bih.button.backtotop.text

เรื่องของกัมมันตภาพรังสีที่คุณควรรู้

การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นความกังวลร่วมกันของผู้คนทั่วโลก พร้อมกับคำถามตามมาถึงผลกระทบ รวมถึงคุณและโทษของกัมมันตภาพรังสี ซึ่งผู้ที่จะมาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้คือ นพ. อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาและรังสีรักษาจากศูนย์มะเร็งฮอไรซัน 

 

รู้จักกับสารกัมมันตรังสี

สารกัมมันตรังสี คือ ธาตุที่มีคุณสมบัติในการปล่อยคลื่นพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า หรือกัมมันตภาพรังสีออกจากตัวเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาจนกว่าจะหมดอายุ” นพ. อภิชาตกล่าว “เมื่อกล่าวถึงสารกัมมันตรังสี หลายคนอาจนึกกลัว แต่ก็ใช่ว่าสารกัมมันตรังสีจะก่อให้เกิดอันตรายแต่เพียงอย่างเดียว ในชีวิตประจำวัน เรามีการนำเอาสารกัมมันตภาพรังสีมาใช้ประโยชน์มากมายหลายด้านด้วยกัน ทั้งในด้านการแพทย์ ในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร”  

 

กัมมันตภาพรังสีกับร่างกาย

นพ. อภิชาต อธิบายต่อว่า “การแผ่รังสีของสารกัมมันตรังสีเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ไม่อาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ โดยอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคุณสมบัติที่สามารถแตกตัวเป็นไอออน (Ionizing Radiation) เมื่อรังสีผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกาย ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเซลล์ถึงในระดับดีเอ็นเอ โดยทำให้โมเลกุลภายในเซลล์ และระบบการทำงานของเซลล์เปลี่ยนแปลงไป”      

ทั้งนี้ การได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกายเป็นไปได้ 2 กรณี กล่าวคือ 

1. ได้รับรังสีจากสารกัมมันตรังสีจากภายนอก (External Exposure) ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของรังสี ระยะเวลาในการสัมผัสกับรังสี และระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดรังสีกับตัวผู้รับรังสี 

2. ได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายโดยตรง (Internal Exposure) มักพบในกรณีมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่มีสภาพเป็นก๊าซ ของเหลว หรือฝุ่นละอองจากแหล่งเก็บสารกัมมันตรังสี หรือที่เก็บกากสารกัมมันตรังสีซึ่งส่งผลให้มีการฟุ้งกระจายไปในอากาศ หรือปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำ และเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนรังสี เป็นต้น       

สำหรับอาการที่เกิดขึ้นจากการได้รับรังสีโดยตรง อาจมีตั้งแต่ผื่นแดง ผิวหนังพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน เม็ดเลือดขาวถูกทำลายอย่างรุนแรง ระบบการสร้างโลหิตจากไขกระดูกบกพร่อง มีความต้านทานโรคต่ำ ผิวหนังพุพอง ผมร่วง ปากเปื่อย เป็นต้น
   

กัมมันตภาพรังสีกับโรคมะเร็ง

สารกัมมันตรังสีที่สามารถแตกตัวเป็นไอออนจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ที่ผ่านมามีการศึกษาและบันทึกผลต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับรังสีในปริมาณสูงจากอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ และผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ยูเรเนียม พบว่าการได้รับรังสีในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด อาทิ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งที่ต่อมธัยรอยด์ มะเร็งเต้านม และมะเร็งในกระเพาะอาหาร    
 

“กัมมันตภาพรังสีเป็นหนึ่งในสาเหตุของมะเร็งบางชนิดก็จริง แต่ก็ในทางการแพทย์ เราก็ไดันำสารกัมมันตรังสี และรังสีมาใช้เพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน ได้แก่การใช้รังสีรักษา และการฝังแร่กัมมันตรังสีไว้ภายในร่างกาย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งลงเพื่อให้ง่ายต่อการผ่าตัด หรือควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ” นพ. อภิชาตกล่าว    
 
การนำคุณสมบัติของสารกัมมันตรังสีมาใช้ประโยชน์นั้น อยู่ภายใต้ระเบียบวิธีการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการป้องกันอันตรายจากรังสี (ICRP) ซึ่งยึดหลักให้ผู้ปฏิบัติงาน และสาธารณชน ได้รับรังสีน้อยที่สุดโดยอาศัย 3 มาตรการป้องกันที่สำคัญ คือ ใช้เวลาปฏิบัติงานให้สั้นที่สุด รักษาระยะห่างจากรังสีให้มากที่สุด และจัดให้มีเครื่องกำบังที่เหมาะสม
     
“ปัจจุบันเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้แพทย์สามารถใช้ประโยชน์จากสารกัมมันตรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งได้มากชนิดขึ้น ใช้รังสีรักษามะเร็งได้อย่างตรงจุด แม่นยำและสร้างความเสียหายต่อเซลล์ข้างเคียงน้อยลง อีกทั้งยังสามารถควบคุมความเข้มข้นของรังสีให้เหมาะสมสำหรับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติงานที่มีความปลอดภัยสูงสุด” นพ. อภิชาตกล่าวในท้ายที่สุด  
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 26 มิถุนายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs