มะเร็งเต้านมคืออะไร
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อของเต้านม พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ เซลล์มะเร็งที่เริ่มต้นแพร่กระจายจากท่อน้ำนม (Infiltrating ductal carcinoma) พบได้ 70-80% รองลงมาคือจากเนื้อเยื่อที่หลั่งน้ำนม (Infiltrating lobular carcinoma) พบได้ 8% หรือจากทั้งส่วนของท่อน้ำนมและเนื้อเยื่อที่หลั่งน้ำนม (Mixed ductal/lobular carcinoma) พบได้ 7% และอื่นๆ อีก 5% เซลล์มะเร็งเหล่านี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่หลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลือง และไปยังอวัยวะอื่นทั่วร่างกาย การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งเต้านมให้พบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย
สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม
ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้
- พันธุกรรม: ผู้ที่มีความผิดปกติของยีน โดยเฉพาะยีน BRCA1 และยีน BRCA2 ซึ่งทำหน้าที่ผลิตโปรตีนและควบคุมการแบ่งตัวของท่อน้ำนมและต่อมน้ำนมให้เป็นปกติ หากยีนดังกล่าวเกิดการกลายพันธุ์จะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์และเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้
- ระดับฮอร์โมน: ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เช่น ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี ผู้ที่หมดประจำเดือนเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี หรือผู้ที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
- ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว: หากมีญาติสายตรงที่เป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
- อายุ: ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยอายุระหว่าง 30-39 ปี จะมีโอกาสเกิดโรค 0.44% และอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดโรค 3.5%
- พฤติกรรม: การดื่มแอลกอฮอล์ การมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้
อาการของมะเร็งเต้านม
อาการของมะเร็งเต้านมสามารถแสดงได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงมีความผิดปกติที่แสดงออกมาบริเวณเต้านม หากพบอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสม
- คลำพบก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้
- มีการเปลี่ยนแปลงของขนาดหรือรูปร่างของเต้านม เช่น มีอาการบวม ผิดรูป ไม่สมมาตร โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นที่เต้านมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น เต้านมแดง มีรอยกดบ่ม ผิวหนังหดย่น หรือหนาตัวคล้ายเปลือกส้ม
- การเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น มีการหดตัว เลือดออกทางหัวนม แดง บวม
- อาการปวด เช่น ปวดบริเวณเต้านมหรือหัวนม
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม
การตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาและการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ ซึ่งวิธีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน ได้แก่
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (Breast cancer screening) สามารถช่วยให้ตรวจพบพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โดยพบว่าผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 99% หากตรวจพบมะเร็งเต้านมและทำการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
- การตรวจเมมโมแกรม (Mammography) กระบวนการตรวจโดยใช้เอกซเรย์พลังงานต่ำถ่ายภาพของเต้านม เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเต้านม
- การอัลตราซาวด์ (Breast ultrasound) การตรวจหาความผิดปกติของเต้านมโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อ
- การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง
- การเจาะชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อระบุสาเหตุของก้อนหรือสิ่งผิดปกติในเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมสามารถรักษาได้ โดยวิธีการรักษาในปัจจุบันมี 6 วิธี ดังนี้
- การผ่าตัด (Surgery): มักใช้เป็นวิธีหลักในการรักษามะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่
- 1 Lumpectomy คือ การตัดก้อนเต้านมออกเพียงบางส่วน เหมาะกับมะเร็งที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 4 เซนติเมตร และยังไม่แพร่กระจายไปที่อื่น
- 2 Mastectomy คือ การตัดเต้านมออกทั้งหมด อาจมีการพิจารณาร่วมกับการเสริมเต้านมซึ่งส่งผลดีต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย
- 3 Sentinel lymph node biopsy คือ การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ แบ่งออกเป็นการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเพียงบางส่วน และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด
- รังสีรักษา (Radiation therapy): มักทำหลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ และลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตาม อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการบวมแดง และผิวหนังลอก บริเวณที่ได้รับรังสี
- เคมีบำบัด (Chemotherapy): ยาเคมีบำบัดรักษาโดยป้องกันการแบ่งตัวและยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง สามารถใช้ได้กับมะเร็งเต้านมลุกลามทุกระยะ แบ่งออกเป็น
- การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งจนสามารถทำการผ่าตัดได้ (neoadjuvant chemotherapy)
- การให้ยาเคมีบำบัดหลังจากผ่าตัดมะเร็งเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ (adjuvant chemotherapy)
- การรักษาโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย (metastatic breast cancer)
การให้ยาเคมีบำบัดมักใช้ยามากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้ผ่านทางการฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือการรับประทาน ยาดังกล่าวจึงออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกาย ในการให้ยาเคมีบำบัดจะมีการให้เป็นรอบ (cycle) ห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัดที่แพทย์เลือกใช้ โดยรวมใช้เวลารักษาประมาณ 3-6 เดือน แต่ระยะเวลาอาจนานกว่านี้ได้หากเป็นการรักษามะเร็งที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายแล้ว
เนื่องจากยาเคมีบำบัดสามารถออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกาย จึงอาจกระทบต่อเซลล์ปกติในร่างกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ที่มีการแบ่งตัวรวดเร็ว ทำให้ผมร่วง เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเล็บ เป็นแผลในช่องปาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดในช่วงแรกที่ได้รับยาเคมีบำบัด และร่างกายจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงที่มีการเว้นให้ยาเคมีบำบัด
- การใช้ยาต้านฮอร์โมน (Hormone therapy): ใช้รักษามะเร็งเต้านมที่มีการตรวจพบตัวรับฮอร์โมนในเซลล์มะเร็ง ได้แก่ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (Estrogen receptor, ER+) ตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นบวก (Progesterone receptor, PR+) หรือพบตัวรับทั้งสองฮอร์โมนเป็นบวก (Estrogen/Progesterone receptor, ER/PR+) ยาต้านฮอร์โมนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้
- ยาที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน (Selective Estrogen Receptor Modulators: SERMs)
Tamoxifen มีข้อบ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (metastatic breast cancer) ที่มีตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวกและใช้ในการรักษาเสริม (adjuvant therapy) ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกที่ตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวก ยา Tamoxifen สามารถให้เดี่ยวหรือให้ร่วมกับยาเคมีบำบัดตัวอื่นได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้ทั้งในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนแล้ว ยาอยู่ในรูปแบบยาเม็ด รับประทานวันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น
ผลข้างเคียงของยาพบได้น้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด โดยพบว่ามีอาการคล้ายวัยหมดประจำเดือน เช่น มีอาการร้อนวูบวาบ ตกขาว เลือดออกกะปริบกะปรอย คลื่นไส้ เมื่อยล้า
- ยาที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน (Aromatase Inhibitors: AIs)
ยากลุ่ม Aromatase Inhibitors จะลดการสร้างฮอร์โมน estradiol ในร่างกาย โดยทั่วไปใช้กับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว สำหรับผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือน อาจให้ร่วมกับยาที่ยับยั้งการทำงานของรังไข่ (Ovarian suppression) หรือพิจารณาผ่าตัดเอารังไข่ออก ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Anastrozole, Exemestane และ Letrozole ซึ่งอยู่ในรูปแบบยาเม็ด รับประทานวันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น
ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อย ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงมีอาการปวดในกระดูกหรือข้อต่อ
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy): ยากลุ่มนี้ใช้รักษามะเร็งเต้านมที่มีการตรวจพบตัวรับ HER2 เป็นบวก (HER2-positive) โดยยาจะออกฤทธิ์จับกับตัวรับ HER2 ที่อยู่บนผิวของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการสร้างยีน HER2 ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้นและลดผลข้างเคียงของยาลง ยาต้านตัวรับ HER2 มีทั้งในรูปแบบบริหารผ่านทางหลอดเลือดดำ เช่น Trastuzumab, Pertuzumab, T-DM1 และในรูปแบบรับประทาน เช่น Lapatinib
ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล สำหรับมะเร็งระยะเริ่มแรกจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงกลับมาเป็นโรคซ้ำ ส่วนมะเร็งระยะแพร่กระจาย อาจใช้ยาต่อเนื่องหากยายังคงมีประสิทธิภาพในการรักษา ผลข้างเคียงของยาที่พบได้บ่อย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อยล้า หากใช้ร่วมกับเคมีบำบัดควรพิจารณาผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
- การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy): การรักษาโดยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้ยาที่ส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้กับมะเร็งเต้านมชนิดไม่มีตัวรับฮอร์โมนและไม่มีตัวรับ HER2 ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dostarlimab และ Pembrolizumab
การบริหารยาให้ผ่านทางหลอดเลือดดำทุก 3 หรือ 6 สัปดาห์ ผลข้างเคียงของยาที่พบได้ เช่น อ่อนเพลียเมื่อยล้า คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ไอ ท้องผูก ท้องเสีย โลหิตจาง ปฏิกิริยาจากการให้ยาทางหลอดเลือดดำ (infusion reactions) และภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune reactions)
จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีความซับซ้อน จึงควรปรึกษากับแพทย์เพื่อกำหนดแผนการรักษาที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของโรค การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 มกราคม 2568