อย่างไรถึงเรียกว่าโรคนอนไม่หลับ
การนอนเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพที่ดี กรมอนามัยโลกได้แนะนำให้นอนหลับอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทุกๆคืนกลับมีคนหลายร้อยล้านทั่วโลกที่ต้องทุกข์ทรมานจากโรค
นอนไม่หลับ จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าประชากรประมาณ 10-30% ทั่วโลกเป็นโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับคืออะไร
โรคนอนไม่หลับอาจเกิดในระยะสั้น กินเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์หรือระยะยาวเป็นเวลาสามเดือนอย่างน้อยสามคืนต่อสัปดาห์ โรคนอนไม่หลับแบ่งออกได้เป็น 4 แบบคือ
- หลับยาก (initial insomnia)
- หลับแล้วตื่นและไม่สามารถหลับตามที่ร่างกายต้องการได้อีก (maintenance insomnia)
- ตื่นเร็วและหลับต่อไม่ได้ (terminal insomnia)
- หลากหลายแบบรวมกัน
โรคนอนไม่หลับเกิดจากอะไร
- สภาพแวดล้อมและพฤติกรรม เช่น ทำงานเป็นกะ ความเครียด อุปนิสัยการนอน
- สภาพร่างกายหรือโรคประจำตัว เช่น อาการปวดต่างร่างกาย ภาวะหัวใจล้มเหลว ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ วัยหมดประจำเดือน โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม โรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคกรดไหลย้อน โรคขาอยู่ไม่สุข
- ยาบางชนิด
- สารคาเฟอีน นิโคตินและแอลกอฮอล์
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนอนไม่หลับ
- ผู้หญิง พบโรคนอนไม่หลับในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเกิดจากสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะมีประจำเดือน ขณะตั้งครรภ์ ขณะหมดประจำเดือน และภาวะสุขภาพ เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กลั้นปัสสาวะลำบาก มีถุงน้ำที่รังไข่
- ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงวัย สภาพแวดล้อมและการเจ็บป่วยเรื้อรังทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์
หากเป็นโรคนอนไม่หลับ 3 เดือนติดต่อกันโดยนอนไม่หลับอย่างน้อย 3 คืนต่อสัปดาห์หรือไม่ถึง 3 เดือนแต่โรคนอนไม่หลับมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกไม่สดชื่น หงุดหงิด ขาดสมาธิ หลับในควรมาพบแพทย์
โรคนอนไม่หลับส่งผลร้ายอย่างไร
คนทั่วไปมักคิดว่าโรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแล้วหายไปแต่โรคนอนไม่หลับเรื้อรังส่งผลด้านลบต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสุขภาพกายดังนี้
วินิจฉัยโรคนอนไม่หลับได้อย่างไร
แพทย์จะตรวจร่างกายและซักประวัติอย่างละเอียด เช่น ถามคำถามเกี่ยวกับปัญหาการนอนและอาการ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ที่อาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ หากเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังกว่า 3 เดือนหรือแพทย์สงสัยว่ามีโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการนอนหลับอื่นๆ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์อาจทำการตรวจคุณภาพการนอนหลับ (sleep test) ร่วมด้วย
รักษาโรคนอนไม่หลับได้อย่างไร
โรคนอนไม่หลับระยะสั้นอาจหายไปได้เอง แต่หากเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการดังนี้
- Cognitive Behavioral Therapy for insomnia (CBTi) การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญาเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ด้วยการพูดคุยเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและปรับพฤติกรรม รวมถึงให้ความรู้ด้านสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี การบำบัดด้วยการผ่อนคลาย ควบคุมสิ่งเร้า การบำบัดเพื่อปรับการนอนหลับ โดยใช้เวลาบำบัดต่อเนื่องนาน 8 สัปดาห์
- การใช้ยา การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญาเพื่อปรับเปลี่ยนวิธิคิดและพฤติกรรมเป็นวิธีการที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง แต่ในบางกรณี แพทย์อาจใช้ยาในระยะสั้นเพื่อช่วยในการนอนหลับร่วมด้วย
จะป้องกันโรคนอนไม่หลับได้อย่างไร
การเปลี่ยนแปลงสุขอนามัยการนอนหลับสามารถช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- เข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน
- ไม่ดูทีวี ใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนนอน
- สร้างสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้มืด เงียบสงบด้วยอุณหภูมิที่เย็นพอเหมาะ
- ทำกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังกายระหว่างวัน
- นอนในท่าที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่นอนไม่หลับ คือ นอนตะแคงงอเข่าขึ้นไปทางหน้าอกเล็กน้อย ช่วยลดแรงกดบนเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังและช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- ให้ลุกจากเตียงเมื่อนอนไม่สามารถนอนหลับได้
- ใช้เตียงนอนสำหรับการนอนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น
คลินิกคุณภาพการนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่แพทย์ระบบโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ แพทย์หู คอ จมูก แพทย์ระบบประสาท จิตแพทย์ ทันตแพทย์ทำงานกันเป็นทีมเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคนอนไม่หลับอย่างตรงจุด หากท่านเป็นโรคนอนไม่หลับหรือเป็นสงสัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับผิดปกติ ทีมผู้ชำนาญการของเราพร้อมที่จะให้การวินิจฉัยและรักษาเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ท่าน
ที่มา ศ.นพ. ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 สิงหาคม 2565