bih.button.backtotop.text

ถาม-ตอบ ปัญหาสุขภาพ

Q: หลานสาวเพิ่งเข้าโรงเรียนอนุบาล มีปัญหาติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ จะมีทางป้องกันได้หรือไม่คะ

A: ปัญหานี้พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่เพิ่งไปโรงเรียนโดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงซึ่งมีความแตกต่างทางสรีระ เพราะเมื่อเด็กไม่คุ้นเคยกับห้องน้ำ เขาจะกลั้นปัสสาวะ ยิ่งถ้าห้องน้ำไม่สะอาดเหมือนที่บ้านก็จะยิ่งรังเกียจแล้วไม่ยอมเข้า บางคนพยายามดื่มน้ำน้อยๆ เพื่อจะได้ไม่ปวดปัสสาวะซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่าย หรือบางครั้งเด็กยังไม่รู้จักวิธีทำความสะอาดหลังขับถ่ายทำให้หมักหมมเกิดการติดเชื้อตามมาได้

วิธีป้องกันคือต้องบอกเด็กว่าสาเหตุของโรคเกิดจากอะไร สอนว่าอย่ากลั้นปัสสาวะและต้องดื่มน้ำให้มากขึ้น หลังการขับถ่ายก็ต้องชำระล้างให้ถูกวิธีจะได้ไม่ต้องมาหาหมออีก ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะเข้าใจ ส่วนผู้ปกครองก็ควรอาบน้ำให้เด็กทันทีที่ถึงบ้าน อย่าปล่อยให้หมักหมมต่อ เท่านี้ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ค่ะ

ผศ.พญ.พนิดา ดุสิตานนท์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตในเด็ก


Q: ทราบว่าปัจจุบันแพทย์สามารถผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมพร้อมๆ กับเสริมเต้านมใหม่ได้ในคราวเดียว ไม่ทราบว่าวิธีนี้มีข้อจำกัดหรือมีผลข้างเคียงในระยะยาวหรือไม่คะ

A: ก่อนอื่นต้องเรียนว่า การเสริมเต้านมให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นทำได้ 2 วิธีคือ ใช้เนื้อตัวเอง เช่น บริเวณท้องน้อยหรือหลัง กับการใช้ซิลิโคน ซึ่งทั้งสองวิธีก็มีข้อจำกัดต่างกัน เช่น การใช้เนื้อบริเวณท้องน้อยไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปจนเป็นโรคอ้วน เป็นโรคเบาหวานหรือมีปัญหาหลอดเลือด เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ หรือกรณีใช้เนื้อที่หลัง ถ้าคนผอมมากมักจะได้เนื้อมาน้อยทำให้รูปร่างไม่สมดุล ส่วนการใช้ซิลิโคนนั้นไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ มีขนาดเต้านมใหญ่ หรือผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องฉายแสงหลังการผ่าตัด ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เนื้อตัวเองร่วมกับซิลิโคน
 

ส่วนผลข้างเคียงนั้น เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้เวลานานกว่าปกติ โอกาสติดเชื้อหรือมีเลือดออกก็จะมากตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายโรค หรือผู้ป่วยสูงอายุ และในกรณีของการใช้ซิลิโคนนั้น ในระยะยาวอาจมีปัญหาพังผืดเช่นเดียวกับการเสริมเต้านมเพื่อความงาม นอกจากนี้ การที่ต้องตัดเนื้อเต้านมของผู้ป่วยออกทั้งหมดทำให้เหลือผิวหนังค่อนข้างบาง เมื่อใส่ซิลิโคนเข้าไปก็จะไม่ได้รูปลักษณ์และสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าหลักการของเราคือ ความปลอดภัยจากโรคมะเร็งต้องมาก่อนความสวยงาม

ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา
 

Q: ผมเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ปัจจุบันไม่ได้อ้วนมาก แต่คุณหมอก็บอกให้ลดน้ำหนัก ซึ่งผมยังลดไม่ได้สักที ถ้าปล่อยให้น้ำหนักเกินต่อไปจะเป็นอันตรายหรือไม่ และถ้าลดจะต้องลดลงมากแค่ไหนครับ

A: ไม่ได้อ้วนมากก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าไม่มีปัญหานะครับ เพราะบางครั้งไขมันก็อยู่ในพุง ซึ่งอันตรายกว่าไขมันส่วนอื่นเสียอีก เพราะฉะนั้นคนอ้วนลงพุงจะอันตรายกว่าคนอ้วนที่สะโพก เช่น มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่า

การที่คุณหมอแนะนำให้ลดน้ำหนักก็แสดงว่าน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง โรคไขมันในเลือด โรคความดันโลหิตสูง ไขมันเกาะตับทำให้ตับแข็ง ตามมาด้วยโรคข้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เรียกว่าความอ้วนนำพามาได้ทุกโรค แต่จะต้องลดลงแค่ไหนก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

การแก้ไขโรคอ้วนต้องอาศัยพลังใจของผู้ป่วยเอง คนรอบข้างจะบอกจะบังคับอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จถ้าผู้ป่วยไม่ตั้งใจจริง แต่ถ้าตั้งใจจริงและต้องการคนช่วย แพทย์ช่วยได้แน่นอนครับ เรามีโปรแกรมลดน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคเบาหวานและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ มีเครื่องมือที่จูงใจให้ผู้ป่วยปฏิบัติตาม ซึ่งเมื่อเริ่มทำได้ก็จะมีกำลังใจที่จะทำต่อไป

ผศ.นพ.วราภณ วงศ์ถาวราวัฒน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน) และเมตาบอลิสม

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 09 มกราคม 2563

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs