bih.button.backtotop.text

ข้อเท้าแพลง การบาดเจ็บที่พบได้บ่อย

ข้อเท้าแพลง การบาดเจ็บที่พบได้บ่อย

ข้อเท้าแพลง เป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยทั้งในนักกีฬาและบุคคลทั่วไป เกิดจากอุบัติเหตุที่ข้อเท้าพลิกไปทางด้านข้างของเท้า โดยอาจพลิกเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นกับทิศทางการล้มและตำแหน่งของเท้าขณะเกิดอุบัติเหตุ โดยทั่วไปมักพลิกเข้าด้านใน (inversion) ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเอ็นด้านข้างข้อเท้าด้านนอก (lateral ligaments) และมีอาการปวดบวมบริเวณเส้นเอ็นที่บาดเจ็บหรือลงน้ำหนักที่ข้อเท้าไม่ได้                                                                                                                                                                                                                                                             
ข้อเท้าประกอบด้วยส่วนปลายของกระดูก tibia , fibula และกระดูก talus ซึ่งยึดติดกันด้วยเส้นเอ็นที่แข็งแรงหลายเส้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงของข้อเท้า และเมื่อทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้า จะทำให้เราสามารถยืน เดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวเพื่อทำงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกอาจมีการบาดเจ็บของอวัยวะต่างๆเหล่านี้ได้ ทั้งกระดูก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ

ข้อเท้าแพลง ทำให้มีการยืดของเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้าโดยเมื่อยืดมากขึ้นจนเกินขีดจำกัด เส้นเอ็นก็จะขาดในที่สุด ระดับความรุนแรงของข้อเท้าแพลงขึ้นกับระดับการยืดหรือขาดของเส้นเอ็นและจำนวนเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ สำหรับข้อเท้าพลิกเข้าด้านใน ซึ่งเป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุด จะมีการบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้าด้านนอก ได้แก่  anterior talofibular ligament และ calcaneofibular ligament สำหรับข้อเท้าพลิกออกด้านนอก ซึ่งเป็นการบาดเจ็บที่พบไม่บ่อย จะมีการบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้าด้านใน ได้แก่  deltoid ligament

อาการของเอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ คือ ปวด บวมแดง มีรอยช้ำที่ข้อเท้าบริเวณที่มีการบาดเจ็บ โดยจะมีอาการเจ็บมากขึ้นเมื่อขยับข้อเท้า หากเส้นเอ็นบาดเจ็บไม่มากอาจยังพอเดินได้เพียงแต่รู้สึกเจ็บ หากเส้นเอ็นบาดเจ็บรุนแรงอาจลงน้ำหนักหรือยืนเดินไม่ได้เนื่องจากความเจ็บปวด ซึ่งอาการของเอ็นข้อเท้าบาดเจ็บเหล่านี้แยกได้ยากจากกระดูกหัก ดังนั้นหากมีอาการรุนแรงหรือรักษาดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้หากข้อเท้าพลิกบ่อยๆ ร่วมกับมีเอ็นข้อเท้าหลวมอาจมีความรู้สึกไม่มั่นคงเวลาเดินหรือวิ่งและนำไปสู่การเจ็บข้อเท้าเรื้อรังหรือข้อเท้าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้

เมื่อมาพบแพทย์ การตรวจร่างกาย จะมุ่งเน้นบริเวณข้อเท้าที่บาดเจ็บซึ่งมักบวมแดง กดเจ็บตรงตำแหน่งเอ็นด้านข้างข้อเท้าที่บาดเจ็บ ตรวจพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้าที่มักจะลดลง การขยับข้อเท้าในทิศทางต่างๆเพื่อประเมินความมั่นคงของข้อเท้า ซึ่งมักตรวจได้ยากในช่วงแรกๆเนื่องจากการบวมและความเจ็บปวด ดังนั้นแพทย์อาจพิจารณาตรวจในภายหลัง นอกจากนี้แพทย์จะตรวจประเมินร่างกายเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อข้อเท้าแพลง เช่น ภาวะอุ้งเท้าสูง (cavus foot) ภาวะเส้นเอ็นข้อต่อยืดทั่วร่างกาย (generalized ligament laxity) ความผิดปกติของการเดินจากสาเหตุต่างๆ เป็นต้น

หากตรวจพบจุดกดเจ็บบริเวณกระดูกหรือมีข้อบ่งชี้อื่นๆของกระดูกหักแตกร้าว เช่น ลงน้ำหนักไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจภาพถ่ายรังสีหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกหักต่อไป ในกรณีที่ตรวจพบข้อเท้าหลวมหรือไม่มั่นคง แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจเอกซเรย์แบบพิเศษ เช่น ท่ายืน หรือ stress x-ray โดยมักทำหลังจากอาการเจ็บทุเลาลงแล้ว และในกรณีที่มีอาการปวดเรื้อรังหรือมีข้อเท้าพลิกบ่อยๆ แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจสภาพเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ รวมถึงพยาธิสภาพอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บของกระดูกอ่อน การบวมช้ำของกระดูก กระดูกหักล้า เป็นต้น
 

ความรุนแรงของการบาดเจ็บของเส้นเอ็น (severity grade) แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. Grade 1 : เส้นเอ็นมีการดึงยืดและฉีกขาดในระดับ microscopic ทำให้มีอาการปวดบวมเล็กน้อย สามารถลงน้ำหนักได้ ตรวจร่างกายพบกดเจ็บเล็กน้อยและข้อเท้าไม่สูญเสียความมั่นคง

  2. Grade 2 : เส้นเอ็นมีการฉีกขาดเป็นบางส่วน ทำให้มีอาการปวดบวมปานกลาง มีรอยช้ำเล็กน้อย อาจยังสามารถลงน้ำหนักได้แต่เจ็บ  ตรวจร่างกายพบกดเจ็บปานกลางและข้อเท้าไม่สูญเสียความมั่นคงหรือหลวมเล็กน้อย

  3. Grade 3 : เส้นเอ็นมีการฉีกขาดอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีอาการปวดบวมอย่างมาก มีรอยช้ำชัดเจน มักไม่สามารถลงน้ำหนักได้ ตรวจร่างกายพบกดเจ็บอย่างมากรอบๆตาตุ่มข้อเท้าและข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง

การดูแลข้อเท้าแพลงในเบื้องต้นสามารถใช้ได้กับการบาดเจ็บทุกระดับ ได้แก่ การพักการใช้งานข้อเท้าและลงน้ำหนักเพียงเล็กน้อยเท่าที่ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด การยกขาสูงและการประคบเย็นบริเวณข้อเท้าที่บาดเจ็บครั้งละประมาณ 15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อลดอาการบวมในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการบาดเจ็บ การพันผ้ายางยืดหรือการใส่ที่พยุงข้อเท้า (ankle support , brace , stirrup) เพื่อช่วยลดอาการปวดบวมและลดการบาดเจ็บเพิ่มเติม โดยมีหลักการจำว่า POLICE ได้แก่ P=protection , OL=optimum loading , I=ice , C=compression , E=elevation ทั้งนี้หากยังมีอาการมากหลังดูแลเบื้องต้นด้วยตนเองแล้วหรือสงสัยว่ามีกระดูกหัก ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป การรักษาข้อเท้าแพลงโดยไม่ผ่าตัดนั้นมี 3 ระยะ เรียกว่า Functional treatment

โดยในระยะแรกมีจุดประสงค์เพื่อลดการอักเสบเจ็บปวดและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม ด้วยการใช้ POLICE protocol ดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ อาจมีการรักษาทางกายภาพต่างๆเพื่อลดการอักเสบ (physical modalities) สำหรับการจำกัดการเคลื่นไหวของข้อเท้า ( immobilization) มีหลายวิธีโดยพิจารณาเลือกตามความรุนแรงของการบาดเจ็บ (severity grade) ได้แก่การบาดเจ็บ grade 1 อาจไม่ต้องใช้ที่พยุงข้อเท้า เพียงแต่ลดการใช้งานหรือพันผ้ายางยืดที่ข้อเท้า การบาดเจ็บ grade 2 อาจใช้ที่พยุงข้อเท้าแบบต่างๆหรือใส่ CAM boot เดินลงน้ำหนักเท่าที่ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บ การบาดเจ็บ grade 3 อาจใส่ CAM boot หรือใส่เฝือกพยุงและงดการลงน้ำหนักชั่วคราว 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเจ็บ ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อช่วยในการเดินด้วย

เมื่ออาการปวดบวมอักเสบดีขึ้นจะเข้าสู่การรักษาในระยะที่สองซึ่งเป็นการเริ่มฟื้นฟูสภาพข้อเท้าโดยกายภาพบำบัดประกอบด้วยการขยับข้อเท้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวและป้องกันพังผืดยึดติดในข้อเท้า การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้าซึ่งช่วยป้องกันเอ็นข้อเท้าบาดเจ็บเพิ่มเติมโดยการเกร็งต้านแรงของกล้ามเนื้อด้านหน้าและด้านข้างของข้อเท้า ชึ่งอาจใช้แผ่นยางยืดสำหรับออกกำลังกายหรืออุปกรณ์อื่นๆช่วย

เมื่อข้อเท้าหายอักเสบและกล้ามเนื้อแข็งแรงดีแล้วจะเข้าสู่ระยะที่สามคือการฝึกการทรงตัว (proprioceptive training , balance exercise) เพื่อป้องกันการหกล้มซ้ำในอนาคต ซึ่งอาจทำได้โดยใช้อุปกรณ์ เช่น trampoline หรือ wobble board รวมถึงเครื่อง simulator ต่างๆ โดยในระยะแรกมักเป็นการฝึกในหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงพยาบาลและต่อมาสามารถกลับไปทำที่บ้านเองได้ เช่น การฝึกยืนกระต่ายขาเดียว เป็นต้น ทั้งนี้ระยะเวลาในการรักษาทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บ โดยหากบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยอาจใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ และหากบาดเจ็บรุนแรงอาจใช้เวลาถึง 4-6 สัปดาห์ โดยเฉพาะหากมีการบาดเจ็บร่วมอื่นๆ เช่น high ankle sprain (syndesmosis injury) หรือ กระดูกอ่อนบาดเจ็บ อาจต้องใช้เวลาในการรักษาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยทั่วไปสามารถกลับไปใช้งานข้อเท้าตามปกติได้หลัง 3-6สัปดาห์

การรักษาด้วยการผ่าตัด อาจมีข้อบ่งชี้ในบางราย เช่น ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วย functional treatment แล้วไม่หาย ยังมีอาการปวดหรือรู้สึกไม่มั่นคงในข้อเท้า ผู้ที่มีการบาดเจ็บร่วมอื่นๆ ผู้ที่เป็นนักกีฬามืออาชีพบางประเภท เป็นต้น โดยจะทำการผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นข้อเท้าที่บาดเจ็บ(lateral ligament repair or reconstruction)เพื่อให้ข้อเท้ามีความแข็งแรงซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีแผลเปิดและส่องกล้อง นอกจากนี้อาจมีการผ่าตัดรักษาการบาดเจ็บอื่นๆที่พบร่วม เช่น ส่องกล้องรักษาแผลที่กระดูกอ่อนของข้อเท้า กำจัดเนื้อเยื่ออักเสบในข้อเท้าและเอาชิ้นกระดูกลอยเล็กๆในข้อเท้าออก เป็นต้น

การป้องกันข้อเท้าแพลงสามารถทำได้โดย ใช้ความระมัดระวังในการเดินบนพื้นที่ไม่เรียบหรือลาดเอียงและพื้นต่างระดับ รวมถึงการเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้มข้อเท้าพลิก เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล เทนนิส เป็นต้น และเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมในการเล่นกีฬาประเภทนั้นๆ ควรมีการบริหารและยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังเล่นกีฬา สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเท้าไม่มั่นคงหรือมีปัญหาในการเดินจากโรคต่างๆควรได้รับการฝึกการทรงตัวและการเดินโดยใช้เครื่องช่วยพยุง(gait aids)ที่เหมาะสม ในผู้ที่มีรูปเท้าผิดปกติโดยเฉพาะอุ้งเท้าสูงซึ่งอาจมีเอ็นข้อเท้าด้านนอกหลวม อาจพิจารณาใส่แผ่นรองในรองเท้าหรืออุปกรณ์พยุงข้อเท้าเพื่อป้องกันข้อเท้าพลิก

ข้อเท้าแพลง เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยมาก อาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกันขึ้นกับระดับความรุนแรงขจองการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่สามารถดูแลรักษาด้วยตนเองได้ แต่บางส่วนมีความจำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื้อรังในอนาคตต่อไป
 
 
เรียบเรียงโดย น.ต.นพ. ปองพล เพ็ชร์คำ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ และการผ่าตัดเท้าและข้อเท้า


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs