bih.button.backtotop.text

ภัยต่อเนื่องของโรคตับ

โรคร้ายที่เกิดขึ้นกับตับอาจกำลังคุกคามคุณอยู่เงียบ ๆ

กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับสูงที่สุดในโลก (ชาย = 36.9 ต่อประชากร 100,000 คนและหญิง = 15.2 ต่อประชากร 100,000 คน) โดยแต่ละวันมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยถึง 30 รายทั่วประเทศ ทั้งยังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ


นพ. นุสนธิ์ กลัดเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคทางเดินอาหารและตับ อธิบายให้ฟังว่า ตับเป็นอวัยวะภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญหลากหลายประการ อาทิ สร้างโปรตีน และสารหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย สร้างสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อเกิดเลือดออก สร้างฮอร์โมนบางชนิด สร้างน้ำดีหรือน้ำย่อยที่จำเป็นในการย่อยอาหาร เป็นแหล่งสะสมสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลายอย่าง กำจัดหรือทำลายสารพิษหรือสารแปลกปลอมที่อาจหลุดผ่านเข้าไปในกระแสเลือด ฯลฯ ที่พิเศษและแตกต่างจากอวัยวะอื่น ๆ คือ ตับสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เมื่อตับบาดเจ็บหรือเซลล์ตับบางส่วนตายไป เซลล์ตับส่วนที่เหลือสามารถสร้างเนื้อตับใหม่มาทดแทนได้


 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตับจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่การต้องเผชิญปัจจัยบั่นทอนอยู่ทุกวันก็อาจสร้างปัญหาให้แก่ตับไม่น้อย หากโชคดีรู้ตัวทัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อตับในระยะยาว โรคหรือความผิดปกติของตับที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้ 
   

ตับอักเสบ

ภาวะตับอักเสบเกิดได้ทุกเพศทุกวัย สาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังนี้
เชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อไวรัสตับอักเสบที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด A และชนิด B เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด A ติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ชนิด B ติดต่อได้ทางการสัมผัสกับเลือดของผู้เป็นพาหะ เช่น การถ่ายเลือด การใช้ของมีคมร่วมกันหรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสบ B นอกจากนี้ ยังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด ซึ่งมีช่องทางติดต่อคล้ายกันกับไวรัสตับอักเสบ B แต่ในประเทศไทยพบน้อยกว่าสองชนิดแรก


“การใช้แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ หรือมีดโกนร่วมกับผู้อื่น หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบอยู่ อาจทำให้คุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B หรือ C ได้” นพ. นุสนธิ์กล่าว “อีกกรณีหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ เด็กที่คลอดจากมารดาผู้เป็นพาหะ อาจได้รับเชื้อจากมารดาขณะคลอด กรณีเช่นนี้เชื้ออาจไม่แสดงอาการในวัยเด็กแต่จะแฝงตัวอยู่ในร่างกายจนเป็นผู้ใหญ่ บางรายได้รับเชื้อตับอักเสบโดยไม่มีอาการและหายเองแต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะ และจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว”  


ภาวะไขมันสะสมในตับ นอกจากเชื้อไวรัสตับอักเสบแล้ว ภาวะไขมันสะสมในตับเป็นสาเหตุที่พบบ่อยอีกประการหนึ่งของโรคตับอักเสบ นพ. นุสนธิ์อธิบายว่า “ไขมันสะสมในตับอาจทำให้ตับบาดเจ็บและเสื่อมสภาพ และอาจพัฒนาไปเป็นตับอักเสบ ตับแข็ง หรือแม้แต่มะเร็งตับได้เมื่อสูงวัยขึ้น”


กลไกการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับเป็นเรื่องซับซ้อนและยังไม่เป็นที่เข้าใจกระจ่างนัก การดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ เป็นประจำเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง แต่ผู้ที่ไม่ได้ดื่มสุราก็มีโอกาสเกิดภาวะไขมันสะสมในตับได้เช่นกัน โดยอาจปรากฏร่วมกับภาวะน้ำหนักเกิน ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น


การดื่มสุรา ผู้ที่ดื่มสุราหนัก ๆ หรือดื่มสุรามานานปีมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดตับอักเสบจากพิษสุรา และหากผู้ป่วยมีโรคตับอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ B หรือ C หรือมีโรคไขมันสะสมในตับร่วมด้วยอยู่แล้ว อันตรายต่อตับก็ยิ่งทบเท่าทวีคูณ และมีโอกาสกลายเป็นโรคตับแข็งและ/หรือโรคมะเร็งตับได้ง่าย


              “อุบัติการณ์ของภาวะตับอักเสบแตกต่างกันในแต่ละชุมชนแต่ละประเทศ” นพ. นุสนธิ์กล่าว “ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะพบตับอักเสบจากพิษสุรามากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ ขณะที่คนเมืองหรือผู้ที่อยู่ดีกินดีก็อาจพบตับอักเสบจากภาวะไขมันสะสมในตับได้บ่อย เป็นต้น ความน่าเป็นห่วงของภาวะตับอักเสบอยู่ตรงที่โรคมักจะไม่มีอาการใด ๆ เลยที่จะบ่งบอกหรือเตือนให้ผู้ป่วยรู้ตัวแต่เนิ่น ๆ ผู้ป่วยอาจแค่รู้สึกเหนื่อยเพลียเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ชัดเจนนัก ต่อเมื่อเริ่มสังเกตว่าปัสสาวะเป็นสีเข้ม หรือมีคนใกล้ชิดสังเกตว่าตาและ/หรือผิวหนังออกสีเหลือง ๆ (ทางการแพทย์เรียกว่า “ดีซ่าน”) จึงได้ไปพบแพทย์”
 

ตับแข็ง


               ผลพวงจากตับอักเสบที่ปล่อยปละละเลยมานานจนเป็นโรคเรื้อรังจะทำให้มีการอักเสบซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดพังผืดหรือแผลเป็นในตับมากขึ้นเรื่อย ๆ ผิวตับที่เคยเรียบลื่นจะหยาบและขรุขระ เนื้อตับส่วนที่ยังดีลดลง ๆ ขณะที่พังผืดหรือแผลเป็นจะแผ่บริเวณกว้างขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำงานตามปกติของตับ เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่าโรคตับแข็งในที่สุด


               นพ. นุสนธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาภาวะตับแข็งนั้นมีเป้าหมายเพื่อชะลอไม่ให้ตับส่วนที่ยังดีอยู่ถูกทำลายเพิ่มเติม แต่ไม่อาจทำให้เนื้อเยื่อตับที่แข็งไปมากแล้วคืนสู่สภาพปกติได้ทั้งหมด เป็นการรักษาตามอาการแทรกซ้อนเป็นส่วนใหญ่ และจะต้องติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูการดำเนินโรคและเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับต่อไป “ผู้ป่วยตับแข็งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับสูงมาก จึงต้องให้การดูแลเป็นพิเศษเพื่อป้องกัน หรือตรวจค้นหามะเร็งตับตั้งแต่ระยะแรก ๆ วิธีสุดท้ายที่จะรักษาโรคตับแข็งระยะท้าย ๆ ได้ผลดี คือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver Transplantation)” 
 

มะเร็งตับ


           โรคมะเร็งตับอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ “มะเร็งที่จุดเริ่มต้นอยู่ที่ตัวตับเอง ซึ่งมักจะเป็นผลพวงของภาวะตับอักเสบเรื้อรังและตับแข็ง และมะเร็งตับที่มีจุดเริ่มต้นมาจากอวัยวะอื่น ๆ (เช่น ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ตับอ่อน เป็นต้น) แล้วจึงแพร่กระจายต่อไปยังตับ หรืออาจเรียกว่าเป็นมะเร็งตับแพร่กระจาย” นพ. นุสนธิ์อธิบาย


“ในอดีตมะเร็งตับเป็นกลุ่มโรคมะเร็งที่รักษาได้ยากมาก โอกาสรักษาหายขาดก็น้อยมาก ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในเวลาอันสั้น ปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมาก การรักษาโรคตับในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือการรักษามะเร็งตับในระยะต่าง ๆ ได้ผลดีกว่าในอดีตมากโดยผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาว หรือแม้แต่หายขาดได้ในบางราย” นพ. นุสนธิ์กล่าว


พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อตับมากกว่าที่เราคิดนพ. นุสนธิ์ทิ้งท้ายว่า “โรคตับนั้นไม่ค่อยมีสัญญาณเตือนให้ทราบ กว่าจะรู้ตัว เนื้อเยื่อตับอาจถูกทำลายไปมากแล้ว การใส่ใจสุขภาพโดยการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคต่อตับ รวมทั้งการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำตามสมควร จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากในการป้องกันโรคต่าง ๆ ของตับ”
 

คำเตือนจากตับ


“หากมีปัญหาที่ฉันจัดการได้ด้วยตัวเองละก็ ฉันจะลงมือทำทันทีโดยไม่ปริปากบ่น เมื่อไรที่คุณได้รับสัญญาณเตือนจากฉันละก็ ขอให้รู้ไว้ว่าทั้งฉันและคุณอาจใกล้จะถึงฝั่งแล้วก็ได้นี่เป็นคำเตือนเดียวที่ฉันจะมอบให้คุณได้”

 
  • ดูแลสุขภาพตับวันนี้ ทำได้ทันที 
  • ลด ละ เลิกการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะชนิดใด
  • มีเพศสัมพันธ์ปลอดภัยกับคู่สมรสของตน ไม่สำส่อน       
  • ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ และเข็มฉีดยา
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
  • อย่ารับประทานยา ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโดยไม่ทราบที่มา หรือเพียงเพราะคำโฆษณา
  • ควรปรึกษาแพทย์ขอคำแนะนำก่อน
  • สวมถุงมือ สวมหน้ากากป้องกัน หากต้องสัมผัส หรือสูดดมสารเคมี
  • ตรวจสุขภาพร่างกายทุกปี


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 26 เมษายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs