เล่ากันว่าอายุที่ยืนยาวขึ้นคือโอกาสที่หาค่าไม่ได้ เพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำในสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง ได้ใช้ประสบการณ์ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระโดยไม่มีภาระหน้าที่ให้ต้องห่วงกังวล
แต่โอกาสเหล่านั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง นั่นคือ “สุขภาพ”
หากอายุยืนยาวแต่สุขภาพถดถอยจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเราต่างก็จะกลายเป็นเพียงคนชราที่ต้องการการดูแลเท่านั้น
จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้สูงอายุจะมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพและมีความสุข คำตอบรอคุณอยู่แล้วใน Better Health ฉบับนี้
โลกวันนี้ โลกของผู้สูงอายุ
สัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2557 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 14.9 ของจำนวนประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 10 ล้านคน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่าผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกโดยเฉลี่ยคือ 20 ปีในผู้ชาย และ 23.6 ปีในผู้หญิง
พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก “ภายใน 10 ปีจากนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีมีมากกว่าประชากรเด็ก และอีกประมาณ 25 ปีต่อจากนี้ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีจะมีมากถึง 20 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด”
สาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นก็เนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ การจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ
“ปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีลูกๆ คอยดูแลเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 4 คนต่อครอบครัว ในขณะที่ผู้ที่เพิ่งเข้าสู่วัยสูงอายุคือ 60 ปีมีลูกช่วยกันดูแลเพียงครอบครัวละ 2 คนโดยเฉลี่ย เมื่อครอบครัวมีบุตรน้อยลงแต่ผู้สูงอายุจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 20-30 ปีหลังเกษียณ คำถามคือ แล้วเราจะอยู่อย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน?”
สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องเริ่มให้เร็ว
การจะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงได้นั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาว “ดีที่สุดเลยคือต้องเริ่มตั้งแต่ยังอยู่ในวัย 30-40 ปี เวลาเราเห็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีลองถามท่านดูว่าทำอย่างไรแล้วจะเข้าใจ เพราะคำตอบจะคล้ายๆ กัน นั่นคือ รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย มีสุขภาพจิตดี มีงานอดิเรกที่ชื่นชอบ”
พญ.ลิลลี่ย้ำว่าคุณลักษณะเหล่านี้ต้องสร้างให้เป็นนิสัยตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นแล้วจะส่งผลดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เพราะเป็นการยากที่จะให้ผู้ใหญ่วัย 60-70 ปีที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยหันมารักการออกกำลังกาย เช่นเดียวกับเรื่องของงานอดิเรก ซึ่งช่วยคลายความหดหู่หรือความเหงาได้มากในผู้ใหญ่วัยเกษียณ
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีใครย้อนเวลากลับไปได้ ผู้สูงอายุในวันนี้จึงต้องดูแลสุขภาพอย่างจริงจังมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอายุที่จะยืนยาวขึ้น
เวชศาสตร์ผู้สูงอายุคือคำตอบ
สาขาหนึ่งของการแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นทุกขณะ
ทั้งนี้แนวคิดของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุคือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีลักษณะพิเศษและต้องการวิธีการดูแลที่แตกต่างจากวัยผู้ใหญ่ทั่วไป“ผู้สูงอายุไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่เป็นกลุ่มคนที่เปลี่ยนแปลงไปจากวัยผู้ใหญ่ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สมอง ความสามารถ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปตามอายุ ดังนั้นจึงต้องการการดูแลที่เฉพาะเจาะจง” พญ.ลิลลี่ อธิบาย
การดูแลตามอายุจึงเป็นหลักการกว้างๆ ของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โดยแบ่งผู้สูงอายุออกได้คร่าวๆ เป็น 3 ช่วงวัย ได้แก่
- The young old (60-69 ปี) คือผู้ที่เพิ่งย่างเข้าวัยผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี อาจมีโรคประจำตัวบ้าง เช่น เบาหวาน ความดันดังนั้น การดูแลจะเน้นไปที่การป้องกันหรือประเมินหาความเสี่ยงของการเกิดโรค เช่นตรวจภาวะกระดูกพรุน ซึ่งผู้สูงอายุหลายรายกว่าจะทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็เมื่ออายุ 80 ปีไปแล้ว
- The middle old (70-85 ปี) เป็นช่วงอายุที่เริ่มมีโรคประจำตัวมากขึ้นแต่ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองอาจจะน้อยลง ขณะเดียวกันผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็อยากจะพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเป้าหมายของการดูแลจึงเป็นการทำให้ผู้สูงอายุคงคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย เช่น ดูแลให้กล้ามเนื้อกระดูกและข้อไม่ติด ช่วยให้ผู้สูงอายุยังคงเดินได้แม้มีภาวะเข่าเสื่อม หรือจัดการให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างพอเพียงแม้จะมีปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหาร เป็นต้น
- The oldest old (86 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีความสามารถพึ่งพาตัวเองลดลงและต้องได้รับการดูแลจากลูกหลานญาติพี่น้อง พยาบาลหรือผู้ดูแลพิเศษ ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวัยนี้จะเป็นการอบรมหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลในเรื่องต่างๆ อาทิ โภชนาการ กายภาพบำบัดรวมถึงเป็นตัวกลางระหว่างผู้ป่วย ญาติ ผู้ดูแล และแพทย์ที่รักษาโรคต่างๆ ของผู้ป่วย
“นี่เป็นหลักในการดูแลทั่วไป แต่จริงๆ แล้วการแบ่งกลุ่มโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์นี้ไม่จำเป็นเสมอไป ในทางปฏิบัติแพทย์มักจะแบ่งตามสุขภาพและความสามารถในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุมากกว่า เพราะผู้ใหญ่วัย 85 บางท่านอาจจะแข็งแรงกว่าผู้ที่อยู่ในวัย 75 ก็ได้” พญ.ลิลลี่กล่าว
การแพทย์เพื่อผู้สูงอายุ
ไม่ว่าจะกลุ่มอายุใด ลักษณะพิเศษของผู้สูงอายุคือ มีปัญหาสุขภาพหลายๆ ด้านพร้อมกัน ดังนั้นเวชศาสตร์ผู้สูงอายุจึงต้องอาศัยการมองแบบภาพรวมเพื่อให้สามารถดูแลปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พญ.ลิลลี่ยกตัวอย่างการทำงานของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุว่า “ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีอาการเวียนศีรษะ ผู้ดูแลมักเข้าใจว่าต้องพบแพทย์เฉพาะทางแต่ก็ไม่ทราบจะเริ่มต้นไปพบแพทย์ด้านไหน หน้าที่ของเราคือดูภาพรวมโดยการประเมินเบื้องต้นก่อนว่าจะส่งต่อทางไหน เพราะอาการเวียนศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น น้ำในหูไม่สมดุล เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอความดันตก เลือดจาง หรือแม้กระทั่งความเครียด”
เรื่องการใช้ยาซ้ำซ้อนกันก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคหลายโรค ตรวจรักษากับแพทย์หลายท่าน อาจทำให้มียาบางชนิดซ้ำซ้อนกันได้ “กรณีอย่างนี้ต้องอาศัยเภสัชกรคลินิกเข้ามาช่วยดูชนิดและขนาดของยาที่ได้รับว่าเหมาะสมหรือไม่ มียาบางประเภทที่เราไม่อยากให้ผู้สูงอายุใช้ เพราะอาจจะทำให้ซึมลง สับสน หรือหกล้มได้”
นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุจะต้องทำงานเป็นทีมแบบสหสาขาวิชาชีพ โดยมีการประสานงานกับแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ รวมถึงทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน “การดูแลผู้สูงอายุไม่ได้ต้องการแพทย์เพียงคนเดียว แต่ต้องการทีมงานที่เข้าใจโรคของผู้สูงอายุมาทำงานร่วมกัน ช่วยกันประเมินผู้สูงอายุในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพทั่วไป สมรรถภาพของสมองสภาพแวดล้อมมีความเสี่ยงเรื่องจะหกล้มหรือไม่ การรับประทานอาหารเป็นอย่างไร รวมไปถึงสภาพอารมณ์และจิตใจด้วย
หลักการทำงานที่สำคัญคือ เรายึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง พยายามดูแลให้มีความสุขกายสบายใจให้มากที่สุด เหมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ของเรา” พญ.ลิลลี่กล่าวสรุป
ความตั้งใจที่จะมีสุขภาพร่างกายที่ดีบวกกับความช่วยเหลือของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปที่ผู้สูงอายุในปัจจุบันจะมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพและมีความสุข
รู้จักกับ “ คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ ”
เพราะสุขภาพที่ดีและกระฉับกระเฉงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงริเริ่มให้มี คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ เพื่อให้บริการแบบองค์รวมแก่ผู้สูงอายุโดยทีมสหสาขาวิชาชีพซึ่งประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ทันตแพทย์ผู้มีความชำนาญด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เภสัชกรคลินิก นักโภชนาการ และนักกายภาพบำบัด
ทั้งนี้ บริการเพื่อผู้สูงอายุครอบคลุมตั้งแต่การดูแลสุขภาพทั่วไปการดูแลเชิงป้องกัน การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ไปจนถึงการจัดการปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน อาทิ
- การประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุมโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยเน้นสภาวะโดยทั่วไปของผู้สูงอายุ เช่น สมองเสื่อม ซึมเศร้า กระดูกพรุน
- การประเมินเพื่อตรวจคัดกรองภาวะการสูญเสียความจำก่อนวัยอันควร
- การประเมินเพื่อตรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
- การประเมินความเสี่ยงต่อการลื่นและหกล้มในผู้สูงอายุ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
- การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ พร้อมให้คำปรึกษาโดยแพทย์และนักโภชนาการ
- การประเมินการบริหารยาที่เหมาะสม อันตรายจากการใช้ยา รวมถึงผลจากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ พร้อมให้คำปรึกษาโดยเภสัชกร
- การแนะนำการเข้ารับวัคซีนที่เหมาะสมในผู้สูงอายุ
- การประเมินก่อนการผ่าตัดและการติดตามอาการหลังการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องได้รับการผ่าตัด
- การประสานงานกับองค์กรต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านเพื่อความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ
- การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเกี่ยวกับหนังสือยินยอมในการรักษาระยะสุดท้ายและการดูแลแบบประคับประคอง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 16 มีนาคม 2565