ทำไมต้องรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ (Flu) เป็นโรคที่ติดต่อได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งถึงบุคคลหนึ่งโดยแพร่จากการไอ จาม หรือน้ำมูก
ใครๆ ก็สามารถติดไข้หวัดใหญ่ได้ แต่เด็กมีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุด อาการสามารถหายภายในสองสามวัน อาการแสดงได้แก่
- มีไข้/หนาวสั่น
- เจ็บคอ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เมื่อยล้า
- ไอ
- ปวดศีรษะ
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- อ่อนเพลีย
เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 2 สัปดาห์ และผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต หรือระบบภูมิต้านทานต่ำ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการป่วยหนักกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยมีอาการไข้สูง ปอดบวม และอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่มีอาการหนักขึ้นได้ สำหรับไข้หวัดใหญ่ในเด็กอาจเกิดอาการท้องเสียและชักได้
การได้รับการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันท่านจากไข้หวัดใหญ่หรือลดความรุนแรงของโรค และยังป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่สู่ผู้อื่นโดยเฉพาะคนในครอบครัว
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีใช้ในประเทศไทยเป็นวัคซีนเชื้อตายซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์หลัก (trivalent inactivated influenza vaccine) และชนิดที่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์หลัก (quadrivalent inactivated influenza vaccine) โดยแต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกันในแต่ละปี จึงแนะนำให้รับการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี ในแต่ละปีนักวิจัยจะบรรจุเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในปีนั้นลงไปในวัคซีน โดยวัคซีนนี้จะไม่ป้องกันความเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นหรือที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ไม่ได้บรรจุในวัคซีน
ร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิต้านทานต่อโรคโดยใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ และสามารถป้องกันได้หนึ่งปีโดยประมาณ
ใครควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายและเมื่อไร
บุคคลที่ควรได้รับวัคซีน
ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญมากสำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี
- เด็กอายุ 6-59 เดือน
- บุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
- บุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย
- หญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายเท่ากับ 40 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป)
- ผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว คือ โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคทางระบบประสาท โรคทางระบบโลหิตวิทยา หรือโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงาน เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคที่ทำให้ต้องใช้ยาแอสไพรินเป็นประจำ
- ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาเคมีบำบัดและการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
เมื่อไรที่ท่านควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ท่านควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำทุกปีโดยเร็ว เนื่องจากวัคซีนจะช่วยป้องกันได้หากฤดูไข้หวัดใหญ่เกิดเร็วขึ้น ในประเทศไทยโรคไข้หวัดใหญ่สามารถพบได้ตลอดปี แต่พบมากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน และช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ดังนั้นการได้รับวัคซีนเดือนธันวาคมหรือช้ากว่านั้นก็ยังสามารถได้รับประโยชน์จากวัคซีนได้
วิธีใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
อายุ |
ขนาด |
จำนวนเข็ม |
6 เดือนขึ้นไปจนถึง 9 ปี |
0.5 มิลลิลิตร |
1-2 (ห่างกัน 4 สัปดาห์)* |
ตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ |
0.5 มิลลิลิตร |
1 เข็ม |
*ฉีดจำนวน 2 เข็มหากเด็กไม่เคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน
ควรทำอย่างไรหากไม่สามารถมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัด
ควรปรึกษาแพทย์กรณีไม่สามารถมาฉีดวัคซีนนี้ตามกำหนดหรือเลยกำหนดออกไป โดยทั่วไปกรณีลืมเข็มที่ 2 สามารถฉีดต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สิ่งสำคัญคือควรมารับวัคซีนให้ครบตามขนาดที่แนะนำเพื่อประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีน
ข้อควรระวัง
บุคคลที่ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายหรือควรชะลอไว้ก่อน
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง (ถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิต) รวมถึงอาการแพ้ไข่อย่างรุนแรง
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคกิลแลง-บาร์เรซินโดรม (Guillain-Barre syndrome: GBS) ซึ่งเป็นอัมพาตชนิดหนึ่ง
- ผู้ที่ป่วยปานกลางหรือรุนแรงควรรอจนกว่าจะหายดีก่อนค่อยรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แพทย์เป็นผู้พิจารณาเลื่อนนัดฉีดวัคซีนใหม่ แต่ถ้ามีอาการป่วยเล็กน้อยสามารถรับการฉีดวัคซีนได้
ผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย
ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้ทั่วไป |
ระบม แดง หรือบวมบริเวณที่ฉีด เสียงแหบ เจ็บ คันตาหรือตาแดง ไอ มีไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ คัน เมื่อยล้า ปกติแล้วจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน |
ผลไม่พึงประสงค์รุนแรง |
การแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตเกิดน้อยมาก หากเกิดขึ้นจะปรากฏใน 2-3 นาทีถึง 2-3 ชั่วโมงหลังฉีดโดยสังเกตอาการแพ้ที่รุนแรงรวมทั้งการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดังหวีด ลมพิษ
ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ |
หากเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงให้รีบไปโรงพยาบาลทันทีและแจ้งแพทย์เกี่ยวกับรายละเอียดการแพ้ อาการที่เกิดขึ้น วัน-เวลาที่เกิด และวันที่ได้รับวัคซีน
อันตรกิริยาระหว่างยา (ผลต่อยาอื่น)
ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของวัคซีนได้ เช่น Belimumab, Fingolimod และยากดภูมิบางชนิด
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถให้พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นได้รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส
เอกสารอ้างอิง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 มกราคม 2568