bih.button.backtotop.text

สูงวัยอย่างมีสุขภาพดี

อายุที่มากขึ้นย่อมตามมาด้วยความเสื่อมถอยของร่างกาย แต่การดูแลตัวเองอย่างดีจะช่วยชะลอความเสื่อมนั้นได้ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่กำลังย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ควรทำความรู้จักกับร่างกายตนเอง และเรียนรู้เรื่องโรคต่างๆ เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือและเริ่มต้นดูแลตัวเองให้ใช้ชีวิตในช่วงปลายได้อย่างปราศจากโรคและมีความสุข

 
โดยทั่วไป “ผู้สูงวัย” หมายถึง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และเป็นวัยที่มาพร้อมกับความเสื่อมถอยของร่างกาย โดยการเปลี่ยนแปลงที่มักพบในผู้สูงวัย ได้แก่ ตาพร่ามัว การทำงานของระบบทางเดินอาหารช้าลง ย่อยช้า การขับถ่ายช้า ข้อเสื่อม กระดูกบาง สมองฝ่อ หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน ผิวหนังหย่อนยาน สัดส่วนน้ำกับไขมันใต้ผิวหนังลดลง
 
เมื่อแบ่งกลุ่มโรคที่มักจะเกิดในผู้สูงวัย จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคที่พบได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยสูงอายุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โดยโรคเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอายุโดยตรง แต่เกิดจากการละเลยการดูแลสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ความอ้วน และความเครียด เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพิ่มขึ้น อีกกลุ่มคือ กลุ่มโรคของผู้สูงอายุ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ กระดูกพรุน ข้อเสื่อม โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ (ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย และปัสสาวะเล็ดในผู้หญิง)
 
โรคของผู้สูงอายุที่มักจะเป็นโรคแอบแฝง คือมักจะไม่ค่อยมีอาการแสดงและผู้สูงอายุมักไม่ค่อยรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้อยู่ ได้แก่ โรคกระดูกพรุน และภาวะสมองเสื่อม
 
โรคกระดูกพรุน คือ การเปราะบางลงของกระดูกทำให้กระดูกหักได้ง่ายกว่าปกติ โรคนี้ไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบว่ากระดูกได้บางลงไปมากแล้ว จนกระทั่งหกล้มหรือเกิดการกระแทกแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้กระดูกหักได้ โดยทั่วไปผู้หญิงโดยเฉพาะวัยหลังหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากตามธรรมชาติแล้วผู้หญิงจะมีโครงสร้างกระดูกที่บางกว่าผู้ชาย และเมื่อหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนที่เป็นตัวช่วยให้กระดูกแข็งแรงก็หมดไปด้วย กระดูกจึงเสื่อมเร็วขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ซึ่งส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียม การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงการรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ
 
ผู้สูงวัยหรือผู้ย่างเข้าสู่วัยสูงอายุควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูก เพื่อดูระดับความเปราะบางและความพรุนของกระดูก จะได้ทราบว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนมากน้อยเพียงใด และปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน โดยวิธีการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่สำคัญที่สุดคือการรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอในแต่ละวัน โดยผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป แต่โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่มักได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมเพิ่มเติม นอกจากนี้การออกกำลังกาย เช่น เดิน หรือวิ่ง ก็มีส่วนช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น แต่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายด้วยการกระโดด เพราะอาจส่งผลกับหัวเข่าได้
 
ภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง มีลักษณะเด่นคือความจำที่แย่ลง หลงๆ ลืมๆ โดยอาการเตือนภัยของสมองเสื่อม ได้แก่ ลืมจนกระทบชีวิตประจำวัน มีปัญหาในการวางแผนหรือการแก้ปัญหา มีปัญหาในการทำกิจกรรมที่คุ้นเคย มีความสับสนกับสถานที่และเวลา มีปัญหาในการใช้ภาษา นึกคำไม่ออก มีปัญหาในการมองรูปหรือภาพหลายมิติ ทำของหายและไม่สามารถจำได้ ความสามารถในการเข้าสังคมลดลง เก็บตัวมากขึ้น อารมณ์และนิสัยเปลี่ยนแปลงไป
 
อย่างไรก็ดีภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งรักษาให้หายได้และไม่สามารถรักษาให้หาย แม้ว่าภาวะสมองเสื่อมบางชนิดอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่การใส่ใจดูแลตัวเองจะมีส่วนช่วยในการดูแลสมองให้มีสุขภาพดีในระยะยาวได้ เช่น การหมั่นมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรอบข้าง ทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สมองและไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
 
นอกเหนือจากเรื่องของกระดูกและสมองแล้ว ผู้สูงอายุควรดูแลร่างกายตนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหัวใจ ระบบหลอดเลือด ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด หากพบความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาและแก้ไขความผิดปกตินั้นโดยเร็วที่สุด
 
และสุดท้าย ผู้สูงอายุควรดูแลเรื่องของจิตใจให้มีสุขภาพจิตที่ดีอยู่เสมอ เพราะสุขภาพของจิตใจย่อมมีผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกายด้วย
 
เพียงเริ่มต้นการดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีสุขภาพดีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป    


 

เคล็ดลับเพื่อการเป็นผู้สูงวัยอย่างมีสุขภาพดี
  • รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป
  • รับประทานโปรตีนให้เพียงพอในแต่ละมื้อ หากไม่อยากรับประทานเนื้อสัตว์เพราะเคี้ยวยาก ย่อยยาก ให้รับประทานโปรตีนจากถั่ว เต้าหู้ หรือปลา
  • รับประทานแคลเซียมให้ครบ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  • นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง
  • เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนนิ่งๆ
  • ดูแลสุขภาพจิตให้แจ่มใส ด้วยการทำงานอดิเรก พูดคุยกับเพื่อนฝูง
  • ตรวจสุขภาพอย่างน้อยทุกครึ่งปีถึงหนึ่งปี
  • มีแพทย์ประจำตัว และไม่รับประทานยาเอง แจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ทุกชนิดให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนรับยาใหม่
  • รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ฝึกสมองด้วยการเล่นเกม
  • ปรึกษาแพทย์หากมีอาการเบื่ออาหาร เพราะอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผลข้างเคียงจากยาที่รับประทานอยู่ ปัญหาการย่อยอาหาร ปัญหาเรื่องฟัน

 

เรียบเรียงจาก การบรรยายเรื่อง “30+30 ยังแจ๋ว” โดย พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 29 กันยายน 2563

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs