bih.button.backtotop.text

โรคภูมิแพ้ในเด็ก

อาการฟึดฟัดคัดจมูกเล็กๆ น้อยๆ หรืออาการผื่นแพ้ที่ดูเหมือนมากวนใจลูกเล่นๆ ไม่น่ามีผลรุนแรงกับการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่ หลายๆ ครั้งผู้ปกครองจึงมักมองข้าม โดยไม่รู้เลยว่าโรคภูมิแพ้ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลต่อคุณภาพชีวิตและการเจริญเติบโตของเด็กมากกว่าที่คิด
 

รู้แพ้-รู้ภัย 

บางครั้ง อาการของภูมิแพ้ไม่ได้ต่างไปจากการเป็นหวัด แต่ที่มาที่ไปของอาการนั้นไม่เหมือนกัน ภูมิแพ้ของแท้นั้นมาจากการที่ภูมิในร่างกายมีปฏิกริยากับสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งแวดล้อมบางอย่างไวกว่าคนปกติ ซึ่งสิ่งนี้อาจได้มาจากทางพันธุกรรม แปลว่าถ้าพ่อแม่เป็นเป็นไปได้ว่าลูกก็มีโอกาสจะเป็นได้เช่นกัน
อาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเป็นหนึ่งในรูปแบบของภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจมีอาการไอ จาม ไปจนถึงนอนกรนร่วมด้วย หากหนักหน่อยก็อาจหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ (Sleep Apnea) แต่นั่นไม่ใช่อาการภูมิแพ้แบบเดียวเท่านั้น ภูมิแพ้สามารถแสดงตัวออกมาได้ทางอื่นๆ อีก เช่น ภูมิแพ้ทางผิวหนัง คนที่มีอาการอาจมีผื่นขึ้นยุบยับ หรือกินอาหารบางอย่างแล้วมีจุดแดงขึ้นตามผิว หากแพ้มากอาจหายใจไม่ออกถึงขั้นตัวเขียวได้ ส่วนภูมิแพ้อีกกลุ่มคือภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหาร เด็กบางคนอาจอาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องบ่อย ถ่ายเป็นมูกเลือดเมื่อทานอาหารบางอย่างเข้าไป ซึ่งระดับอาการแพ้ไต่ระดับไปจนถึงรุนแรงได้เมื่อเกิดการเรื้อรัง

การพาเด็กมาพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย คือทางออกเริ่มต้นสำหรับผู้ไม่อยากแพ้ สำหรับคนไข้รายที่จำเป็น แพทย์จะทดสอบว่าเด็กแพ้สารใดบ้าง ส่วนใหญ่มักเลือกทดสอบเฉพาะสารที่เด็กมีแนวโน้มว่าจะแพ้ โดยก่อนการทดสอบควรหยุดยาแก้แพ้ประมาณ 5-7 วัน ซึ่งวิธีทดสอบมี  2 วิธีหลักๆ ดังนี้
  1. สะกิดให้รู้ : การใช้ปลายเข็มสะกิดผิวหนังหรือการปั๊ม โดยทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลากหลายถึงกว่า 100 ชนิด ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำและทราบผลได้รวดเร็วภายใน 20 นาที
  2. ตรวจเลือดให้ชัด : ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทำการทดสอบแบบแรกได้เนื่องจากมีอาการแพ้ที่รุนแรงมาก หรือผิวหนังไม่ปกติพอที่จะทำการทดสอบได้ ส่วนการตรวจเลือดอย่างละเอียด (component resolved diagnosis) จะตรวจเมื่อแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นหรือมีส่วนในการบอกผลของการรักษา เช่น บอกได้ว่าเด็กแพ้โปรตีนจากไข่สุกหรือไข่ดิบเป็นต้น
ข้อที่ควรรูู้คือยากนักที่คนเราจะเลิกแพ้และหายสนิทได้ แต่อย่างน้อยที่สุด การตรวจหาสารที่แพ้ให้แน่ชัดจะทำให้เราสามารถจัดการสภาพแวดล้อมให้ลูกต้องเผชิญกับสิ่งที่แพ้ได้น้อยที่สุด โดยไม่ต้องตีขลุมเหมารวมหลีกเลี่ยงทุกอย่างจนอาจทำให้ใช้ชีวิตยากจนเกินไป

แพ้ประจำ ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า เกสรวัชพืช สปอร์เชื้อรา นม ไข่ กุ้ง ถั่ว หอย ปู ปลา แป้งสาลี ถั่วเหลือง
 

ปลอดภัยไว้ก่อน?

 “อันนู้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ควรกิน”  

เมื่อก่อนเรามักชินกันว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องหรือเด็กแรกเกิดควรหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่คนมักแพ้กัน แต่ปัจจุบัน The American Academy of Allergy, Asthma & Immunology (AAAAI) และ The American Academy of Pediatrics (AAP) ได้ให้แนวทางใหม่ว่าสตรีมีครรภ์และกำลังให้นมบุตรควรกินอาหารให้ครบหมู่ ส่วนเด็กเล็กที่ยังไม่มีอาการแพ้ใดๆ สามารถกินอาหารได้ทุกประเภท เช่น ไข่ นม แป้งสาลี เป็นต้น แถมผลของการหลีกเลี่ยงกลับไปในทิศทางตรงกันข้ามเพราะหากให้เด็กงดเว้นการรับประทานอาหารเหล่านั้นตั้งแต่ยังเล็กๆ ยิ่งมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาหารแพ้มากยิ่งขึ้น
  • ควรเริ่มให้ลองอาหารต่างๆ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มรับประทานอาหารแข็ง โดยให้ลองในปริมาณน้อยๆ ก่อน
  • ควรเลือกอาหารที่อยู่ในรูปแบบที่ไม่เสี่ยงต่อการติดคอ เช่น ควรป้อนอาหารชนิดอื่นก่อนจึงค่อยลองป้อนอาหารที่อาจเสี่ยงต่ออาการแพ้
  • หากเด็กมีความเสี่ยงอาการแพ้อาหาร หรือมีพ่อแม่ที่มีอาการแพ้อาหาร ขอคำแนะนำจากแพทย์น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 06 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs