มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะมะเร็งปอดมักไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ทำให้รักษาได้ยากและผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่สุด ในทางกลับกัน หากตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดได้จะมีสูงถึง 90%
เป็นที่ทราบกันดีว่า
สาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจึงมักทำในคนที่สูบบุหรี่ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันเริ่มมีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่เคยสูบบุหรี่และไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่มีคนใกล้ชิดสูบบุหรี่ แต่ก็เป็นมะเร็งปอด ดังนั้นการเน้นการตรวจคัดกรองแต่เฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะทำให้ไม่ได้ตรวจและไม่พบผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นในกลุ่มนี้
ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดสมารถทำได้ด้วย
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computed tomography, LDCT) ซึ่งการตรวจนี้เป็นวิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา และการศึกษาทางคลินิกก็พบว่า
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น ด้วยวิธี LDCT ประจำปี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดได้สูงถึงร้อยละ 20 ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ขณะที่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ นั้น มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า โดยที่ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจ น้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน (Computed Tomography (CT)–Chest)
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการตรวจ
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ 20 มวน/วัน ติดต่อกัน 30 ปีขึ้นไป หรือ สูบบุหรี่ 40 มวน/วัน ติดต่อกัน 15 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่หยุดสูบบุหรี่มาแล้ว แต่น้อยกว่า 15 ปี
- ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับสารพิษเช่น แร่ใยหิน (Asbestos) ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) หรือโรคผังผืดที่ปอด (Pulmonary fibrosis)
ผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น และอาจได้รับประโยชน์จากการตรวจ ได้แก่
- ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่
- ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
*** โดยต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และไม่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งใดๆ มาก่อน
การตรวจนี้ไม่เหมาะกับ
- บุคคลที่อายุน้อยกว่า 40 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะมีบุตร
*** สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ ซึ่งรักษาหายแล้ว แต่น้อยกว่า 5 ปี หากจำเป็นต้องได้รับการตรวจ ควรตรวจด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน เพื่อการวินิจฉัย (CT-Chest)
เรียบเรียงโดย
นพ. ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ และแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 06 มกราคม 2566