ไม่เพียงดูแลทารกที่มีภาวะผิดปกติเท่านั้น
NICU บำรุงราษฎร์
เพิ่มขีดความสามารถ เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลทารกแรกเกิดทุกคน
ความสุขใจของการให้กำเนิดทารกอาจแปรเปลี่ยนเป็นความกังวลใจ สัมผัสแรกที่รอคอยอาจกลายเป็นการเฝ้ามองผ่านตู้กระจกที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพราะการให้กำเนิดทารกย่อมมีความเสี่ยงไม่มากก็น้อย การวางชีวิตใหม่ไว้ในมือผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นความปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน ปัจจุบันแพทย์พบว่าความผิดปกติระหว่างการตั้ง ครรภ์และการคลอดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่มารดาอายุมากขึ้นมีโรคแทรกซ้อน รวมถึงกรณีครรภ์แฝดทั้งจากธรรมชาติและจากการใช้ เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ที่อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
ชีวิตน้อยๆ ที่บอบบางเหล่านี้ต้องการการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความชำนาญและอุปกรณ์การแพทย์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษและนี่คือที่มาของ NICU Better Health ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.พญ.อรดี จันทวสุ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด มาเล่าให้เราฟังถึงภาพรวมของ
แผนก NICU โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และบทบาทความ รับผิดชอบใหม่ที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม
NICU คืออะไร
NICU หรือ Neonatal Intensive Care Unit เป็นแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด ภายใต้ศูนย์เวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ซึ่งเป็นแผนกที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของทั้งมารดาและทารก ในครรภ์ตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงหลังคลอด โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในสาขากุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ร่วมกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดา และทารกในครรภ์
ดังนั้น เป้าหมายของ NICU คือการดูแลทารกแรกเกิดให้ปลอดภัยจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันตั้งแต่ในห้องคลอดจนกระทั่งทารกมีร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะกลับบ้าน
ความผิดปกติมีอะไรบ้าง
ความผิดปกติของทั้งมารดาและทารกนั้น ครอบคลุมอาการและความเสี่ยงทุกชนิด โดยในส่วนของมารดาภาวะครรภ์เสี่ยงที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น เป็น
โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต
ครรภ์เป็นพิษ มีประวัติเคยคลอดบุตรก่อนกำหนด มีประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ปกติ เป็นต้น
ส่วนทารกแรกเกิดที่มีความผิดปกติและต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทารกแฝดสองขึ้นไป ทารกแรกเกิดที่ตรวจพบมีอาการผิดปกติทุกระบบ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ระหว่างคลอด ไม่ว่าจะเป็น การคลอดที่ใช้ระยะเวลาในระหว่างการคลอดยาวนานเกินไป คลอดยาก เกิดการอักเสบ แม่มีไข้ น้ำคร่ำเปลี่ยนสีคล้ายสีอุจจาระ (มีขี้เทาปะปน) หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าก้น ท่าขวาง และอื่นๆ
“ที่บำรุงราษฎร์ เราพบทารกแรกเกิดที่อยู่ในภาวะผิดปกติประมาณร้อยละ 20 ของทารกทั้งหมดทั้งที่คลอดที่นี่และที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น”
ศ.พญ.อรดี จันทวสุ กล่าว
ดูแลทารกแรกเกิดทุกคน
การดูแลมารดาและทารกนั้น เป็นการทำงานร่วมกันของกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด และสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ “หากคุณแม่มีภาวะครรภ์เสี่ยง ช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์ ทีมสูตินรีแพทย์จะเป็นทีมหลักที่ดูแล จนกระทั่งอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ทีม NICU จะเข้าไปเป็นทีมเสริม ช่วยวางแผนและให้คำปรึกษา แต่หลังจากทารกคลอด
แล้วเราจะสลับบทบาทกัน คือหน้าที่หลักเป็นของทีม NICU โดยมีทีมสูตินรีแพทย์เป็นทีมเสริม เพราะสูตินรีแพทย์ดูแลคุณแม่มาตลอด 8-9 เดือนก่อนคลอด จะรู้จักผู้ป่วยได้ดีกว่า ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและต่อเนื่อง”
การดูแลทารกที่มีภาวะผิดปกติใน NICU จะดำเนินต่อไปจนกว่าทารกจะเข้าสู่ภาวะปกติ และเป็นที่น่ายินดีว่าด้วยศักยภาพของทีมแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์สามารถให้ บริการดูแลทารกแรกคลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
“ไม่ว่าจะเป็นทารกภาวะวิกฤติหรือภาวะปกติก็จะได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิดเช่นเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนวางใจได้ว่าลูกน้อยจะได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างแท้จริง” ศ.พญ.อรดี กล่าว
ความพร้อมระดับ IV หรือระดับสูงสุด
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการให้บริการดูแลทารกแรกเกิดระยะวิกฤตินั้น ถูกแบ่งออกเป็น 4 ลำดับชั้นตามความพร้อมและความเชี่ยวชาญของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เทคโนโลยีที่ใช้ ความซับซ้อนของ ภาวะเสี่ยง สถิติการรักษาต่อปี การจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และอีกหลายกฎเกณฑ์ซึ่งกำหนดโดย American Academy of Pediatrics ทั้งนี้แ
ผนก NICU โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้รับการจัดอยู่ในระดับ IV (level IV) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการดูแลทารกแรกเกิด โดยระดับ I (well newborn nursery) เป็นการดูแลพื้นฐานสำหรับทารกแรกคลอดที่มีภาวะปกติ ส่วนระดับ II (special care nursery) เป็นการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ และน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 1,500 กรัม
“สำหรับระดับ III (NICU) เป็นการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีอายุน้อยกว่า 32 สัปดาห์ น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 1,500 กรัม สามารถดูแลทารกอาการหนักได้ รวมทั้งมีผู้ชำนาญพิเศษ จักษุแพทย์เด็ก และทำการ ผ่าตัดทารกได้ ส่วนระดับ IV (regional NICU) คือระดับ III ที่มีการรับทารกจากสถาบันอื่น มีการผ่าตัดเฉพาะทาง เช่น หัวใจ สมอง และอื่นๆ รวมทั้งมีการให้ความรู้แก่สังคมและสถาบันต่างๆ” ศ.พญ.อรดี อธิบายเพิ่มเติม
ทีมเวิร์คคือหัวใจ
ไม่เพียงแพทย์เฉพาะทางต่างสาขาเท่านั้นที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม สำหรับ NICU แล้ว แพทย์ พยาบาลและคุณพ่อคุณแม่คือทีมเดียวกัน “พยาบาลประจำ NICU ทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมการดูแลทารกแรกเกิดโดยเฉพาะและพร้อมที่จะดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีคุณพ่อคุณแม่ร่วมอยู่ในกระบวนการดูแลมากเท่าที่จะเป็นไปได้ จนเรามั่นใจว่าทารกทุกคนแข็งแรงดีแล้ว คุณแม่สามารถดูแลเองได้ จึงจะอนุญาตให้ออกจาก NICU” และแม้จะออกจาก NICU แล้ว แพทย์ยังคงต้องติดตามพัฒนาการของทารกอย่างต่อเนื่อง “การได้รู้ว่าเด็กๆ เติบโตแข็งแรงมีสุขภาพดี ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” ศ.พญ.อรดี กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 03 พฤศจิกายน 2563