ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นอาการที่ต้องรับมืออย่างฉับไวและป้องกันอย่างต่อเนื่อง
เอกสารเผยแพร่ของกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยแนวปฏิบัติการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิต 3 อันดับแรกของประชากรโลกนั้น ได้แก่ อุบัติเหตุจราจร
โรคหลอดเลือดสมอง และ
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Heart Attack ขณะที่ในประเทศไทยเอง จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากกว่า 2.5 เท่าภายใน 7 ปี จากการสำรวจระหว่างปี 2544 - 2551
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน การสูบบุหรี่ ความเครียด พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ขาดสมดุล และขาดการออกกำลังกาย ล้วนเป็นสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด
เกิดอะไรขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจถึงขนาดที่ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะ “เป็น-ตาย” เท่ากัน แพทย์จะมีวิธีการรักษาอย่างไร และเราจะสามารถป้องกันตัวเองจากโรคได้มากน้อยแค่ไหน Better Health ฉบับนี้พูดคุยกับ
นพ. วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต อายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อหาคำตอบมาฝากคุณ
เหตุใดหัวใจจึงขาดเลือด
“
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดจากการที่มีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือด จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้” นพ. วิสุทธิ์อธิบาย “ซึ่งที่มาของลิ่มเลือดเหล่านี้เริ่มจากการที่ร่างกายมีภาวะไขมันล้นเกิน จนไปพอกเป็นตะกรัน (Plaque) เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด เมื่อรวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากัดกินก็ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่สามารถดูดกลับเข้าไปในร่างกายได้ แต่กลับฝังตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแทน”
นพ. วิสุทธิ์อธิบายต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป ตะกรันนี้จะแตกตัวหรือปริออก หลอดเลือดจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จนเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด ถ้าเป็นการแตกตัวที่แขนงเล็ก ผู้ป่วยจะมีเพียง
อาการเจ็บหน้าอก แต่ถ้าหากลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
ก่อนถึงมือหมอ
แม้ว่าอาการเจ็บหน้าอกจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของภาวะหัวใจขาดเลือด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดทุกครั้งคือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อาการเจ็บจี๊ดบริเวณหน้าอกชนิดที่สามารถชี้ตำแหน่งได้ หรือเจ็บประมาณ 5 - 10 นาทีระหว่างการออกกำลังกายหรือยกของหนัก ๆ มักเป็นการเจ็บกล้ามเนื้อที่หน้าอกซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
อาการเจ็บของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้นจะปวดไปทั่วบริเวณ บอกตำแหน่งได้ยาก เหมือนมีอะไรหนัก ๆ มาทับหน้าอกและจะปวดติดต่อกัน 20 - 30 นาทีหรือมากกว่านั้น ซึ่งในกรณีนี้ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด เป็นเรื่องที่ต้องแข่งกับเวลา
“เมื่อหัวใจขาดเลือด ผลที่จะตามมาคืออาการกล้ามเนื้อหัวใจตายดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเอาไว้ให้ได้มากที่สุด สำหรับแพทย์โรคหัวใจแล้ว “Time is muscle” นั่นคือยิ่งลงมือได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งจะรักษากล้ามเนื้อได้มากเท่านั้น เพราะจะเป็นทั้งการลดอัตราการเสียชีวิต และผลกระทบระยะยาวอย่าง
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะและ
หัวใจล้มเหลวอีกด้วย”
กระบวนการช่วยชีวิต
เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยในเบื้องต้น พร้อมทั้งทำกราฟหัวใจประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดจริง ๆ ซึ่งถ้ากราฟแสดงผลผิดปกติ ก็จะสามารถยืนยันได้ว่ามีการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ จากนั้น แพทย์จะทำการฉีดสีเพื่อให้ตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตันแสดงในฟิล์มเอกซ์เรย์ แล้วจึงเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยสามารถทำได้ 2 วิธีการหลัก คือ
การใช้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะฉีดตัวยาที่มีฤทธิ์ในการละลายเลือดที่แข็งตัวเข้าไป เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ แต่วิธีการนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์ทันท่วงที เพราะหากการช่วยเหลือมีความล่าช้า จะทำให้ลิ่มเลือดที่อุดตันมีส่วนผสมอื่นเข้ามาเจือปน จนไม่สามารถละลายได้ดีเท่าที่ควร ข้อเสียของวิธีนี้คือความเสี่ยงต่อเลือดออกในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 1
การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน วิธีการนี้จะใช้สายสวนที่มีลูกโป่งติดอยู่ตรงปลายสอดเข้าไปบริเวณที่หลอดเลือดอุดตัน ก่อนที่จะเป่าลมให้ลูกโป่งขยายหลอดเลือด และทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกไป นับเป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าการใช้ยา ในปัจจุบัน มักจะมีการใช้การดูดลิ่มเลือดและใส่ขดลวดร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันบริเวณส่วนปลายของหลอดเลือด ทั้งนี้นพ. วิสุทธิ์ กล่าวว่า การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนนั้น มีโอกาสประสบความสำเร็จมากถึงร้อยละ 95 ขณะที่การใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ผลราวร้อยละ 70 ทำให้บางครั้งแม้จะให้ยาแล้วก็ต้องมาทำบอลลูนอยู่ดี
“การวินิจฉัยที่แม่นยำ และการรับมือกับโรคอย่างถูกต้อง ตรงจุดและรวดเร็วจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาชีวิตผู้ป่วย ซึ่งตามมาตรฐานแล้ว ทุกขั้นตอนควรทำให้แล้วเสร็จภายใน 90 นาที เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียมากจนเกินไป ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่แพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทีมงานทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะทีมงานของห้องฉุกเฉินที่จำเป็นต้องรู้หน้าที่และระเบียบขั้นตอนเป็นอย่างดี สามารถตรวจกราฟหัวใจได้ภายใน 10 นาที และแจ้งไปยังส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์โรคหัวใจที่อยู่เวร และทีมฉีดสีทำเอกซ์เรย์ เพื่อให้ผู้ป่วยผ่านกระบวนการต่าง ๆด้วยเวลาที่สั้นที่สุด”
ความเสี่ยงและการป้องกัน
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีตัวยาชนิดใดที่จะสามารถทำให้ผนังหลอดเลือดที่ตีบตันหายได้ การป้องกันจึงเป็นวิธีเดียวที่จะลดความเสี่ยงจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
“สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่สูบบุหรี่นั้น ส่วนใหญ่หมอจะให้รับประทานยาลดไขมันในเลือดควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร เพราะการใช้ยามากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่จะให้อดอาหารเสียทีเดียวก็ทำได้ยาก เพราะอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคมักเป็นสิ่งที่เรารับประทานกันเป็นประจำ อย่างพวกขนมปัง นม ไข่แดง ไขมันสัตว์จากเนื้อวัว เนื้อหมู ปู กุ้ง ปลาหมึก เป็นต้น” นพ. วิสุทธิ์กล่าว
นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการป้องกันโรคก็คือ การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายเป็นการปรับร่างกายให้เซลล์ต่าง ๆ ทนต่ออาการขาดเลือดได้ดีขึ้น เนื่องจากขณะที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะเกิดภาวะที่เป็นกรดในกล้ามเนื้อและภาวะขาดเลือด กระตุ้นให้เซลล์สามารถดูดออกซิเจนจากกระแสเลือดได้มากกว่าปกติ ร่างกายส่วนต่าง ๆ และหัวใจของผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจึงทนต่ออาการขาดเลือดได้ดีขึ้นและนานขึ้น เพราะมีความสามารถในการดึงออกซิเจนออกจากกระแสเลือดมากกว่าคนทั่วไปนั่นเอง
“ในกระบวนวิธีการป้องกันและช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา
ทำบายพาส ทำบอลลูน
รักษาเบาหวาน ฯลฯ การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและได้ผลดีที่สุด แต่ก็เป็นสิ่งที่คนไข้ไม่อยากทำมากที่สุดเพราะเหนื่อย และต้องอาศัยวินัยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หมอก็ต้องยืนยันว่า ถ้าไม่อยากเสี่ยงกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่าละเลยเรื่องการออกกำลังกายโดยเด็ดขาด” นพ. วิสุทธิ์กล่าวปิดท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 มีนาคม 2565