bih.button.backtotop.text

เมื่อการสูญเสียการได้ยินทำร้ายคุณมากกว่าที่คิด

งานวิจัยล่าสุดระบุว่าการสูญเสียการได้ยินเพิ่มโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมได้

 
woman-772x514.jpg

การสูญเสียการได้ยิน (hearing loss) คือการที่หูข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ยินเสียงลดลงหรือไม่ได้ยินเสียงใดๆ เลย โดยระดับของการได้ยินนั้นมีตั้งแต่หูตึงเพียงเล็กน้อยไปจนถึงหูหนวกซึ่งหมายความว่าเสียงที่จะได้ยินต้องดังกว่า 90 เดซิเบลขึ้นไป

          สาเหตุที่ทำให้คนเราสูญเสียความสามารถในการได้ยินมีมากมาย เช่น อายุ กรรมพันธ์ การได้รับบาดเจ็บ อยู่กับเสียงดังเป็นเวลานาน และโรคร้ายต่างๆ แต่สาเหตุที่พบมากที่สุดคือประสาทหูเสื่อมจากอายุที่เพิ่มขึ้น เราจึงมักพบภาวะนี้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และพบมากถึง 2 ใน 3 ในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี[1]

          การสูญเสียการได้ยินนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีรายงานทางการแพทย์ล่าสุดที่ออกมาระบุว่า ผู้ที่สูญเสียการได้ยินมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้ที่ได้ยินเป็นปกติ


จะเป็นอย่างไรเมื่อไม่ได้ยิน

Helen Keller นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันผู้พิการทั้งตาบอดและหูหนวกเคยกล่าวไว้ว่า “ตาบอดตัดเราออกจากสรรพสิ่งต่างๆ แต่หูหนวกตัดเราออกจากผู้คน” นั่นก็เพราะการได้ยินเชื่อมต่อมนุษย์กับโลกรอบๆ ตัว ช่วยให้เราสามารถสื่อสารกันในแบบที่ไม่ต้องพึ่งประสาทสัมผัสอื่นใดก็ได้

          หากจะถามว่าการได้ยินสำคัญมากขนาดไหน ทำไมเราจึงจำเป็นต้องได้ยิน คำตอบน่าจะเป็นดังนี้ คือ
  • ได้ยินเพื่อช่วยในการสื่อสาร       การจะสื่อสารกับใครได้นั้นเราต้องได้ยินสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด หากได้ยินไม่ถนัดก็อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ และถ้ายิ่งสื่อสารกันไม่รู้เรื่องก็ยิ่งสร้างความลำบากใจให้กับคู่สนทนาทั้งสองฝ่าย ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินหลายคนจึงพบว่าการพบปะสังสรรค์เริ่มสนุกน้อยลงและเริ่มหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมในที่สุด
  • ได้ยินเพื่อรับรู้ถึงเสียงรอบตัว      การได้ยินเสียงต่างๆ รอบตัวนำมาซึ่งความสุขและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง การไปวัดสวดมนต์ การเรียน หรือแค่ได้ฟังเสียงของธรรมชาติก็รื่นรมย์แล้ว
  • ได้ยินเพื่อให้ปลอดภัย    เสียงช่วยเตือนภัยได้ เสียงสัญญาณเตือนภัยต่างๆ เสียงขณะเดินข้ามถนนหรือขับขี่ยานพาหนะช่วยให้ชีวิตปลอดภัยขึ้น เราไม่อาจรับรู้ถึงภัยเหล่านี้ได้เลยถ้าไม่ได้ยินเสียง นอกจากนี้ การได้ยินที่สมดุลของหูซ้ายและขวายังช่วยบอกแหล่งกำเนิดเสียงได้ว่ามาจากทิศทางไหน ใกล้ไกลมากน้อยเพียงใด คนที่หูหนวกข้างเดียวจะจับทิศทางของเสียงไม่ได้ ซึ่งบางครั้งอาจเสี่ยงต่อความปลอดภัยเช่นกัน
  • ได้ยินเพื่อการทำงาน     ในแง่ของการทำงาน ผู้ที่สูญเสียการได้ยินมีอัตราการว่างงานสูงกว่าผู้ที่ได้ยินปกติ รวมถึงไม่ได้รับโอกาสในการเลื่อนขั้น หรือได้งานในตำแหน่งที่ต่ำกว่าทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ของตัวเอง
  • ได้ยินเพื่อสุขภาพทางจิต มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการสูญเสียการได้ยินกับจิตประสาทและอารมณ์ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างการสูญเสียการได้ยินกับภาวะสมองเสื่อมและการเรียนรู้ที่ลดลง และหากปล่อยไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไขก็จะทำให้สมองทำงานหนักขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและการแยกตัวจากสังคมได้


การสูญเสียการได้ยินกับโรคสมองเสื่อม

 
man-772x514.jpg

ภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นๆ ทำให้สมองทำงานผิดปกติทั้งในแง่ของความจำ ความคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการรับรู้สิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะมีปัญหาด้านภาษา การตัดสินใจ สับสนเรื่องทิศทาง เวลา สถานที่  บางรายมีความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและอารมณ์ โรคอัลไซเมอร์ก็เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มอาการสมองเสื่อม

          ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่าในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้ที่อายุ 60-70 ปีประมาณร้อยละ 1 และผู้ที่อายุ 85 ปีขึ้นไปร้อยละ 6-8 ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างมากทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญคือโรคสมองเสื่อมนั้นรักษาไม่หาย ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการลดจำนวนผู้ป่วยก็คือการป้องกันการเกิดโรค

          ที่ผ่านมาเราพบว่าสาเหตุของโรคสมองเสื่อมนั้น ร้อยละ 65 มาจากพันธุกรรมซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่อีกร้อยละ 35 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคซึมเศร้า โรคเบาหวานประเภท 1 และ 2 การสูบบุหรี่ และที่ได้รับการยืนยันล่าสุดคือ การสูญเสียการได้ยิน

          ความสัมพันธ์ระหว่างการสูญเสียการได้ยินกับการเกิดโรคสมองเสื่อมนี้ได้รับความสนใจจากนักวิจัยหลายทีมทั่วโลก เช่น งานวิจัยเรื่อง Association of hearing loss with dementia โดยคณะนักวิจัยจากไต้หวันที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวไต้หวันอายุเฉลี่ย 65 ปีจำนวน 16,270 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กันคือกลุ่มละ 8,135 คน กลุ่มหนี่งเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสูญเสียการได้ยิน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งการได้ยินเป็นปกติ โดยที่แต่ละกลุ่มยังแยกออกเป็นช่วงอายุ 45-64 ปี 65-74 ปี และมากกว่า 75 ปีขึ้นไป

จากการติดตามกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้เป็นเวลา 13 ปี พบผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม 1,868 ราย ในจำนวนนี้มาจากกลุ่มผู้สูญเสียการได้ยินประมาณร้อยละ 59 หรือ 1,094 คน และมาจากกลุ่มที่ได้ยินเป็นปกติ 774 คน หรือประมาณร้อยละ 41

          นักวิจัยสรุปว่า การสูญเสียการได้ยินมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี ซึ่งการปกป้องการได้ยิน การตรวจคัดกรองและรักษาการสูญเสียการได้ยินเป็นแนวทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้

          เช่นเดียวกับงานวิจัยโดยทีมนักวิจัยชาวเกาหลีที่เก็บข้อมูลนาน 11 ปี ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีภาวะหูตึงอย่างรุนแรง 4,432 คน และผู้ที่มีภาวะหูหนวกอีก 958 คนเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีความผิดปกติทางการได้ยิน ซึ่งผลที่ออกมา คือ ภาวะหูตึงอย่างรุนแรงและหูหนวกสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อมทั้งในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ


ทำไมสูญเสียการได้ยินแล้วจึงสมองเสื่อม

เรื่องนี้ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่นักวิจัยเชื่อว่าอาจมี 3 ปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือ
  • ผู้ที่สูญเสียการได้ยินมักรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งความรู้สึกนี้เชื่อมโยงกับการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ตามที่เคยมีการวิจัยมาก่อนหน้านี้
  • สมองต้องทำงานหนักขึ้นในการพยายามที่จะฟัง ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานสมองที่จะนำไปใช้กับกิจกรรมสำคัญอื่นๆ
  • เมื่อได้ยินเสียงน้อยลง ประสาทรับรู้การได้ยินก็จะส่งสัญญาณไปยังสมองลดน้อยลงและอาจส่งสัญญาณผิดพลาด สมองจึงทำงานน้อยลง  การที่สมองทำงานลดลงหรือเสื่อมถอยลง ก็จะทำให้สมองเสื่อมำด้เร็วกว่าปกติ


ช่วยฟัง ช่วยสมอง

แพทย์แนะนำว่าการรักษาสุขภาพการได้ยินหรือการรับฟังให้แข็งแรง ปกป้องตัวเองจากเสียงดังรบกวน งดสูดบุหรี่จะช่วยลดการสูญเสียการได้ยินได้เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่ระบุว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ถ้าหากเรารู้จักดูแลตัวเองซึ่งรวมถึงดูแลเรื่องการได้ยินตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงอายุ 40-65 ปี

          และหนึ่งในการปกป้องความสามารถในการได้ยินเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมก็คือ การใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งนักวิจัยจาก University of Exeter และ King's College London ได้นำเสนอรายงานการศึกษาต่อที่ประชุม Alzheimer's Association International Conference ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าการใช้เครื่องช่วยฟังในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินช่วยคงสมรรถนะของสมองไว้ได้ในระยะยาวเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใส่

          บทสรุปนี้มาจากการทดสอบความสามารถของสมองของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไปจำนวน 25,000 คนในช่วงระยะเวลา 2 ปี และพบว่ากลุ่มที่ใส่เครื่องช่วยฟังมีสมรรถภาพของสมองที่ดีกว่าทั้งในแง่ของความจำและสมาธิเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใส่เครื่องช่วยฟัง ดังนั้น ผู้ที่สูญเสียการได้ยินเนื่องจากวัยที่เพิ่มขึ้นแม้จะไม่มากนักก็ควรพิจารณาการใช้เครื่องช่วยฟังที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทนุถนอมประสาทสัมผัสด้านการฟังและป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่อาจตามมา


ปกป้องก่อนจะสายเกินไป

เมื่องานวิจัยใหม่ๆ บอกเราว่าการสูญเสียการได้ยินไม่เพียงตัดขาดเราจากผู้คน แต่ยังทำลายสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ก็คือดูแลและป้องกันประสาทสัมผัสส่วนนี้ให้ดีที่สุด หากพบสัญญาณที่บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของการได้ยินดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
  • เริ่มไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูดหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงอึกทึก เช่น ในร้านอาหาร
  • ตามการสนทนาไม่ทัน ต้องพยายามอย่างมากที่จะจับใจความโดยเฉพาะในวงสนทนาที่มีหลายคน บางครั้งต้องใช้การอ่านปากเข้าช่วย
  • เปิดโทรทัศน์เสียงดังขึ้นแต่ยังรู้สึกได้ยินไม่ค่อยชัด
  • เวลาออกไปจับจ่ายซื้อของ บางครั้งไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้ขายหรือแคชเชียร์พูด
  • ไม่ได้ยินคนอื่นพูดขณะอยู่ในรถหรือใช้บริการรถสาธารณะ
  • คนรอบข้างเริ่มบอกว่าคุณมีปัญหาเรื่องการได้ยิน
สัญญาณเหล่านี้ถูกมองข้ามได้ง่าย ฉะนั้น ควรหมั่นสังเกตแล้วให้ความสำคัญกับสุขภาพการได้ยิน ด้วยการเข้ารับการทดสอบการได้ยินอย่างสม่ำเสมอไม่ต่างกับการตรวจสุขภาพดวงตาหรือสุขภาพช่องปาก อย่าลืมว่ายิ่งคุณพบแพทย์เร็วเท่าใด ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยิ่งออกมาดีเท่านั้น



อ้างอิง
https://www.hearinglink.org/your-hearing/about-hearing/why-do-we-need-to-hear/
https://www.sciencedaily.com/releases/2019/07/190715094910.htm
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/30323320
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6669778/
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

เมื่อการสูญเสียการได้ยินทำร้ายคุณมากกว่าที่คิด
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs