เรื่องน่ารู้ของภาวะตัวเหลือง ตาเหลืองจากท่อน้ำดีอุดตัน
หลายคนรู้จักภาวะตัวเหลืองตาเหลืองจากดีซ่าน แต่ท่อน้ำดีอุดตันคืออะไร และเกี่ยวข้องกับภาวะตัวเหลืองตาเหลืองอย่างไร?
ภาวะตัวเหลืองตาเหลืองที่พบได้บ่อยและหลายคนคุ้นเคยกันนั้น แท้จริงแล้วอาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ นอกจากโรคตับอักเสบและปัญหาของตับแล้ว ยังอาจเกิดได้จากโรคท่อน้ำดีอุดตันอีกด้วย โรคท่อน้ำดีอุดตันคืออะไร มีอาการและรักษาได้อย่างไร Better Health ฉบับนี้จะพาคุณไปหาคำตอบจาก ผศ.นพ. ยุทธนา ศตวรรษธำรง อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ระบบท่อน้ำดี
“ระบบท่อน้ำดีหากจะเปรียบไปก็คล้ายกับกิ่งก้านของต้นไม้” ผศ.นพ.ยุทธนาเริ่มอธิบาย “ระบบการทำงานของน้ำดีเป็นส่วนหนึ่งของระบบการย่อยอาหาร นั่นคือ ตับจะทำหน้าที่สร้างน้ำดีส่งมาตามท่อน้ำดี เพื่อมาเก็บที่ถุงน้ำดี โดยถุงน้ำดีนี้ นอกจากจะเป็นที่พักของน้ำดีแล้วยังทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นขึ้น เมื่อเรารับประทานอาหาร อาหารจะผ่านลงมาที่กระเพาะและต่อไปยังลำไส้เล็ก ลำไส้เล็กจะมีการสร้างฮอร์โมนไปกระตุ้นถุงน้ำดีให้บีบตัว น้ำดีจะไหลออกมาตามท่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็กส่วนต้นเพื่อย่อยไขมันให้แตกกระจายเป็นโมเลกุลเล็กๆ จากนั้นร่างกายจะดูดซึมเข้ากระแสเลือดต่อไป”
สาเหตุและอาการของท่อน้ำดีอุดตัน
การอุดตันของท่อน้ำดีอาจเกิดขึ้นในระบบน้ำดีส่วนใดก็ได้ โดยสาเหตุของการอุดตันมีอยู่สองประการ ได้แก่ นิ่วและเนื้องอก “การอุดตันของท่อน้ำดีเนื่องจากนิ่วสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งในระบบน้ำดี โดยนิ่วเกิดขึ้นจากองค์ประกอบในการสร้างน้ำดีที่ไม่เหมาะสม จึงเกิดการตกตะกอนขึ้นในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดี” ผศ.นพ.ยุทธนากล่าว
ทั้งนี้ การตกตะกอนของน้ำดีมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้หญิงซึ่งมีฮอร์โมนผิดปกติหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตับแข็ง และผู้ที่มี อายุเกิน 40 ปีขี้นไป
“เมื่อท่อน้ำดีอุดตัน น้ำดีจะย้อนไปที่ตับ เข้าสู่กระแสเลือดและไหลแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายไปอยู่ที่เยื่อบุตา และ/หรือน้ำปัสสาวะ หรือที่เราเรียกกันว่าดีซ่าน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะ สีเข้มซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้ในที่สุด”
นอกจากภาวะตัวเหลืองตาเหลืองแล้ว ผู้ป่วยโรคท่อน้ำดีอุดตันจากก้อนนิ่วหรือเนื้องอกจะมีอาการแตกต่างกันอยู่บ้าง “อาการท่อน้ำดีอุดตันจากนิ่ว นอกจากภาวะตัวเหลืองตาเหลืองแล้ว ยังพบอาการปวดท้องช่วงตรงกลางท้องระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ ปวดร้าวไปที่หลัง ติดเชื้อ มีไข้ หนาวสั่น” ผศ.นพ.ยุทธนา อธิบาย “ส่วนท่อน้ำดีอุดตันที่เกิดจากเนื้องอกนั้น
พองขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง และ คันตามตัวเนื่องจากน้ำดีไปสะสมที่ผิวหนัง” ท่อน้ำดีอุดตันที่เกิดจากเนื้องอกมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งถึงร้อยละ 90 ในประเทศไทยเนื้องอกในระบบท่อน้ำดี พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีการรับประทานปลาน้ำจืดที่ไม่สุก อาทิ ปลาส้มปลาก้อยดิบ ๆ ซึ่งมีพยาธิใบไม้ในตับ เมื่อพยาธิเข้ามาอยู่ที่ท่อน้ำดีจะขับถ่ายของเสียเอาไว้ กระตุ้นให้เซลล์ท่อน้ำดีเจริญเติบโตผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดี
“ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคได้แก่ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้หญิงที่มีฮอร์โมนผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก มีโรคเบาหวาน ตับแข็ง และผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขี้นไป”
ผศ.นพ. ยุทธนา ศตวรรษธำรง |
การวินิจฉัยและรักษา
สำหรับการวินิจฉัยโรคท่อน้ำดีอุดตัน ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติและเจาะเลือดเพื่อยืนยันภาวะตัวเหลืองตาเหลือง จากนั้นจึงจะทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูสภาวะการอุดตันในระบบท่อน้ำดี “ในการตรวจ แพทย์จะพิจารณาระบบท่อน้ำดีทั้งหมด ตั้งแต่ท่อน้ำดีในตับ ท่อน้ำดีนอกตับ ตรวจดูบริเวณส่วนหัวของตับอ่อนว่ามีการอุดตันหรือไม่ บางกรณีการตรวจอัลตราซาวนด์ก็เพียงพอให้แพทย์วางแผนการรักษาได้แล้ว แต่ในหลาย ๆ กรณี หากผลจากอัลตราซาวนด์ยังไม่ชัดเจนต้องทำการตรวจซีทีสแกนหรือส่องกล้องตรวจเพิ่มเติม”
โรคท่อน้ำดีอุดตันนั้น หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งผศ.นพ.ยุทธนาเล่าถึงการรักษาว่า “ในสมัยก่อน การรักษาท่อน้ำดีอุดตันที่เกิดจากนิ่ว ต้องมีการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเป็นแผลประมาณ 6 นิ้วเพื่อเอาก้อนนิ่วออก แต่ปัจจุบันเราใช้วิธีส่องกล้องตรวจรักษาท่อน้ำดีและตับอ่อน หรือ ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography) ซึ่งแพทย์สามารถทำได้ทั้งในขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีการนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่มีแผลที่หน้าท้อง พักในโรงพยาบาลสองวันก็กลับบ้านได้”
ในการส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยหรือรักษา แพทย์จะสอดกล้องผ่านปากผ่านกระเพาะอาหารไปจนถึงลำไส้เล็กและหารูเปิดของท่อน้ำดีที่เชื่อมกับลำไส้เล็ก เมื่อเข้าในรูเปิดและเจอก้อนนิ่ว แพทย์จะใช้เครื่องมือคล้าย ตะกร้อซึ่งติดอยู่ที่ปลาย เกี่ยวก้อนนิ่วแล้วลากไปไว้ในลำไส้เล็กเพื่อให้ร่างกายขับถ่ายออกไปพร้อมอุจจาระ
ส่วนการรักษาท่อน้ำดีอุดตันที่เกิดจากเนื้องอก ผศ.นพ.ยุทธนาอธิบายว่า “การจะวินิจฉัยให้ทราบแน่ชัดว่าเนื้องอกนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ต้องเอาเซลล์ออกมาตรวจ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการเดียวกันคือการส่องกล้องแล้วเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อออกมา ถ้าตรวจพบว่าเป็นมะเร็งการรักษาก็จะเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยมีภาวะตัวเหลืองตาเหลืองจากท่อน้ำดีอุดตันด้วย ดังนั้น ในเบื้องต้นแพทย์จะรักษาภาวะตัวเหลืองตาเหลืองก่อน โดยการวางท่อคร่อมส่วนที่อุดตัน หรือ stent เพื่อระบายน้ำดีให้ไหลลงสู่ลำไส้ได้ เมื่อภาวะนี้หายแล้ว จึงรักษาเนื้องอกต่อไป”
แม้การวินิจฉัยโรคท่อน้ำดีอุดตันจะทำได้ไม่ยาก แต่การตรวจให้พบนิ่วในถุงน้ำดีตั้งแต่ยังไม่มีอาการยังไม่อาจทำได้ การรักษาสุขภาพโดยการเลือกรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจึงยังคงเป็นวิธีครอบจักรวาลที่ลดความเสี่ยงต่อโรคลงไปได้มาก
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 ตุลาคม 2566