โรคตับอักเสบบีเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus) ซึ่งสามารถติดต่อทางเลือด น้ำเชื้อ และน้ำคัดหลั่ง โดยติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน การใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน การเจาะหู และการติดเชื้อขณะคลอดจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก โดยในปัจจุบันวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อคือการได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี
ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีจะมีอาการอย่างไร
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเฉียบพลัน: ผู้ป่วยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 รวมถึงทารกที่ได้รับเชื้อจากมารดามักไม่มีอาการป่วย แต่ในบางรายอาจมีอาการแสดงดังนี้ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ ปวดข้อ โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการภายใน 6 เดือนหลังได้รับเชื้อ โดยจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้
- ระยะเรื้อรัง: ผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกได้หมดจะทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีระยะเรื้อรังมักไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่หากปล่อยไว้อาจมีการดำเนินไปของโรคเป็นโรคตับที่รุนแรงได้ เช่น โรคตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยในบางรายก็อาจยังไม่มีอาการแสดงของโรคอยู่ดี แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบว่าค่าการทำงานของตับนั้นผิดปกติไป
ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี
เด็กและวัยรุ่น:
- เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด และควรฉีดให้ครบภายใน 6-18 เดือน
- เด็กหรือวัยรุ่นที่อายุไม่เกิน 19 ปี และยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีมาก่อน
ผู้ใหญ่: บุคคลดังต่อไปนี้ควรได้รับวัคซีน
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป
- เป็นโรคตับหรือไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่กำลังล้างไต
- ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี
- มีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ
- บุคคลทั่วไปที่ต้องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
- ติดเชื้อเอชไอวี
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีหน้าที่ต้องสัมผัสกับเลือดของผู้อื่น
- มีประวัติฉีดยาเสพติดหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรคตับอักเสบบีสูง
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีมีวิธีการฉีดอย่างไร
ปกติแล้ววัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเข้าทางกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนหรือต้นขา ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ดังตาราง
เข็มที่ 1
|
เข็มที่ 2 |
เข็มที่ 3 |
เข็มแรกเริ่มต้นนับเป็นเดือนที่ 0 |
1 เดือน หลังจากเข็มแรก |
6 เดือน หลังจากเข็มแรก
|
พบว่ามากกว่าร้อยละ 95 ของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสามเข็มจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ และไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิซ้ำ ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ป่วยที่กำลังล้างไต
ควรทำอย่างไรหากไม่สามารถมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัด
หากผู้ป่วยไม่สามารถมารับการฉีดวัคซีนได้ตามเวลานัด โดยมาช้ากว่ากำหนด ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนเข็มต่อไปได้เลยโดยไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีนเพิ่มหรือเริ่มฉีดเข็มแรกใหม่
ใครไม่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี หรือควรชะลอไว้ก่อน
- ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยีสต์ทำขนมปังหรือส่วนประกอบของวัคซีนไม่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี
- ผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนโรคตับอักเสบบีหลังจากฉีดเข็มแรก เช่น มีอาการไข้สูง หายใจลำบาก ผื่นลมพิษ อ่อนเพลีย
หัวใจเต้นเร็ว ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีนตับอักเสบบีเข็มที่สอง
- ผู้ที่มีอาการป่วยปานกลางหรือป่วยมากควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีมีอะไรบ้าง
- อาการส่วนใหญ่ที่พบหลังฉีดวัคซีน คือ อาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดยาซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายได้เอง
- ร้อยละ 10 ของผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ อ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะหลังจากฉีดวัคซีน
- มักเริ่มมีอาการ 3-4 ชั่วโมงหลังฉีด และอาการจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
- อาการแพ้ที่รุนแรงนั้นพบได้น้อยมาก
อันตรกิริยาระหว่างยา (ผลต่อยาอื่น)
ยาบางตัวอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มนี้หรือกลุ่มอื่นๆ อยู่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนที่จะรับการฉีดวัคซีนตับอักเสบบี
เอกสารอ้างอิง
- Centers for Disease Control and Prevention. Hepatitis B. Available from: https://www.cdc.gov/hepatitis/hbv/ [Accessed 8 September 2021].
- Full prescribing information for Engerix-B. Research Triangle Park, NC: GlaxoSmithKline group of companies (US); 2021 Jun.
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 14 มกราคม 2568