bih.button.backtotop.text

ก้าวใหม่ ชีวิตใหม่ กับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยผู้ป่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี

การที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุหมายความว่าผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิม แต่ความจริงข้อนี้มิได้สะท้อนถึงระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่อย่างใด การมีชีวิตยืนยาวและเปี่ยมสุขเป็นพรอันประเสริฐประการหนึ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมไม่ว่าจะเนื่องด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความเสี่ยงในการที่จะกลายเป็นผู้พิการทุพพลภาพย่อมมากขึ้น  ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้ป่วยด้วยภาวะข้อเสื่อมยังคงรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจึงเป็นทางเลือกที่ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อมระยะรุนแรง
 
ปัจจุบันสถานการณ์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเป็นอย่างไร
ในส่วนของสถิติ โดยทั่วไปคนในเมืองกับคนต่างจังหวัดก็มีความจำเป็นในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อในบริเวณที่ต่างกันไป เช่น ในต่างจังหวัดมักจะมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกมากกว่าข้อเข่า ส่วนในคนเมืองก็เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือมีการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมากกว่า
 
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมคืออะไร
สาเหตุสำคัญของภาวะข้อเสื่อม สืบเนื่องมาจากวิถีการใช้ชีวิตซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ คนเมืองมักจะมีภาวะข้อเสื่อมจากการใช้งาน เพราะมีภาวะโภชนาการทานอาหารที่เกินพอดี ส่งผลให้น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ข้อต้องรับภาระหนักและเกิดการสึกหรอ หรือเสื่อมสภาพไป ส่วนคนต่างจังหวัด ภาวะข้อเสื่อมมักไม่ได้เกิดจากความสูงอายุหรือความสึกหรอจากการใช้งาน แต่เกิดจากโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไขข้ออักเสบ โรครูมาตอยด์ และโรคเอสแอลอี ซึ่งมีผลต่อโรคข้อสะโพกเสื่อม โดยที่โรคเหล่านี้ทำให้ข้อขาดเลือดโดยเฉพาะข้อสะโพก ซึ่งมักจะเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก รวมทั้งการได้รับสารสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน สารพวกนี้มักพบในยาหม้อ ยาเม็ดลูกกลอนที่นิยมรับประทานกัน ทำให้คนต่างจังหวัดเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกในสัดส่วนที่มากกว่าคนเมือง รวมทั้งวิถีชีวิตของคนไทยเราเอง คือเรานั่งกับพื้นกันมาก เช่น นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ซึ่งการลุกจากนั่งไปยืน หรือจากยืนลงมานั่ง ข้อเข่าจะต้องรับแรงกระทำมากกว่าปกติถึง 3-5 เท่าตัว หมายความว่าในผู้ที่น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม เมื่อลุกจากพื้นข้อเข่าต้องรับแรงกระทำเพิ่มขึ้นเป็น 150 กิโลกรัม ซึ่งมีผลทำให้ข้อเสื่อมจากพฤติกรรมการใช้งานเหล่านี้
 
เมื่อไรจึงควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
การตัดสินใจว่าจะผ่าหรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจของของผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำ และให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจโดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ดูว่าผู้ป่วยมีอายุเท่าไร ข้อที่มีอยู่ผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัดมาอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ เช่น พยายามลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย รับประทานยาที่จะช่วยต้านการอักเสบแล้ว พยายามใช้เครื่องไม้เครื่องมือช่วยในการเดิน ใช้ที่รัดหัวเข่า ใช้ไม้เท้าค้ำยันแล้ว หากผ่านมาทั้งหมดแล้ว ผู้ป่วยยังทรมานกับอาการปวด อีกทั้งยังมีคุณภาพชีวิตตกต่ำลงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดังนี้แล้วแพทย์มักจะแนะนำว่าผู้ป่วยควรเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
 
เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อในปัจจุบันก้าวหน้าแค่ไหน 
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป เทคโนโลยีเรื่องนี้ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปมาก และเป็นประเทศระกดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ  การซ่อมข้อเข่าก็มีหลายวิธีให้เลือกขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของข้อว่าเสียมากน้อยขนาดไหนอย่างข้อเข่า ก็ต้องดูว่าเสียที่ตำแหน่งใด และเป็นแบบใด ถ้าเป็นไม่มาก สามารถผ่าตัดข้อด้วยการส่องกล้องได้ ซึ่งมักจะทำในผู้ป่วยที่เข่ายังไม่มีภาวะผิดรูปอย่างชัดเจน อาจมีอาการล็อคหรือขัดบ้างเนื่องจากมีหินปูนหรือมีหมอนรองข้อไปขัดขวางการงอของเข่า

ถ้ามีอาการข้อเสื่อมระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมีภาวะผิดรูปของเข่า คือ เข่าโก่งเข่าเบี้ยว เข่าเอียง มีองศาหรือพิสัยการงอเหยียดลดน้อยลง เจ็บปวดมากเวลาเดิน เอ็กซเรย์ดูแล้วไม่เหลือช่องว่างระหว่างกระดูกข้อต่อทั้งส่วนบนและล่างแล้ว การผ่าตัดส่องกล้องก็อาจจะไม่ช่วย การผ่าเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจจะตอบจทย์ได้มากกว่า

ถ้าผู้ป่วยอายุไม่มาก เช่น อาจจะสัก 40-50 เริ่มมีการโก่งผิดรูปของข้อเข่า อาจจะยังไม่ต้องถึงขั้นเปลี่ยนข้อ แต่สามารถผ่าตัดให้กระดูกตรง หรือเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพียงบางส่วน แต่ทั้งหมดทั้งปวงคือ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค กิจกรรมที่ผู้ป่วยทำ และพยาธิสภาพของความเสื่อมนั้นๆ

"แม้จะมีเทคโนโลยีช่วยมากมาย แต่ทักษะของแพทย์ยังคงเป็น หัวใจสำคัญที่สุดในการรักษา"
 
กรณีใดบ้างที่แพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเลยแม้ข้อจะเสื่อมมากแล้วก็ตาม
กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือโรคที่ซับซ้อน ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดมาก เช่น เป็นโรคหัวใจขาดเลือดระยะเฉียบพลัน เคยติดเชื้อหรืออยู่ระหว่างการติดเชื้อและรักษาได้ยังไม่ดีพอ หรือผู้ป่วยที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่มีกำลังมากพอที่จะควบคุมการขยับข้อได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรุนแรงจนกล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่ทำงาน หรือผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตที่ไม่อาจควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้แล้ว กลุ่มนี้อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ส่วนอีกกลุ่มคือ ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกเจ็บปวดแม้จะปรากฏว่าข้อเสื่อมมากแล้ว แต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ทรมานอะไร พวกนี้ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดก็ได้

เมื่อเปลี่ยนไปใช้ข้อเทียมแล้ว เรื่องของอายุการใช้งานเป็นอย่างไร
อายุการใช้งานของข้อนั้นขึ้นอยู่กับแพทย์เลือกใส่ข้อเทียมให้ผู้ป่วยที่อายุเท่าไร การเปลี่ยนข้อมักจะแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปี ถ้าผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปี แพทย์จะพยายามหาทางเลือกอื่นให้ก่อน ส่วนปัจจัยที่ทำให้ข้อมีอายุการใช้งานยาวนาน อย่างแรกเลยคือ แพทย์ผู้ผ่าตัด ศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญ สามารถใส่ข้อเทียมได้ตรงตามตำแหน่งไม่ผิดมุม ทั้งยังคงรักษาความสมดุลของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี

ปัจจัยต่อมาคือตัวผู้ป่วยเองที่เมื่อได้รับข้อเทียมแล้วต้องใช้อย่างถูกต้อง ไม่นำไปใช้ผิดประเภท เช่น ไปปีนเขา ปีนกำแพง วิ่งมาราธอน ส่วนปัจจัยที่สาม คือคุณภาพข้อเทียมที่เลือกมาใส่ ซึ่งแพทย์ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายด้วย ถ้าทั้งสามปัจจัยนี้ทำได้ดีทั้งหมด โอกาสที่จะผ่าน 10 ปีแรกก็เป็นไปได้สูงถึง 9.5 ใน 10 ราย หรือร้อยละ 95 ถ้านับที่ 20 ปี โอกาสที่จะผ่าน 20 ปี มีถึงร้อยละ 80 แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของทั้งสามประการที่กล่าวมา

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยแขนหุ่นยนต์
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยแขนหุ่นยนต์ จัดเป็นนวัตกรรมด้านการรักษาข้อเสื่อมโดยการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมซึ่งปัจจุบันมีการนำแขนหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัด ทำให้งานที่เคยต้องใช้มือของศัลยแพทย์ทำ มีความแม่นยำ และเที่ยงตรงซึ่งหมายความว่าข้อเทียมที่เปลี่ยนมาจะมีอายุการใช้งานได้นานตามที่ควรจะเป็น โดยที่ผู้ป่วยไม่บอบช้ำและฟื้นตัวได้เร็ว

โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยแขนหุ่นยนต์เป็นการทำงานร่วมกันของแขนกล กล้องจับสัญญาณภาพสามมิติและเครื่องประมวลผล แรกเริ่มแพทย์จะต้องวางแผนก่อนทำการผ่าตัดมีการกำหนดขนาด องศา และตำแหน่งแล้วส่งข้อมูลไปยังแขนหุ่นยนต์ จากนั้นแพทย์จะทำการเปิดแผลบริเวณเข่าหรือข้อที่ต้องการผ่าแล้วใช้แขนหุ่นยนต์ช่วยตัดเฉพาะส่วนของกระดูกที่ต้องการ แล้วนำข้อเทียมไปใส่แทน ผลที่ได้จากการผ่าตัดแบบนี้มีความแม่นยำสูง ที่สำคัญคือผู้ป่วยอาจลุกขึ้นนั่งและเดินได้เลยภายในวันเดียวหลังการผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปในยุคที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และรวมทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างแท้จริง
สรุปทิ้งท้าย “ข้อที่ดีที่สุดคือข้อที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เราควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุด” ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม สิ่งจำเป็นคือควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านก่อนตัดสินใจ



เรียบเรียงโดย ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ​ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs