3 เหตุผล…คลายกังวลเมื่อเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
สภาวะปกติหมอนรองกระดูกเป็นส่วนเชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังปล้องบนและปล้องล่าง ธรรมชาติสร้างมาเพื่อช่วย ในการรับน้ำหนักของร่างกายโดยมีความสามารถในการยืดหยุ่นขณะใช้ชีวิตประจําวันในอิริยาบถต่างๆ เช่น การก้มตัว, การแอ่นตัว, การบิดตัว ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหมอนรองกระดูกสันหลังมีความสําคัญต่อการเคลื่อนไหว ซึ่งเปรียบเสมือนกับยางรถยนต์ ถ้าอยู่ในช่วงอายุหนุ่มสาว อายุช่วง 20 - 50 ปี ก็เปรียบเสมือนยางรถยนต์ใหม่ที่มีความนุ่มและยืดหยุ่นรับแรงกระแทกได้ดี ส่วนเมื่ออายุมากขึ้น 50 ปี ขึ้นไป ยางรถของเราจะเริ่มเสื่อม ความสามารถในการรับแรงกระแทกและความยืดหยุ่นจะน้อยลง โดย ส่วนประกอบตรงใจกลางของหมอนรองกระดูกจะมีลักษณะคล้ายเจลลี่เหนียวๆ ที่มีความหนืด ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยเส้นใยที่ขึงล้อมหน้า ข้างและหลัง เปรียบเสมือนขอบยางรถยนต์ ซึ่งธรรมชาติสร้างมาเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่เป็นเจลลี่แตกออกมา เพราะฉะนั้นความหมายของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเปรียบเสมือนยางรถยนต์แตก เจลลี่ที่อยู่ด้านในนั้นจะไหลออกมากดหรือเบียดทับเส้นประสาที่อยู่บริเวณนั้นๆ ก่อให้เกิดอาการปวดหลังหรือสะโพกแล้วร้าวไปที่ขานั่นเองครับ
ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุที่หลังรวมไปถึงการใช้งาน เช่น ยกของหนักเกินไป, ยกของผิดท่า ภาวะหมอนรองกระดูก ทับเส้นประสาทสามารถเป็นได้กับทุกคนครับ ยิ่งเมื่อคุณทํางานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม ก็จะทําให้เกิดอาการปวดหลังนํามาก่อน ซึ่งถ้าคุณปรับเปลี่ยนการทํางานได้ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวครับ แต่ถ้าคุณยังปล่อยให้หลังตัวเองอยู่ผิด สุขลักษณะ ไม่ดูแลใส่ใจ ก็อาจจะกลายมาเป็นเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกันได้ง่ายกันเลยทีเดียวครับ
อาการที่น่าสงสัยเกี่ยวกับโรค จะเป็นอาการปวดเอว สะโพก หรือหลังร้าวลงก้นหรือลงไปที่ขา และอาการจะเป็นตอนนั่งนาน หรือยืนนาน ทําให้ส่งผลรําคาญกับการใช้ชีวิตประจําวันของเราครับ ซึ่งควรได้รับการตรวจอย่างถูกต้องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หากเมื่อคุณถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งต้องประกอบไปด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมไปถึงการทําเอกซ์เรย์ (x-ray) กับ MRI หลายๆ ท่านจะเริ่มมีอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวโรคที่เป็น ซึ่งหมออยากจะ อธิบาย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง หมอจึงรวบรวม 3เหตุผลที่คุณไม่ควรกังวลในเรื่องหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาอธิบายให้คลายกังวลครับ
1. อัตราการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต มีน้อย
ข้อแรก ไม่ต้องกลัวเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ครับ บางท่านจะมีความกังวลมาก หากเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับ เส้นประสาทแล้ว จะทําให้เดินไม่ได้ ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ โอกาสที่หมอนรองกระดูกจะเคลื่อนหรือปลิ้นไปกดทับเส้นประสาทจนทําให้เดินไม่ได้หรือเกิดอาการอ่อนแรงนั้นมีโอกาสน้อยมากถ้ามารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ ผู้ป่วยที่อยู่ ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะได้รับคําแนะนําในการปฏิบัติตัวและการเฝ้าระวังตัวที่ถูกต้อง เพื่อที่หากอาการเกิดเป็นมากขึ้น จะได้รับการรักษาได้ทันและจะไม่ทําให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาทอย่างถาวรครับ หากรอให้อาการเป็นเยอะมาก หรือปล่อยไว้นาน ไม่มารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาจจะเกิดการบาดเจ็บของไขประสาทอย่างถาวร ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ อย่างปกติอีกครับ ตัวโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะมีการดําเนินโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนกับโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกที่จะเกิดการอ่อนแรงในชั่วข้ามคืนและรักษายาก อีกทั้งอาการอ่อนแรงของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะเป็นตามมัดกล้ามเนื้อบางส่วนเช่น การกระดกข้อเท้า การกระดูกนิ้วโป้งหรือการเขย่งเท้า จึงไม่ทําให้เกิดการ อ่อนแรงทั้งหมดของขาเพราะฉะนั้นหากมารับการตรวจและรักษาตั้งแต่มีอาการเนิ่นๆ หรือมีอาการไม่มาก แทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องของอัมพฤกษ์ อัมพาตเลยครับ
2. มีโอกาสหายเองได้
โรคนี้ มีโอกาสหายเองได้...ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิดครับ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ส่วนใหญ่หายเองได้ตาม ธรรมชาติ และส่วนใหญ่ไม่จําเป็นต้องผ่าตัด แต่ทั้งนี้ขึ้นกับรูปแบบของหมอนรองกระดูกที่แตกหรือปลิ้นออกมาครับ เพราะฉะนั้นจะต้องมีผล MRI มาประกอบด้วยครับ เนื่องจากว่าหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือปลิ้นบางชนิด เมื่อเคลื่อนออก มาแล้วมีโอกาสที่ร่างกายของเราจะสามารถกําจัดหมอนรองที่เคลื่อนออกมาได้ด้วยตัวเอง ร่างกายของเรามีระบบรักษาตัวเองที่ น่าทึ่งทีเดียวครับ โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาที่ร่างกายจะกําจัดหมอนรองที่ปลิ้นออกมาหมดได้จะอยู่ที่ 1 ปี ขึ้นไปครับ ซึ่งระหว่างนั้น ผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังอิริยาบถของตัวเองอย่างมาก รวมไปถึงการออกกําลังกายและกายภาพเสริมกล้ามเนื้อแกนกลาง ลําตัวให้แข็งแรง ซึ่งจะลดอาการปวดได้พอสมควรครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหมอเน้นย้ําว่ามีเพียงบางรูปแบบของการเคลื่อนของ หมอนรองกระดูกเท่านั้นนะครับที่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ซึ่งควรจะต้องปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งนึงครับ
3. ถ้าจําเป็นต้องผ่าตัด การผ่าตัดส่องกล้อง ฟื้นตัวเร็ว แผลเล็ก เจ็บน้อย ไม่มีผลระยะยาว
ถ้าจําเป็นต้องผ่าตัดจริงๆ การผ่าตัดส่องกล้องในปัจจุบัน ฟื้นตัวเร็ว แผลเล็ก เจ็บน้อย ไม่มีผลระยะยาว ผู้คนมักจะ กลัวการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นอย่างมากใช่ไหมล่ะครับ ในสมัยก่อนนั้นที่ยังไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ดีเท่ากับสมัยนี้ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงและต้องคิดหนักมากทีเดียวครับ แผลยาว มีโอกาสเสียเลือดเยอะ เจ็บมากหลังผ่า รักษาตัวในโรงพยาบาลกว่าสัปดาห์ พักฟื้นที่บ้านอีกเป็นเดือน นี่เป็นภาพการผ่าตัดในสมัยก่อนครับ แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองต่อความสะดวกสบายและความเจ็บปวดของคนไข้ ปัจจุบันการ ผ่าตัดหมอนรองกระดูกใช้การส่องกล้องขนาดเล็กกว่า 1 ซม.ครับ ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่คือ ไม่เสียเลือดมาก การบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อน้อย สามารถลุกเดินได้ทันทีหลังผ่าตัดและนอนพักรพ.เพียง 1 คืน การฟื้นตัวไวกว่ามากครับ จึงไม่มีความจําเป็นที่ญาติจะต้องเสียเวลามาเฝ้าคนไข้ที่กําลังพักฟื้นตัวอีกด้วย นับว่าเป็นประโยชน์กับคนไข้และญาติ อย่างมาก หมอฝากเหตุผลสุดท้ายสําหรับคนที่มีข้อบ่งชี้ที่จําเป็นจะต้องผ่าตัดครับ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องการผ่าตัดมากจนเกินไปครับ ดูแลสุขภาพจิตใจให้ดีจะทําให้ท่านหายจากความเจ็บป่วยได้เร็วมากยิ่งขึ้นครับ
เหตุผล 3 ข้อที่คุณไม่ควรวิตกกังวลเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่หมอได้รวบรวมมาจากคนไข้ที่มักจะวิตกกังวล ส่งผลทําให้เกิดภาวะสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ หมอหวังว่า หากท่านใดมีอาการเช่นนี้อยู่ ก็ควรไปตรวจกับแพทย์ให้ทราบ ครับว่าสาเหตุเกิดจากที่ใด ส่วนท่านใดที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หลังจากอ่านบทความนี้หวังว่า
ท่านจะมีกําลังใจในการเผชิญหน้ากับโรคที่เป็นอยู่และไม่วิตกกังวลกับมันครับ
หมอแมท หรือ นพ. ปวินท์ เกษมพิพัฒน์ชัย
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อและศัลยกรรมกระดูกสันหลัง – สถาบันกระดูกสันหลัง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 07 สิงหาคม 2567