bih.button.backtotop.text

มะเร็งปากมดลูก...โรคร้ายที่คุณป้องกันได้

20 มกราคม 2551

มะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้หญิงจำนวน มาก เนื่องจากเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้ง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 500,000 คนทั่วโลก ทั้งยังเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย โชคดีที่มะเร็งชนิดนี้คุณสามารถป้องกันได้
   

สาเหตุของโรค

มะเร็งปากมดลูกนั้นส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัย 30 - 55 ปี โดยมีสาเหตุหลายประการ แต่สาเหตุสำคัญที่สุดได้แก่ ไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากสถิติพบว่าผู้หญิงถึงประมาณร้อยละ 80 ติดเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยไวรัสตัวนี้จะใช้เวลาเฉลี่ยราว 5 - 10 ปีในการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อปากมดลูกปกติให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก

ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคก็ได้แก่ การฉีกขาดของช่องคลอดในกรณีของผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ การไม่รักษาสุขอนามัยบริเวณช่องคลอดหรืออวัยวะเพศของสามี การอักเสบและมีแผลที่ปากมดลูกและทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษา มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงการสูบบุหรี่และดื่มสุราก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

มะเร็งปากมดลูกนั้น หากไม่ถูกตรวจพบหรือรักษาแต่เนิ่นๆ มะเร็งจะลามจากปากมดลูกไปยังอวัยวะเพศและเนื้อเยื่อชั้นในรอบๆ มดลูก จากนั้นจะแพร่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองและกระดูกเชิงกราน ส่งผลให้ไต กระเพาะปัสสาวะ ตับ และปอดทำงานผิดปกติ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

การรักษามะเร็งปากมดลูก

แพทย์แบ่งความรุนแรงของมะเร็งปากมดลูกออกเป็นขั้นๆ ตามขนาดของมะเร็งและการแพร่กระจายของโรค นั่นคือ ในระยะที่ 1 มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก ระยะที่ 2 มะเร็งจะลุกลามจากปากมดลูกไปด้านข้าง ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปจนถึงอุ้งเชิงกราน และระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย มะเร็งได้กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ อาทิ กระเพาะปัสสาวะและทวารหนัก ซึ่งในการรักษานั้น สามารถทำได้ 3 วิธีตามความรุนแรงของโรค ได้แก่

การผ่าตัด – การผ่าตัดเอามดลูกออกนั้นมักใช้ในการรักษามะเร็งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ขั้นต้น นั่นคือเซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูกและช่องคลอด เป็นต้น แพทย์จะผ่าตัดเอาปากมดลูก มดลูก ช่องคลอดส่วนต้นและต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้นออก

การให้ยาเคมีบำบัด – แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาแบบเคมีบำบัดอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาแบบอื่น เช่น ยา หรือรังสีรักษา เนื่องจากการรักษาโดยเคมีจะทำให้ผลของการรักษาโดยรังสีได้ผลดีมากขึ้น

การใช้รังสีรักษา – วิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 ขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีโรคอื่นที่ทำให้ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ เช่น โรคอ้วนหรือแพ้ยาสลบ

ทั้งนี้มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการตรวจพบแต่เนิ่นๆ

มะเร็งที่คุณป้องกันได้

การป้องกันตัวเองจากมะเร็งปากมดลูกนั้นไม่ใช่เรื่องยากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการรักษา โดยคุณสามารถป้องกันโรคร้ายนี้ได้ด้วยการทำ Pap Test การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV และลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
 
Pap Test การตรวจคัดกรองที่ให้ผลดีที่สุด

เฉพาะในประเทศไทย มีผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไปมากถึง 14 ล้านคนที่มีโอกาสติดเชื้อ HPV แต่มีเพียง 800,000 รายเท่านั้นที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง ทำให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติประเมินว่า ในปี 2008 นี้อาจมีผู้ป่วยจากมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นถึง 8,000 ราย

การทำ Pap test เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ให้ผลดีที่สุดเมื่อเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ โดยมีประเภทของการตรวจ ดังนี้

Pap smear เป็นการตรวจภายในร่วมกับการตรวจทางเซลล์วิทยาเพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ที่เกิดจากเชื้อมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดใส่เข้าไปอวัยวะเพศแล้วนำตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกมาตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ หากพบว่าเซลล์มีความผิดปกติแพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจปากมดลูก (Colposcopy) หรือตัดชิ้นเนื้อส่วนที่ผิดปกติจากปากมดลูกไปตรวจ (Biopsy)

ThinPrep เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทางเซลล์วิทยาเช่นเดียวกับ Pap smear แต่ให้ผลการตรวจที่ละเอียดกว่าถึงร้อยละ 65 โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจ Thin Prep เนื่องจากสามารถตรวจหาความผิดปกติของเซลล์มะเร็งปากมดลูกได้ดีกว่าวิธีการตรวจแบบ Conventional Pap Smear สมัยก่อน

ThinPrep Plus HPV Test เป็นการตรวจทางชีวโมเลกุลร่วมกับการตรวจ Pap Test เพื่อหาเชื้อไวรัส HPV โดยตรง ซึ่งการตรวจแบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกได้ถึงร้อยละ 90 - 100 โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อทำการตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ และเซลล์ที่เหลือจะนำมาใช้ตรวจ HPV โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างซ้ำซ้อนซึ่งจะสะดวกแก่ผู้มารับการตรวจ

ป้องกันไว้ก่อนด้วยวัคซีน HPV

การอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกในปี พ.ศ. 2549 นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงทั่วโลกได้ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งพบในผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70

การให้วัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส HPV ต้องให้สามครั้งในระยะเวลาหกเดือนและให้ประสิทธิภาพในการป้องกันได้ถึงร้อยละ 100 ตามการวิจัย ทั้งนี้แพทย์แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9 - 26 ปี ฉีดวัคซีนก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือในรายที่มีเพศสัมพันธ์แล้วแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV และแม้ในผู้หญิงที่ได้รับเชื้อไวรัสไปแล้วสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งก็สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มได้ โดยวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคได้อย่างน้อย 5 ปี และกำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยว่าหลังจาก 5 ปีแล้วควรฉีดซ้ำหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ผู้หญิงก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV บางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น ไม่ใช่เชื้อ HPV ทั้งหมดซึ่งมีอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ ที่สำคัญยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้อีก ดังนั้นแม้ได้รับวัคซีนแล้วก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นๆ และยังคงเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากสาเหตุอื่นได้อีก

สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉีดวัคซีนคงมีเพียงอาการปวดบวมเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่จะไม่มีการแพร่เชื้อไวรัสจากการฉีดวัคซีน ทั้งนี้สำหรับสตรีมีครรภ์และผู้ที่แพ้ส่วนผสมบางอย่างของวัคซีนไม่ควรรับการฉีดวัคซีนดังกล่าว
 
ลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

การรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศทั้งของตัวเองและคู่ครองจะช่วยป้องกันคุณจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ขณะที่การสวมถุงยางอนามัยสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสแม้จะไม่ได้กำจัดเชื้อก็ตาม

นอกจากนี้แล้ว คุณผู้หญิงยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์เร็วเกินไปหรือก่อนอายุ 18 ปี ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือมีบุตรมาก ที่สำคัญหากคุณงดการสูบบุหรี่ได้ นั่นหมายถึงคุณลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากทีเดียว

เพราะการป้องกันย่อมง่ายกว่าการรักษา อย่าปล่อยให้ตัวคุณและคนที่คุณรักต้องเสี่ยงกับโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองประจำปี ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV และหมั่นดูแลสุขภาพเสียตั้งแต่วันนี้
 
สัญญาณเตือนภัย มะเร็งปากมดลูก
 
  • มีเลือดออกขณะหรือภายหลังมีเพศสัมพันธ์
  • หลังประจำเดือนหมดก็ยังมีเลือดออกอยู่
  • มีเลือดออกเพียงกะปริดกะปรอยคล้ายประจำเดือน
  • มีเลือดออกนานหลายวัน หรืออาจออกทั้งเดือน
  • เลือดคล้ายประจำเดือนออกมากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยกว่าปกติ
  • มีตกขาวหรือตกเหลืองมาก กลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา
  • ช่วงระยะที่มีตกขาวออกมาก บางครั้งอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย
  • เบื่ออาหาร ซูบซีด ผอม และอ่อนเพลีย
สถิติน่าสนใจเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก
 
  • ในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกวันละ 7 ราย
  • จากการเก็บข้อมูลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2545 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกทั่วโลก 275,000 ราย และตรวจพบมะเร็งเกิดใหม่จำนวน 500,000 ราย
  • ศจ.ฮาราลด์ ซัวร์ เฮ้าสเซ่น นักวิจัยด้านมะเร็งชาวเยอรมันได้ค้นพบความเกี่ยวพันระหว่างโรคมะเร็งปากมดลูกและฮิวแมน แพพพิโลมาไวรัสหรือเอชพีวีในต้นทศวรรษ 80 การค้นพบครั้งนี้ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2551
  • ไวรัสเอชพีวีเป็นไวรัสที่ติดต่อกันมากที่สุดทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงจำนวนร้อยละ 80 จะได้รับเชื้อในช่วงใดช่วงใดหนึ่งของชีวิต อัตราการติดเชื้อที่พบมากที่สุดคือช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 28 ปี
  • แม้ส่วนมากร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง แต่ในรายซึ่งได้รับเชื้อสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงนั้น อาจกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ในที่สุด
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้นมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ซึ่งเป็นอันตรายอันเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปากมดลูก...โรคร้ายที่คุณป้องกันได้
คะแนนโหวต 2 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs