bih.button.backtotop.text

ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ จำเป็นอย่างไร

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักช่วยลดอัตราการเกิดและเสียชีวิตจากมะเร็งลงไปได้มาก

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งที่อาจป้องกันและรักษาโดยหวังผลให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ พาคุณไปคุยกับ พญ. พวงเพ็ญ สิริสุวรรณทัศน์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อทำความเข้าใจกับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยการส่องกล้องให้ดียิ่งขึ้น
 

Better Health: สถานการณ์ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างคะ


พญ. พวงเพ็ญ      โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อยเป็นอันดับ 4 ในประเทศไทยโดยพบมากเป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย และอันดับ 5 ในผู้หญิง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ


Better Health: ผู้ป่วยทราบได้อย่างไรคะว่าตนเองเป็นมะเร็ง


พญ. พวงเพ็ญ      ผู้ป่วยมักจะไม่ทราบค่ะ ก่อนอื่นเราต้องแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่ดูแลใส่ใจและเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพ เมื่อถึงเวลาก็มาตรวจร่างกาย ร่วมกับตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีไม่มากนัก กลุ่มที่สองได้แก่ กลุ่มที่มีอาการแปลก ๆ แล้วรีบมาหาหมอด้วยความกลัวที่จะเป็นมะเร็งซึ่งก็มีบ้างที่บังเอิญพบเนื้องอก หรือติ่งเนื้อที่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง กลุ่มนี้จะรักษาได้ง่าย ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่มีอาการผิดปกติอย่างชัดเจน เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดบ่อย ๆ จนเริ่มไม่แน่ใจเลยมาพบแพทย์ตรวจจึงค่อยทราบ ซึ่งก็มีไม่น้อยที่พบว่าโรคได้ดำเนินไปพอควรแล้ว  


Better Health: พอจะมีอาการเตือนอะไรให้เราสังเกตได้บ้างคะ


พญ. พวงเพ็ญ      โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่อาจป้องกันได้เนื่องจากมีระยะก่อนเป็นมะเร็งค่อนข้างนานและสามารถตรวจพบได้ แต่จะสังเกตอาการได้ยาก เพราะแม้เป็นมะเร็งไปแล้วแต่ถ้ายังอยู่ในระยะต้น ๆ ก็มักจะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใด ๆ หากจะมีอาการก็เป็นอาการทั่วไป เช่น ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเสีย ท้องผูก บางรายถ่ายเป็นเลือดซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นแค่ริดสีดวงทวารจึงไม่ได้กังวลอะไร และไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องมาปรึกษาแพทย์

ขอทำความเข้าใจก่อนว่าการมาพบแพทย์สมัยนี้ เราไม่ควรคิดว่าเป็นการมารักษาโรคแต่อยากให้คิดว่าเป็นการมารับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การตรวจสุขภาพเป็นประจำเป็นเรื่องที่ควรทำนะคะ ซึ่งสำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ก็มีคำแนะนำว่าสำหรับคนทั่วไปที่สุขภาพดี ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรตรวจคัดกรองโรคโดยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Total Colonoscopy) เมื่ออายุ 50 ปี  


Better Health: นอกจากการส่องกล้องแล้ว มีวิธีการตรวจแบบอื่นอีกไหมคะ


พญ. พวงเพ็ญ      จริง ๆ ตรวจได้หลายวิธีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจอุจจาระหรือการสวนแป้งเอกซเรย์ตรวจลำไส้ แต่โอกาสที่จะเจอมีน้อยมากการตรวจที่ดีกว่าการสวนแป้งเอกซเรย์ คือการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าการส่องตรวจลำใส้ใหญ่ด้วยกล้องเสมือนจริง (Virtual Colonoscopy) ที่สามารถตรวจพบติ่งเนื้อขนาดมากกว่า 0.6 เซนติเมตรได้ประมาณร้อยละ 60 ถึง 90 ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการส่องกล้อง แต่มีข้อเสียคือถ้าพบเนื้องอก ก็ต้องมาส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตัดเนื้องอกอีกครั้ง หรือสมมติว่าตรวจพบและสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งจริง ๆ ก่อนจะรักษา ก็ต้องมีการส่องกล้องตรวจอยู่ดี

เราต้องไม่ลืมว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีเป้าหมายเพื่อการป้องกัน การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จัดว่าเป็น ‘มาตรฐานทอง’หรือ Gold Standard ที่แนะนำให้ใช้กันทั่วโลกเพราะสิ่งที่เรามองหาคือความผิดปกติของเนื้อเยื่อในลำไส้ใหญ่ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต เช่น การอักเสบ กระเปาะ และติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อตรวจพบ ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์จากการตรวจแน่นอนค่ะ


Better Health: คุณหมอลองยกตัวอย่างได้ไหมคะ


พญ. พวงเพ็ญ      อย่างเช่นเราส่องกล้องไปเจอติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นเนื้องอกระยะก่อนเป็นมะเร็ง เราก็สามารถตัดติ่งเนื้อนั้นออกได้เลย และจะสามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วยได้ว่าผู้ป่วยรายนั้น ๆ อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงสูงก็เฝ้าระวังต่อไปอย่างใกล้ชิดถ้าความเสี่ยงต่ำก็หมายความว่า ผู้ป่วยจะปลอดภัยจากมะเร็งไปได้อีกนานในบางการศึกษาบอกว่าเราสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็ง หรือการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักลงไปได้ตั้งแต่ร้อยละ 23-31 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย


Better Health: การส่องกล้องตรวจลำไส้มีข้อจำกัดอะไรบ้างคะ 


พญ. พวงเพ็ญ     อย่างแรกเลยคือเรื่องค่าใช้จ่าย ที่ปัจจุบันยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการตรวจอุจจาระหรือการเอกซเรย์ทั่วไป แต่ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องรักษามะเร็งสิคะ ไหนจะค่าผ่าตัด ค่าเคมีบำบัด ค่าเดินทาง รวมทั้งความปกติสุขในชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้ การป้องกันและลดโอกาสตั้งแต่แรก ๆ น่าจะดีกว่า ข้อจำกัดเรื่องที่สองคือ ทักษะของแพทย์ผู้ทำการตรวจค่ะ เพราะการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่แพทย์ต้องผ่านการฝึกฝนเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีทักษะสูง ข้อต่อมาคือ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ผลข้างเคียงจากยานอนหลับ ภาวะหยุดหายใจระหว่างหลับ เลือดออกในลำไส้ ลำไส้ทะลุ เป็นต้น

 

Better Health: ในกรณีหลังนี่ เราจะมั่นใจได้อย่างไรคะว่าจะปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน  

พญ. พวงเพ็ญ      มั่นใจได้ค่ะ หากเลือกตรวจกับแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจนมีทักษะสูง โอกาสที่จะพลาดและเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้นน้อยมาก อย่างเรื่องเลือดออกกับลำไส้ทะลุโอกาสที่จะเกิดอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3,000-5,000 ตามข้อมูลการศึกษาในต่างประเทศเพื่อหาอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่


ถ้ายังกังวลใจอยู่ หมอก็จะให้ความมั่นใจว่าเราจะให้การดูแลผู้มารับการตรวจอย่างดีทั้งก่อนตรวจ ขณะตรวจ และหลังจากตรวจแล้ว โดยก่อนตรวจแพทย์จะต้องพบและคุยกับผู้ป่วยหรือผู้มารับการตรวจก่อน ดูว่าจะมีความเสี่ยงประการใด


หรือไม่ซึ่งส่วนมากจะแก้ไขได้ เช่น ถ้ารับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ก็จะแนะให้หยุดสัก 5-7 วัน บางรายมีปัญหาเรื่องหยุดหายใจระหว่างหลับ หรือคอสั้น น้ำหนักมาก เช่นนี้ แพทย์ผู้ทำการตรวจก็จะต้องขอความร่วมมือกับวิสัญญีแพทย์เพื่อให้มkคอยตรวจสอบเรื่องการหายใจและชีพจรในระหว่างทำการตรวจ ทั้งนี้ แพทย์จะต้องประเมินผู้มาตรวจเป็นราย ๆ ไป สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจริง ๆ แพทย์จะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก่อนทำการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่ค่ะ


เมื่อคุณมีสุขภาพดีแล้วเดินเข้ามาขอรับการตรวจ เราก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้คุณเดินยิ้มอย่างมีความสุขกลับ ออกไป เพราะฉะนั้น อย่ามัวแต่กังวลจนละเลยโอกาสที่จะดูแลตัวเองนะคะ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ จำเป็นอย่างไร
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 2 คน

Related Health Blogs