โรคเบาหวานเกี่ยวพันกับภาวะหัวใจวาย
ลำพัง
โรคเบาหวาน หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างใดอย่างหนึ่งก็แย่พอแล้ว ความจริงที่น่าวิตกก็คือ ทั้งสองโรคนี้มักจะเกิดในผู้ป่วยกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ วารสาร Cell Metabolism ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เผยแพร่งานวิจัยที่แสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของโรคและวิธีการที่อาจนำไปสู่การยุติวงจรที่เชื่อมโยงโรคทั้งสองนี้ในอนาคต
การค้นพบของนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยชิบะ ช่วยอธิบายว่าเพราะเหตุใด ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูง และผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจึงมีภาวะดื้อต่ออินซูลินสูงด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้เป็นผลกระทบต่อเนื่องแบบโดมิโน ความเครียดที่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติกให้ผลิตโปรตีน p53 ออกมา ซึ่งโปรตีนตัวนี้จะส่งสัญญาณไปกระตุ้นโปรตีน p53 ในเนื้อเยื่อไขมันอีกต่อ ก่อให้เกิดการอักเสบ และเป็นที่มาของภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเบาหวานด้วย นักวิจัยเชื่อว่า ปฏิกิริยาระหว่างกันของโปรตีน p53 นี้เองที่เชื่อมโยงทั้งสองโรคไว้ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหน้าที่หลักของโปรตีน p53 คือการต่อต้านเซลล์หรือเนื้องอกที่เติบโตผิดปกติ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักวิจัยที่ต้องศึกษาหาวิธีลดการกระตุ้นการอักเสบโดยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งให้แก่ผู้ป่วย
“ฮอร์โมนอ้วน” เพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุน
เป็นที่ทราบกันมาตลอดว่า
โรคอ้วนเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังมากมาย ล่าสุดก็คือ โรคกระดูกพรุน ซึ่งเพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาโดยเป็นผลจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน
ความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกแตกนั้น เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแห่งความอ้วนหรือ อะไดโปเน็กติน กล่าวคือ เมื่อระดับอะไดโปเน็กตินในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิด
โรคกระดูกพรุนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะโครงสร้างของกระดูก ไม่ได้หมายถึงกระดูก หมอนรองกระดูก และข้อต่อเท่านั้น แต่กระดูก ถือเป็นอวัยวะที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมอง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อไขมัน ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ส่งสัญญาณไปยังอวัยวะอื่นเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดและความอ้วนอีกด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระดับนานาชาติ ที่ทำการศึกษาชายจำนวนถึง 11,000 คนในสหรัฐอเมริกา สวีเดน และฮ่องกง เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนในผู้ชาย ผลจากงานวิจัยชิ้นนี้แสดงว่า ฮอร์โมนอะไดโปเน็คตินในระดับสูงจะส่งผลให้โครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มวลกล้ามเนื้อน้อย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักหรือแตก
พบหนึ่งในสาเหตุของความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า
ภาวะหลอดเลือดสมองตีบแบบไม่มีอาการ หรือ Silent Stroke เป็นสาเหตุของโรคความจำเสื่อมถึงร้อยละ 25 ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านความจำ
งานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาผลกระทบของภาวะหลอดเลือดตีบแบบไม่มีอาการ ร่วมกับการ “ฝ่อ” ของสมองส่วนฮิโปแคมปัสว่าจะมีผลต่อความจำเพียงใด โดยให้อาสาสมัครอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 658 รายซึ่งไม่มีอาการของโรคสมองเสื่อมมาก่อน ทำแบบทดสอบเรื่องความจำ การใช้ภาษา รวมถึงความเร็วในการรับรู้ข้อมูลและภาพ จากนั้นจึง
สแกนสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (MRI)
ผลปรากฏว่าอาสาสมัครจำนวน 174 รายมีร่องรอยของหลอดเลือดสมองตีบแบบไม่มีอาการ และเมื่อพิจารณาคะแนนในส่วนของแบบทดสอบความจำ อาสาสมัครกลุ่มนี้ก็ทำคะแนนได้ไม่ดี ทั้งนี้ขนาดของสมองส่วนความจำ (ฮิโปแคมปัส) ไม่ได้มีผลต่อคะแนนในส่วนของความจำแต่อย่างใด
ผลของงานวิจัยดังกล่าวทำให้เข้าใจถึงสาเหตุของภาวะความจำเสื่อมมากขึ้น และเนื่องจากความผิดปกติของสมองอย่างโรคอัลไซเมอร์ ส่วนใหญ่ส่งผลกับความจำ การได้ทราบถึงสาเหตุเบื้องต้นย่อมจะช่วยให้ป้องกันโรคได้ดีขึ้น ที่สำคัญกว่านั้น งานวิจัยชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองยังจะได้ประโยชน์ในแง่ของความจำด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 มีนาคม 2565