โรคสมองเสื่อม FTD ยังแบ่งเป็นชนิดย่อยอีกหลายชนิด แบบที่พบได้มากสุดคือ ชนิดพฤติกรรม (behavioral varient) ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรม และบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป มากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาหลายปี จนบางคนอาจจะเหมือนไม่ใช่คนๆเดิม
ในผู้ป่วย FTD ชนิดภาษา (language varient) จะมีอาการเด่นเรื่อง การใช้ภาษา คำพูด จะบกพร่องจากเดิม นึกคำไม่ออก พูดตะกุกตะกัก แต่ความคิดความจำ ละการทำงานสมองด้านอื่นจะยังไม่เปลี่ยน
FTD อาจพบอาการร่วม ทั้งสมองเสื่อม และเส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อมด้วย (FTD-ALS) ทำให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวลำบาก มีอาการเกร็ง อ่อนแรง ลิ้นแข็ง การกลืนผิดปกติ
เราจะเห็นได้ว่า ลักษณะสำคัญของ FTD ที่ต่างจาก
อัลไซเมอร์ คือ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีอาการหลงลืมตั้งแต่แรกๆ
การวินิจฉัย โรค FTD นอกจากอาศัยประวัติ ตรวจทางระบบประสาท และแบบทดสอบทางระบบประสาทจิตวิทยาแล้ว เราอาจเลือกใช้เครื่องมือพิเศษ คือ การทำภาพรังสีดูการทำงานของสมอง และ ตรวจหายีนที่สัมพันธ์กับการเกิด FTD
เนื่องจากผู้ป่วย FTD เฉลี่ยแล้วเริ่มมีอาการที่ช่วงอายุน้อย คือผู้ใหญ่ตอนต้นหรือวัยกลางคน ในช่วงที่เพิ่งเริ่มมีอาการอาจทำให้แยกโรคได้ยากจากโรคด้านอารมณ์ในทางจิตเวช ในกรณีนี้การตรวจหายีนของ FTD อาจได้ประโยชน์ เพื่อบ่งบอกความเสี่ยงที่จะเกิดโรค FTD เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ในช่วงที่เพิ่งเริ่มมีอาการ อาจยังไม่ไวพอที่จะพบความผิดปกติ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคนี้หายขาดได้ แต่ก็มีการบำบัดดูแลด้านอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนลดภาวะแทรกซ้อนของโรค อาทิ พฤติกรรมบำบัด การฝึกพูด และยาที่ช่วยปรับอารมณ์พฤติกรรมของผู้ป่วย และสุดท้าย ความเข้าใจในตัวโรคและการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นชนิดใด ค่ะ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567