระพันธ์บอกว่ามีทางเลือกในการรักษาอีกหลายวิธี แต่ 3 วิธีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นวิธีการรักษาอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังที่ได้ผลดีและยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหลังเรื้อรัง ร่วมกับอาการปวดขา ชา และอ่อนแรงซึ่งเป็นสัญญาณของการที่เส้นประสาทถูกรบกวน
โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบมีสาเหตุมาจากการหนาตัวขึ้นของกระดูกหรือเส้นเอ็นบริเวณโพรงกระดูกสันหลังจนไปกดเบียดเส้นประสาทเป็นที่มาของอาการปวดหลังเรื้อรัง ร่วมกับอาการขาชาและอ่อนแรง
1.การฉีดยาเฉพาะจุดเพื่อลดการอักเสบ (Local Steroid Injection)
วิธีนี้เป็นการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาทำในผู้ป่วยโรคปวดหลังที่รับประทานยา และทำกายภาพบำบัดแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น แต่เมื่อตรวจโดยการเอกซเรย์ และเอ็มอาร์ไอแล้วพบว่า สภาพของกระดูกสันหลังยังไม่เสื่อมจนถึงขั้นจะต้องผ่าตัด
“ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอยู่ค่อนข้างมาก เรียกว่ามากกว่าผู้ที่ต้องผ่าตัดด้วยซ้ำ” นพ. วีระพันธ์กล่าว “การรักษาโดยวิธีฉีดยาเฉพาะจุดจะเป็นทั้งการรักษาและการพิสูจน์ว่า จุดที่ฉีดยาไปนั้นเป็นจุดที่เป็นปัญหาจริง ๆ บางครั้งผลของเอ็มอาร์ไอแสดงให้เห็นถึงภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลังหลายจุดไปหมด แต่แพทย์จะฉีดตรงไหนนั้น ต้องเอาผลหลาย ๆ อย่างมาประมวลเข้าด้วยกัน อาทิ อาการของผู้ป่วย ผลการตรวจร่างกาย ประวัติในการรักษา และความเห็นของทีมแพทย์ผ่าตัด เพื่อที่จะให้การรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องตรงจุด”
ภายหลังจากการฉีดยาระงับการอักเสบแล้ว ฤทธิ์ยาจะอยู่ไปได้ 3 เดือน ผู้ป่วยหลายคนหายจากการปวดหลังอย่างถาวร แต่ก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้ทุกเมื่อ หากผู้ป่วยไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองด้วย กล่าวคือ ไม่มีการปรับเปลี่ยนท่าทาง และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังด้วยการออกกำลังกายอย่างถูกต้องเหมาะสม
“ในรายที่เป็นมาก การฉีดยาระงับการอักเสบเฉพาะที่อาจช่วยให้หายปวดได้ระยะหนึ่ง แต่พอหมดฤทธิ์ยาก็กลับมาเป็นอีก ในที่สุดแล้วผู้ป่วยก็ต้องผ่าตัดซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่กรณีนี้แพทย์ก็จะทราบแล้วว่า บริเวณใดที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข การผ่าตัดให้การรักษาก็จะให้ผลที่มั่นใจได้มากขึ้น อีกทั้งแผลก็จะเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
2. การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง (Endoscopic Spine Surgery)
การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีปัญหาออกโดยใช้กล้องขนาดเล็ก เพื่อลดอาการปวดหลังเรื้อรังอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท หรือโพรงกระดูกสันหลังตีบทับเส้นประสาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังที่ผ่านการใช้งานอย่างผิด ๆ มายาวนาน
“เทคนิค และเครื่องมือในการผ่าตัดโดยใช้กล้องนี้คิดค้นโดยแพทย์ชาวเยอรมัน” นพ. วีระพันธ์กล่าว “วิธีการนี้เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กซึ่งทักษะของแพทย์มีความสำคัญมากไม่แพ้เครื่องมือ ที่ผ่านมา แพทย์ของเราร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับแพทย์ของเยอรมันในการเรียนรู้ พัฒนาเทคนิค วิธีการ และปรับปรุงเครื่องมือให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน เราสามารถใช้กล้องผ่าตัดรักษาโรคเกี่ยวกับหมอนกระดูกสันหลังและโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบได้มากกว่าร้อยละ 95 และกลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้และเทคนิคการผ่าตัดดังกล่าวในเอเชีย”
สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้กล้อง นพ. วีระพันธ์อธิบายว่า “แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดรักษาผ่านกล้องสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของกระดูกสันหลังจนส่งผลให้มีอาการปวดรุนแรง รวมทั้งมีอาการอื่นอาทิ ปวดขา และขาอ่อนแรงร่วมด้วย โดยที่ผู้ป่วยผ่านการรักษาอื่น ๆ มาแล้วอาการไม่ทุเลาลง”
3. การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม (Artificial Disc Replacement)
การผ่าตัดเปลี่ยนใส่หมอนรองกระดูกสันหลังเทียม เป็นการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเดิมที่เสื่อมหรือบาดเจ็บโดยใช้หมอนรองกระดูกเทียม โดยที่ผู้ป่วยยังสามารถเคลื่อนไหวคอ ก้ม เงย หันซ้าย หันขวาได้ตามปกติ
นพ. วีระพันธ์อธิบายว่า “การเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม ก็เป็นการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งมักจะเป็นทางเลือกสุดท้ายเสมอ เรามักจะทำกันที่คอเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกข้อถัดไปเสื่อมเร็วขึ้น เพราะแต่เดิม เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ก็จะมีการผ่าออกและเชื่อมข้อไว้ด้วยกัน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ข้อกระดูกชิ้นถัดไปต้องทำงานหนักกว่าเดิม และเสื่อมเร็วขึ้น”
แม้เทคนิคในการรับมือกับความผิดปกติของกระดูกสันหลังจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม จนเป็นที่มาของอาการ
ปวดหลังปวดคอเรื้อรังก็ยังเป็นเรื่องเดิม ๆ นั่นคือ ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนพ. วีระพันธ์ได้ย้ำในตอนท้ายว่า “ภายหลังจากการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องออกกำลังเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังพร้อมกับปรับเปลี่ยนอิริยาบทให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อาการปวดกลับมาอีก”
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565