เมื่อช่วงปลายปี 2554 หลายๆ คนคงได้ยินคำว่า “ไข้หวัดใหญ่ไอโอวา” จากข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งได้รายงานว่า พบการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ในหลายมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 พบมีคนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้ใน 5 มลรัฐจำนวนทั้งสิ้น 12 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นเด็ก 11 ราย แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือการรักษาที่พิเศษ และยังไม่พบการระบาดอื่นๆ เพิ่มเติม
สำหรับในประเทศไทย ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ไอโอวา โดยยังคงเป็นเชื้อที่แพร่ระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เนื่องจากโรคนี้สามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้โดยง่าย จึงอยากให้มาทำความรู้จักกับ “ไข้หวัดใหญ่ไอโอวา” กันครับ
ไข้หวัดใหญ่ไอโอวาคืออะไร
ไข้หวัดใหญ่ไอโอวา เป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีข้อมูลทางรหัสพันธุกรรมเป็นสายพันธุ์เอ H3N2 ซึ่งมีส่วนผสมของสายพันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมของไวรัส 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 2009 (ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากหมู หรือ Swine Flu) ที่มีการระบาดมาก่อนหน้านี้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มาจากสัตว์ปีกหรือไข้หวัดนก (Bird Flu) และไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Human Flu หรือ Seasonal Flu) ซึ่งในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างละเอียดและจะมีชื่อเป็นทางการแบบทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
สำหรับสาเหตุที่พบไข้หวัดใหญ่ไอโอวามากในเด็ก เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ จึงทำให้มีโอกาสเกิดการเจ็บป่วยได้มากกว่า
ความแตกต่างของไข้หวัดใหญ่ไอโอวากับไข้หวัดนก
ไข้หวัดใหญ่ไอโอวาเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอเช่นเดียวกับไข้หวัดนก แต่มีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกัน คือ ไข้หวัดนกเป็น H5N1 หรือ H7 และโดยปกติไข้หวัดนกจะไม่แพร่ระบาดจากคนสู่คนโดยตรง แต่จะเป็นการแพร่ระบาดจากนกสู่คนที่มีการสัมผัสใกล้ชิด ซึ่งแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ไอโอวาที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยง่าย
การติดต่อจากคนสู่คน
ไข้หวัดใหญ่ไอโอวามีการติดต่อจากคนสู่คนได้เหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยการไอ จาม และหายใจรดกัน รวมถึงการดูแลใกล้ชิดกัน ก็สามารถรับเชื้อได้
อาการของไข้หวัดใหญ่ไอโอวา
อาการของไข้หวัดใหญ่ไอโอวาเหมือนกับอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ปวดตามแขนขา แต่สำหรับเด็ก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ไอโอวาหรือไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คือ เด็กมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจรุนแรงได้ง่าย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กมีอาการไข้สูง หายใจเหนื่อย และไอจัด ควรรีบมาพบแพทย์
การรักษาไข้หวัดใหญ่ไอโอวา
การรักษาทำได้เช่นเดียวกับการรักษาไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เท่าที่ตรวจพบขณะนี้ เชื้อยังตอบสนองดีต่อยาต้านไวรัสสำหรับไข้หวัดใหญ่ เช่น ยา Oseltamivir และ Zanamivir ซึ่งเป็นยาที่มีใช้ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการของไข้หวัด ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนและพิจารณาว่ามีข้อบ่งชี้สำหรับการใช้ยาเหล่านี้หรือไม่
การป้องกันไข้หวัดใหญ่ไอโอวา
การป้องกันไข้หวัดใหญ่ไอโอวาไม่แตกต่างจากการป้องกันไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยมีหัวใจสำคัญคือ การหลีกเลี่ยงการสัมผ้สโรค ซึ่งสามารถทำได้โดย
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการของไข้หวัดใหญ่
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาด โดยเฉพาะเมื่อต้องไปสัมผัสกับสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ปุ่มลิฟต์ ราวบันไดหรือบันไดเลื่อน ลูกบิดประตู ราวจับบนรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดิน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการขยี้ตา แคะจมูก หรือเอานิ้วเข้าปาก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลไม่ให้ลูกอมนิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า
- หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น โทรศัพท์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
ไข้หวัดใหญ่ไอโอวากับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีใช้ขณะนี้เป็นสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังไม่ครอบคลุมถึงสายพันธุ์ใหม่อย่างไข้หวัดใหญ่ไอโอวา เพราะฉะนั้นยังไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ไอโอวาได้ แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังมีประโยชน์และใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งจะพบมีการระบาดอยู่ตลอดเวลาตามช่วงเวลานั้นๆ ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นี้อยู่
ในปัจจุบันมักมีโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการระบาด และสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนอยู่เสมอ การใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะเป็นวิธีป้องกันโรคต่างๆ ได้ดีที่สุดครับ
หมายเหตุ: Flu = Influenza = ไข้หวัดใหญ่
เรียบเรียงโดย นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 มีนาคม 2565