กลุ่มอาการที่เป็นปัญหาเฉพาะหรือพบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า Geriatric Giants เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการชราภาพของร่างกาย ผลข้างเคียงจากยาต่างๆ และหลากหลายโรคที่มารุมเร้า ส่งผลต่อสุขภาพและการดูแลตนเองที่ถดถอยลง กลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่
1. ความผิดปกติในการรับประทานอาหาร อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาสุขภาพฟัน ภาวะกลืนลำบาก ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด เป็นต้น
2. ปัญหาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุมักมีคุณภาพการนอนที่ลดน้อยลง อาจหลับยากขึ้น ตื่นบ่อย หลับไม่ลึก และตื่นมาไม่สดชื่น นอกจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัย การนอนไม่หลับในผู้สูงอายุอาจมีสาเหตุจากภาวะซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล อาการปวดต่างๆ หรือกรดไหลย้อน
3. ภาวะสมองเสื่อม การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ พฤติกรรม และความทรงจำอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการฝ่อของเนื้อสมอง แต่สมองเสื่อมสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ เช่น เส้นเลือดสมองตีบ โรคพาร์กินสัน โรคต่อมไทรอยด์ การขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น
4. ภาวะการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ผู้สูงอายุอาจเกิดภาวะการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนหรืออ่อนล้า กระเพาะปัสสาวะอ่อนไหวเกินไป ความบกพร่องในการควบคุมการกลั้นการขับถ่ายจากสมองหรือเส้นประสาท เป็นต้น
5. ปัญหาในการทรงตัวและการหกล้ม เป็นปัญหาสำคัญในผู้สูงอายุ เนื่องจากกระดูกที่บางพรุนทำให้เกิดกระดูกหักง่าย อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่ตามมาจากการผ่าตัดและนอนโรงพยาบาลนาน ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาการทรงตัวหรือหกล้มได้จากหลายปัจจัย เช่น ข้อเสื่อม กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง โรคทางสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน หรือเส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น
6. อาการมึนงงเวียนศีรษะ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ความดันโลหิตต่ำ ความผิดปกติของหูชั้นในที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว (น้ำในหูไม่สมดุล) ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โลหิตจาง เป็นต้น
7. ปัญหาการมองเห็นและการได้ยิน การมองเห็นและการได้ยินที่ลดลง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ โรคเบาหวาน ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาเหล่านี้
8. ภาวะกระดูกพรุน คือการบางลงของเนื้อกระดูก ทำให้เปราะบาง หักหรือยุบง่าย ส่วนใหญ่พบได้ในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนและผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี โดยทั่วไปมักไม่แสดงอาการใดๆ มีสาเหตุเกิดจากสภาวะวัยทอง ขาดฮอร์โมนเพศหญิงหรือชาย การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอในวัยหนุ่มสาว การรับประทานยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
เรียบเรียงโดย พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 03 พฤษภาคม 2565