bih.button.backtotop.text

แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมหรือข้อสะโพกเทียมจะสามารถใช้งานได้ดีมาก และไม่ต้องทนปวดทรมานจากปัญหาที่เกิดจากความเสื่อมของข้อเข่าหรือข้อสะโพกเหมือนอาการปวดก่อนการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่แม้จะผ่าตัดข้อเทียมไปแล้วยังคงมีปัญหาอาการปวดอยู่ ซึ่งในวันนี้จะมาเล่าสู่กันฟังว่ามีสาเหตุจากอะไรได้บ้างครับ


ความสำเร็จในการผ่าตัดข้อเทียมขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ

  • แพทย์ผู้ทำผ่าตัด ต้องยอมรับความจริงว่าแพทย์แต่ละท่านมีความชำนาญไม่เท่ากัน และแม้แพทย์ออร์โธปิดิกส์ทุกท่านสามารถทำผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมได้ แต่ความชำนาญและประสบการณ์ในการผ่าตัดข้อเทียมนั้นไม่เท่ากัน ผลการผ่าตัดจึงอาจมีความแตกต่างกันได้
  • เทคนิคและเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด เช่น การใช้เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ (computer navigation) เพื่อเพิ่มความแม่นยำและช่วยลดความคลาดเคลื่อนในการผ่าตัด หรือใช้เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด (robotic navigation) เพื่อเพิ่มความ แม่นยำในการเตรียมผิวกระดูกของผู้ป่วยในการวางผิวข้อเทียมให้ได้ผลดีที่สุด และให้สามารถใช้งานหลังผ่าตัดได้ดีที่สุดโดยเต็มประสิทธิภาพของชนิดของข้อเทียมที่เลือกใช้
  • ชนิดของข้อเทียม ในปัจจุบันมีข้อเทียมที่มีคุณภาพแตกต่างกันให้เลือกหลายชนิด และมีการพัฒนาวัสดุข้อเทียมที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น จากที่เคยคาดหวังจะใช้งานได้ 5-10 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 20-30 ปี
  • ปัจจัยตัวคนไข้เอง ที่จะสามารถดูแลการใช้งานข้อเทียมให้ถูกต้องตามที่แพทย์แนะนำ หากใช้งานข้อเทียมหลังผ่าตัดไม่เหมาะสมจะทำให้ข้อเทียมมีการสึกหรอเร็วขึ้นและทำให้อายุการใช้งานลดลง ทำให้มีอาการปวดข้อ และอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไขใหม่

สำหรับอาการปวดหลังผ่าตัดข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียมนั้นสามารถแก้ไขได้ แต่จะแก้ไขด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยสามารถแบ่งสาเหตุได้ออกเป็นหลายอย่างด้วยกัน ที่สำคัญที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่

  • การติดเชื้อ เป็นภาวะที่ต้องรีบรักษาโดยด่วน โดยจะมีอาการปวดตลอดเวลาไม่ว่าจะเคลื่อนไหวหรือไม่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ร่วมกับมีอาการบวม แดง ร้อน และอาจมีใข้ร่วมด้วย ภาวะนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากการติดเชื้อนั้นยังไม่รุนแรงจะสามารถรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ แต่หากการติดเชื้อนั้นรุนแรงอาจต้องทำการผ่าตัด
  • ภาวะข้อตึงหรือยึดติด จะมีอาการปวดตึงเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว ทำให้เคลื่อนไหวข้อได้น้อย ภาวะนี้อาจพบเป็นปกติในระยะแรกหลังผ่าตัด ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด โดยผู้ป่วยต้องมีกำลังใจและมีความอดทนในช่วงแรกหลังได้รับการผ่าตัด แต่หากภาวะยึดติดของข้อเป็นมากและไม่สามารถแก้ไขได้โดยการทำกายภาพบำบัด อาจจำเป็นต้องมีการดัดข้อในห้องผ่าตัด (manipulation) หรือในบางกรณีที่เป็นมากสามารถผ่าตัดแก้ไขได้
  • ภาวะข้อหลวมไม่มั่นคง จะมีอาการปวดภายหลังเดินไปได้สัก ระยะหนึ่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกเดินได้ไม่มั่นคงหรืออาจรู้สึกไม่มีแรง ขึ้นลงบันไดไม่สะดวก ถ้าพบตั้งแต่ในช่วงแรกหลังผ่าตัดอาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนในระหว่างผ่าตัด แต่หากมีอาการหลังจากผ่าตัดไปนานหลายปี อาจเกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็นของผู้ป่วยเอง หรืออาจเกิดจากการสึกหรอของข้อเทียมภายหลังใช้งานมาเป็นเวลานาน หากอาการเป็นไม่มาก สามารถแก้ไขได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อหรือการใส่อุปกรณ์ภายนอกเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อเทียมนั้น แต่หากเป็นมากอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดซึ่งสามารถแก้ไขได้
  • ภาวะการวางตำแหน่งข้อเทียมไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อโดยไม่มีอาการบวมแดง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวกหรือมีอาการติดขัด โดยจะมีอาการตั้งแต่หลังผ่าตัด ทำกายภาพก็ไม่หาย ภาวะนี้วินิจฉัยได้จากภาพเอกซเรย์และการตรวจร่างกาย ภาวะนี้เกิดจากความคลาดเคลื่อนในการผ่าตัดโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจขึ้นกับความ ชำนาญของแพทย์ผู้ทำผ่าตัดและประเภทเครื่องมือที่ใช้ช่วยในระหว่างทำการผ่าตัด ภาวะนี้หากเป็นไม่มากอาจแก้ไขด้วยการรับประทานยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว แต่หากเป็นมากมักจำเป็นต้องรักษาด้วยการทำผ่าตัดแก้ไข

ดังนั้นแม้ในปัจจุบันการผ่าตัดข้อเข่าข้อสะโพกเทียมจะได้ผลดีมาก แต่ก็มีโอกาสเกิดปัญหาหลังผ่าตัดได้ ก่อนตัดสินใจทำผ่าตัดข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียม ผู้ป่วยจึงควรที่จะให้ความสำคัญในการเลือกแพทย์ผู้ผ่าตัดที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความชำนาญในด้านการผ่าตัดข้อเทียมโดยตรง ควรเลือกใช้ข้อเทียมที่มีคุณภาพสูง ไม่ใช่เน้นที่ราคาถูก เพราะอาจมีอายุการใช้งานที่ไม่นาน และหากสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการผ่าตัดได้ ก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดความคลาดเคลื่อนในระหว่างทำผ่าตัด สุดท้ายควรเลือกทำผ่าตัดในโรงพยาบาลที่มีข้อมูลพิสูจน์ได้ถึงความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสถิติในด้านการติดเชื้อหลังผ่าตัดข้อเทียม แต่อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาหลังผ่าตัดข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียมสามารถทำการผ่าตัดแก้ไขได้ ส่วนจะแก้ไขอย่างไรนั้นโปรดติดตามในบทความครั้งต่อไปครับ

สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้ว่า “ก่อนผ่าตัดข้อเทียม พิจารณาเลือกคุณภาพสักนิด เพื่อความสุขที่ยั่งยืนหลังผ่าตัด”



ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ อาคาร A ชั้น 20 เคาน์เตอร์ D
เปิดบริการทุกวัน 08.00-20.00 น.
โทร. 02-066-8888 หรือ 1378

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs