bih.button.backtotop.text

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP ทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาไมเกรน

30 กรกฎาคม 2567

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP ทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาไมเกรน

ไมเกรน (Migraine) คือ อาการปวดศีรษะประเภทหนึ่ง โดยมีลักษณะการปวดแบบปวดตุบๆ เป็นจังหวะ มักเกิดขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของศีรษะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไวต่อแสงและเสียงร่วมด้วย อาการปวดศีรษะไมเกรนอาจเกิดนานหลายชั่วโมง หรือหลายวัน และอาการปวดอาจรุนแรงมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ เช่น ความเครียด สภาพแวดล้อม (แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นที่รุนแรง) หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงเนื่องจากอาการปวดศีรษะไมเกรนยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงเน้นไปที่การป้องกันและบรรเทาอาการ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสำหรับป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้ที่ปวดศีรษะบ่อยครั้ง เช่น ปวดศีรษะไมเกรน มากกว่าหรือเท่ากับ 4 วัน/เดือน หรือในผู้ที่มีแนวโน้มต้องใช้ ยาแก้ปวดบ่อยครั้ง หรือในผู้ที่ปวดศีรษะไม่บ่อย แต่อาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

ที่ผ่านมามียาหลายกลุ่มที่ถูกนำมาใช้สำหรับป้องกันและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) ยากลุ่ม Beta-blockers ยากันชัก (Anticonvulsants) หรือยากลุ่ม Triptans อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยาเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดในการใช้ยาเหล่านี้

ปัจจุบันมีการศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างสาร CGRP และการปวดศีรษะไมเกรน จึงนำมาสู่การพัฒนายารักษาไมเกรนกลุ่มใหม่ นั่นคือ ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
 

สาร CGRP คืออะไร? เกี่ยวข้องกับอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างไร?

Calcitonin gene-related peptide (CGRP) เป็นนิวโรเปปไทด์ หรือสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในสมอง ถูกหลั่งออกมาจากเซลล์ประสาทโดยเฉพาะบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 สาร CGRP จะไปจับกับตัวรับบนหลอดเลือดแดงบริเวณสมอง รวมถึงตัวรับบนเซลล์ประสาทรับรู้ความเจ็บปวด ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เกิดการอักเสบ และเกิดอาการปวด นำไปสู่การปวดศีรษะไมเกรน จากการศึกษาพบว่าในผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันจะมีสาร CGRP ในเลือดสูงขึ้นกว่าคนปกติ ดังนั้นการยับยั้งการทำงานของสาร CGRP จึงช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
 

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP คืออะไร?

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP หรือ CGRP monoclonal antibodies เป็นยาชีววัตถุในกลุ่ม monoclonal antibodies ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสาร CGRP โดยมีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์จับโดยตรงกับสาร CGRP และชนิดที่ออกฤทธิ์จับกับตัวรับของสาร CGRP

ปัจจุบันมียาฉีดยับยั้งสาร CGRP อย่างน้อย 4 ชนิดในประเทศไทย ที่ได้รับการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ใช้สำหรับป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ Erenumab, Galcanezumab, Fremanezumab และ Eptinezumab

 

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP เหมาะกับใครบ้าง?

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP เหมาะกับทั้งผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง (ปวดศีรษะไมเกรนมากกว่า 15 วัน/เดือน) และผู้ที่ไม่ได้ปวดศีรษะไมเกรนเรื้องรัง แต่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อยครั้ง (ปวดศีรษะไมเกรน 8-14 วัน/เดือน) รวมถึงยังเหมาะกับผู้ที่ใช้ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนชนิดอื่นมาแล้วไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดในการใช้ยากลุ่มเหล่านั้น

 

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP มีวิธีการฉีดอย่างไร?

ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP แต่ละชนิดมีวิธีการฉีด และความถี่ในการฉีด แตกต่างกันออกไป ดังแสดงในตาราง
 
 

ยา
 
วิธีการบริหารยา ความถี่ในการฉีดยา
Erenumab ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เดือนละ 1 ครั้ง
Galcanezumab เดือนละ 1 ครั้ง (หลังจากการให้ยาในขนาดสูงครั้งแรก)
Fremanezumab เดือนละ 1 ครั้ง หรือ ทุก 3 เดือน ขึ้นกับขนาดยา
Eptinezumab ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 3 เดือน
 
 

ประสิทธิภาพของยาฉีดยับยั้งสาร CGRP

จากการศึกษาพบว่า ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP สามารถลดจำนวนวันที่ปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยในผู้ป่วยบางรายสามารถลดจำนวนวันที่ปวดศีรษะไมเกรนต่อเดือนได้มากกว่า 50% นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด รวมทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอีกด้วย
สำหรับยาฉีดยับยั้งสาร CGRP ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ พบว่าสามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ทันทีหลังฉีดยา

 

ผลข้างเคียงที่พบได้จากการฉีดยายับยั้งสาร CGRP

ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบจากการฉีดยายับยั้งสาร CGRP คือ คัน ปวด หรือมีรอยแดงบริเวณที่ฉีดยา การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน คลื่นไส้ และท้องผูก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง

 

ข้อจำกัดในการใช้ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP

เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ รวมถึงหญิงให้นมบุตร นอกจากนี้ควรระมัดระวังการใช้ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP ในผู้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยากลุ่มนี้
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง




รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs