bih.button.backtotop.text

โรคเนื้องอกสมอง “ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาง่าย”

 

โรคเนื้องอกสมอง “ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาง่าย”

โรคเนื้องอกสมอง เกิดจากเซลล์ที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติในสมอง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของสมอง  โดยอาจเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาหรือชนิดที่เป็นมะเร็งก็ได้ ปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมอง 3-4 รายต่อประชากรแสนคนหรือพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้กว่าสามแสนคนทั่วโลกในแต่ละปี

 

โรคเนื้องอกสมองเกิดจากอะไร

โรคเนื้องอกสมองเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด บางส่วนเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือการโดนสารกัมมันตภาพรังสี การอักเสบหรือการติดเชื้อบางอย่าง การเคยได้รับการฉายรังสีเอกซเรย์บริเวณศีรษะและการได้รับบาดเจ็บทางสมองอย่างรุนแรง

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงโรคเนื้องอกสมอง

โรคเนื้องอกสมองเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ แต่จะพบในเพศชายมากกว่าเล็กน้อย หากเกิดกับผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายเพิ่มมากขึ้น

 

สามารถสังเกตอาการโรคเนื้องอกสมองได้อย่างไร

เนื้องอกในสมองมีอาการที่หลากหลายขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดโรคและความรุนแรงของโลก พบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงมีอาการมาก เช่น
  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ
  • จำไม่ค่อยได้ หลงลืม
  • ชักเกร็ง
  • ร่างกายอ่อนแรง แขนขามีอาการชา
  • อวัยวะทำงานเปลี่ยนแปลงไป เช่น การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่นหรือการรับรสเปลี่ยนแปลงไป
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
 

โรคเนื้องอกสมองมีกี่ประเภท

โรคเนื้องอกสมองแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
  • เนื้องอกสมองที่เกิดขึ้นเองจากตัวเนื้อสมองหรืออวัยวะที่อยู่รอบๆ (primary brain tumor) เช่น เยื่อหุ้มสมอง เส้นประสาทหรือต่อมใต้สมอง มีโอกาสเป็นได้ทั้งเนื้อดีและเนื้อร้าย
  • เนื้องอกสมองที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นและลุกลามมาที่สมอง (secondary brain tumor) เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ ที่พบบ่อยคือมะเร็งจากปอดหรือเต้านม
 

วินิจฉัยได้อย่างไร

แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (MRI)  หากสงสัยว่าเป็นเนื้อร้ายแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่อยากผ่าตัดหรือก้อนเนื้อมีขนาดเล็กมาก ปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่เรียกว่า  Stereotactic biopsy under navigator guided ที่แพทย์สามารถเจาะรูเล็กๆแล้วใช้เข็มจิ้มเพื่อนำเซลล์ไปตรวจ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดและไม่เป็นอันตรายเท่ากับการผ่าตัดใหญ่ หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่จำเป็นต้องผ่าตัด เรามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า MRI tractography เป็นอุปกรณ์ช่วยนำวิถีให้เห็นภาพภายในสมองชัดเจน ทำให้แพทย์สามารถหลบเส้นประสาทและจุดที่สำคัญๆในสมองได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้การผ่าตัดได้ผลลัพธ์ที่ดี ลดอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

 

สามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

แพทย์จะพิจารณาเลือกแนวทางการรักษาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ อาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก  โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้
  • การติดตามอาการ หากเนื้องอกไม่ทำให้เกิดอาการและมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย
  • การผ่าตัด
  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
  • การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (targeted therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) ทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็งสมอง โดยยาสามารถออกฤทธิ์ในสมอง ทำให้ก้อนเนื้องอกยุบลงได้มากเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทำให้สามารถรักษามะเร็งสมองได้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น


การรักษาเนื้องอกในสมอง อาการจะหายขาดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับขนาดก้อนและระยะของโรค หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดอาจช่วยทำลายเนื้องอกเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงหรือป้องกันการเสียชีวิต

ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางระบบประสาททุกชนิดอย่างครอบคลุมและทีมสหสาขาวิชาชีพที่ชำนาญในการฟื้นฟูและบำบัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัย เราทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยรายบุคคล เพื่อส่งมอบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ไร้รอยต่อและปลอดภัยสูงให้แก่ผู้ป่วย


โดย นพ. ชญตว์ ชาญมานนท์




 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 05 กันยายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs