Q: มีสัญญาณเตือนอะไรบ้างไหมครับที่บ่งชี้ว่าเราอาจเป็นโรคมะเร็ง
A: การรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดนั้น เป็นไปได้เมื่อได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น ๆ ดังนั้น นอกจากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่าง ๆ แล้ว การทราบถึงสัญญาณเตือนของโรคก็เป็นเรื่องสำคัญ ลองสังเกตอาการที่อาจบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งดังต่อไปนี้
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยที่คุณไม่ได้ตั้งใจลด
- มีอาการปวดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาทิ อาการปวดแน่นท้อง ปวดลึก ๆ ในอก หรือปวดกระดูก
- ไอเรื้อรัง เจ็บคอ เสียงเปลี่ยน
- ไฝ ปาน หรือบริเวณใด ๆ ของผิวหนังที่มีสี หรือมีลักษณะเปลี่ยนไป
- แผลเรื้อรังที่ไม่ยอมหาย
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- เห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะ ทรงตัวลำบาก
- กลืนลำบาก รู้สึกอิ่มทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับประทานอาหาร
- มีก้อนผิดปกติบริเวณเต้านม ไหล่ รักแร้
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย อาการผิดปกติต่าง ๆ ข้างต้นอาจเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งของโรคมะเร็ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะเป็นมะเร็งเสมอไป เช่นเดียวกับความจริงที่ว่าโรคมะเร็งหลายชนิดก็ไม่ปรากฏสัญญาณเตือนใด ๆ ในระยะแรกเริ่ม มะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ แม้ไม่มีอาการ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ถ้ามีอาการน่าสงสัย ควรตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติโดยไม่รอช้า
A: ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมดเกิดจากสาเหตุภายนอกที่ป้องกันได้ การป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็งทำได้โดย
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่เอง หรืออยู่ในบริเวณที่มีผู้อื่นสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนัก
- ออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
- เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงแต่งมากเกินไป เน้นอาหารที่มีกากใยมาก อาทิ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ
- งดดื่มสุรา
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการตากแดดนาน ๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกัน
- อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปี
Q: ดิฉันรู้จักผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดแล้วยังแข็งแรงเป็นปกติดี อยากทราบว่าปัจจัยใดที่ทำให้ ผู้ป่วยแต่ละรายได้รับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดแตกต่างกันไป
A: ยาเคมีบำบัดนั้นมีหลักการทำงานโดยจะออกฤทธิ์เฉพาะกับเซลล์บางชนิดที่มีการแบ่งตัว โดยไม่ได้แยกแยะว่าเป็น เซลล์ปกติ หรือเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมักจะได้รับ ผลข้างเคียงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่จะน้อยหรือมากนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ปริมาณของยา และชนิดของยาเป็นสำคัญ
ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดแตกต่างกันไปในหลายรูปแบบ บางรายอาจมีอาการผมร่วง บางรายอาจมีแผลในช่องปาก ขณะที่บางรายอาจรู้สึกคลื่นไส้ เบื่ออาหาร เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อทำการรักษาผู้ป่วยด้วยยาเคมีบำบัด แพทย์จะมีการประเมินสภาวะของผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อเลือกตัวยา และปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ประกอบกับมีการประเมินผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะได้ทำการป้องกันไว้ล่วงหน้า อาทิ หากผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดชนิดที่มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพทย์ก็จะสั่งยาป้องกันหรือบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วย เป็นต้น
อย่าลืมว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ สุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเอง อย่ากังวลกับผลข้างเคียงจนเกินไป สร้างทัศนคติ และกำลังใจที่ดี อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ย่อมจะหมดไปเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับยาได้ หรือเมื่อสิ้นสุดการรักษา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565