ปัจจุบัน มะเร็งเต้านมกลายเป็นชนิดของโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยแทนที่มะเร็งปากมดลูกแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ข่าวดีก็คือ เทคโนโลยีการรักษามะเร็งเต้านมได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและตรงจุดมากขึ้น ทั้งยังลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้ดีกว่าเดิม
การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม
การผ่าตัดถือว่าเป็นการรักษาหลักของมะเร็งเต้านม การผ่าตัดแบบมาตรฐานเดิมนั้นคือ ตัดเต้านมออกทั้งเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แต่ปัจจุบันแพทย์สามารถเก็บเต้านมไว้ได้โดยไม่ต้องตัดออกทั้งหมดในกรณีที่สภาวะของเต้านมเหมาะสม เรียกว่า การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ซึ่งแพทย์จะตัดเฉพาะก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อปกติบางส่วนรอบๆ ก้อนมะเร็งออกไป และทำการฉายแสงบริเวณเต้านมที่เหลือเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ส่วนการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ จากเดิมที่ทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ปัจจุบัน ผู้ป่วยมีทางเลือกเพิ่มขึ้น คือผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองออกเท่าที่จำเป็นโดยแพทย์จะใช้การฉีดสีเพื่อดูการกระจายตัวของน้ำเหลืองจากเซลล์มะเร็ง ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่รับน้ำเหลืองจากเซลล์มะเร็งเรียกว่า ต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล ( sentinel lymph node) เมื่อตรวจยืนยันแน่นอนได้แล้วจึงจะผ่าตัดเลาะเฉพาะต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องออก หากตรวจไม่พบการกระจายตัวเลยก็ไม่จำเป็นต้องเลาะออกเลย ซึ่งข้อดีก็คือ ลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น แขนบวม ยกแขนไม่ขึ้น เพราะการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลร่วมกับการผ่าตัดมะเร็งส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อไม่มาก ผู้ป่วยยังคงรักษารูปทรงของเต้านมไว้ได้ วิธีนี้ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกันกับการตัดเต้านมและเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมีภาวะที่เหมาะสม เช่น ก้อนมะเร็งไม่ใหญ่เกินไป เต้านมมีขนาดใหญ่พอที่จะคงรูปลักษณ์ไว้ได้หลังผ่าตัด เป็นต้น
ผสมผสานการรักษาเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
นอกจาการผ่าตัดแล้ว แพทย์ยังพิจารณาให้การรักษาอื่นๆ ประกอบกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำโดยกำจัดเซลส์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ ด้วยวิธีต่อไปนี้
เคมีบำบัดหรือคีโม ( Chemotherapy) โดยทั่วไปหากผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสูงๆ มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองมากๆ การให้เคมีบำบัดก่อนหรือหลังผ่าตัดมักจะจำเป็นเพราะโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมีสูง ส่วนระยะต้นๆ แพทย์จะพิจารณาลักษณะหรือโพรไฟล์ของก้อนเนื้อมะเร็งและความเสี่ยงอื่นๆ ประกอบกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยบางรายโอกาสกลับมาเป็นซ้ำในระยะ 10 ปี มีเพียงร้อยละ 2 -3 การให้เคมีบำบัดเพิ่มเติมอาจไม่จำเป็น หรือผู้ป่วยบางรายเป็นมะเร็งชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนก็อาจเลือกใช้ยาต้านฮอร์โมนเพื่อป้องกันแทน เป็นต้น
การฉายรังสี ( Radiation Therapy) การฉายรังสีเป็นการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำเฉพาะที่ แพทย์จะคัดเลือกเฉพาะผู้ป่วยที่โรคกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว การฉายรังสีจะฉายบริเวณรอบๆ เต้านมและบริเวณรักแร้ ในผู้ป่วยที่เป็นระยะต้นมากๆ แพทย์อาจไม่แนะนำ เว้นแต่จะผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ การฉายแสงก็อาจจำเป็นเพื่อให้ครอบคลุมส่วนที่เหลือ
ยาต้านฮอร์โมน ( Hormonal Therapy) เมื่อตรวจก้อนเนื้อและพบว่าเป็นชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเพศหญิง แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านฮอร์โมนซึ่งมีหลักการคือตัดฮอร์โมน เพศหญิงซึ่งอาจไปกระตุ้นมะเร็งให้เจริญได้ ยาต้านฮอร์โมนเพศแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน และยากลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างฮอร์โมน
ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ( Targeted therapy) ยาที่ใช้สำหรับรักษามะเร็งเต้านมที่มีลักษณะเฉพาะที่ตรงกับ Target ความผิดปกติทางชีวโมเลกุลของเซลล์มะเร็ง เช่น HER2 ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจชิ้นเนื้อในระดับชีวโมเลกุล แพทย์สามารถให้ยากลุ่มนี้เสริมกับเคมีบำบัดเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น
เรียบเรียงโดย นพ. หฤษฎ์ สุวรรณรัศมี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 03 พฤษภาคม 2565