bih.button.backtotop.text

เข้าใจพัฒนาการลูก จากทารกสู่วัยรุ่น

เข้าใจพัฒนาการลูก จากทารกสู่วัยรุ่น 


การเลี้ยงลูก โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เลี้ยงเด็กทารกเป็นครั้งแรก ถือเป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุขและความท้าทายไปพร้อมๆกัน เด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันตั้งแต่เด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงเด็กวัยรุ่น พัฒนาการของเด็กได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม ดังนั้นการเลี้ยงเด็กในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะทำให้เด็กพัฒนาศักยภาพตามพันธุกรรมได้อย่างเต็มที่ เราสามารถแบ่งพัฒนาการของเด็กออกเป็น 6 ระยะด้วยกัน คือ เด็กแรกเกิด เด็กวัยทารก เด็กวัยเตาะแตะ เด็กวัยก่อนวัยเรียน เด็กวัยเรียนและเด็กวัยรุ่น


เด็กแรกเกิด (Newborn)


ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหนึ่งเดือนแรก เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูก เด็กในวัยนี้จะมีแค่การกิน นอน ร้อง ถ่าย การเคลื่อนไหวของเด็กเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆโดยอัตโนมัติ เช่น สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดัง ขยับศีรษะเมื่อมีคนลูบแก้ม กำนิ้วมือหรือนิ้วเท้าเมื่อมีสิ่งของวางบนฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ในระยะนี้ เด็กสามารถเห็นสิ่งของที่อยู่ใกล้ๆ เช่น ใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ จำกลิ่นบางอย่างได้ ยิ้มและร้องไห้เพื่อสื่อสารถึงความต้องการ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยใส่ใจว่าเสียงร้องของลูกหมายความว่าอย่างไร เพื่อตอบสนองได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรสบตา มองหน้า พูดคุยกับลูกในเวลากลางวันเพื่อให้เด็กตื่นอย่างสดชื่นและช่วยพัฒนาทางด้านภาษาให้แก่เด็ก
 

เด็กทารก (Infant)


เด็กที่มีอายุระหว่าง 1-12 เดือนจะเริ่มแสดงออกถึงพัฒนาการใหม่ๆ เมื่อเด็กมีอายุ 3-6 เดือนเด็กจะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะ นั่งศีรษะนิ่ง คอไม่อ่อนพับไปมา(sit with head steady) พลิกคว่ำหงายได้ จดจำใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิดได้ เด็กเริ่มพูดอ้อแอ้เมื่อมีอายุ 6-9 เดือนและรับรู้ชื่อของตัวเองและคำง่ายๆที่คุณพ่อคุณแม่ใช้บ่อยๆ เมื่ออายุ 7 -12 เดือน เด็กเริ่มพัฒนาทักษะทางร่างกายโดยสามารถคลาน เกาะยืน เดินได้เอง หยิบสิ่งของด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ของเล่นที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าของเด็ก ระยะนี้เป็นระยะของการสร้างความไว้ใจ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะไว้ใจโดยการตอบสนองต่อความต้องการของเด็กทันทีอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคงทางอารมณ์
 

เด็กวัยเตาะแตะ (Toddler)


ช่วงอายุ 1-3 ขวบเป็นช่วงอายุที่เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ เป็นวัยที่เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมองและอารมณ์อย่างรวดเร็ว เด็กจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่โดยสามารถปีนป่าย โยนรับลูกบอลได้ กระโดดอยู่กับที่ นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ขวบ เด็กจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก สามารถใช้นิ้วและแขนได้ดีขึ้น เช่น ใช้ช้อนส้อมกินอาหารด้วยตัวเอง สามารถขีดเขียนแบบง่ายๆ สมองเด็กเติบโตมากขึ้น สามารถเรียนรู้เรื่องซับซ้อนได้มากขึ้น ปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ ได้ จึงเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นวัยที่สมองของเด็กพัฒนาได้มากที่สุดและเร็วที่สุดกว่าช่วงอื่นๆ ในชีวิต คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกสำรวจสิ่งใหม่ๆและให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อสร้างความมั่นใจในตัวเองให้แก่เด็ก
 

เด็กก่อนวัยเรียน (Preschoolers)


ในวัย 3-5 ปี เด็กจะสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้นเล็กน้อย มีทักษะทางด้านร่างกายเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถกระโดดไปมา ยืนขาเดียว เริ่มกระโดดขาเดียว แต่งตัวเองได้ นอกจากนี้ยังสนใจในการเรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ๆ พยายามสร้างความสัมพันธ์และเล่นกับเด็กคนอื่น สนทนายาวๆกับผู้อื่นได้ เด็กในวัยนี้จะชอบพูดคุยและซักถามในทุกๆเรื่อง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มหัดอ่านหนังสือ เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้เด็กใช้จินตนาการอย่างเหมาะสม เช่น มีของเล่นที่ใช่เล่นบทบาทสมมติได้ การทำกิจกรรมเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความคิดริเริ่มและความมั่นใจให้กับเด็ก  ช่วยให้เด็กใช้พลังงานที่มีอยู่ในตัวอย่างมากมายในเชิงสร้างสรรค์
 

เด็กวัยเรียน (Middle Childhood)


เด็กในวัย 5-12 ปีเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต สมองของเด็กพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทักษะการใช้กล้ามเนื้อพัฒนาอย่างเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมให้เด็กได้ปลดปล่อยพลังงานวิ่งเล่น ออกกำลังกาย สังเกตว่าลูกสนใจกีฬาประเภทใดเพื่อให้ลูกได้ออกกำลังกายทุกวัน นอกจากนี้เด็กจะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นและให้ความสำคัญต่อกลุ่มทางสังคม ควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เด็กจะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นและรู้สึกภูมิใจเมื่อทำสิ่งใดสำเร็จ สำหรับพัฒนาการทางด้านสมอง เด็กวัยนี้สามารถคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจเองบ้าง เพื่อให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง
 

เด็กวัยรุ่น (Adolescence)


เด็กวัยรุ่นหรือวัย 12-18 ปี เด็กจะมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์อย่างมาก โดยเฉพาะในวัยรุ่นตอนต้นที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก ในวัยนี้เด็กจะเริ่มมีลักษณะเพศเปลี่ยนแปลง เช่นเด็กผู้หญิงมีสะโพกขยายและทรวงอกขยายออก บางคนเริ่มมีประจำเดือน ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกวิตกกังวลกับภาพลักษณ์ตัวเอง ควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของลูกและพูดคุยเพื่อให้เด็กเข้าใจถึงธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงและรู้สึกคลายความกังวล แต่จะดีขึ้นเมื่อเป็นวัยรุ่นตอนกลางหรือข่วงวัย 14-16 ปี เมื่อถึงวัยรุ่นตอนปลายเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายช้าลง เด็กจะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีความคิดเห็นเป็นของตนเองและพยายามหาบทบาทของตัวเองในครอบครัวและในสังคม เริ่มสนใจเพศตรงกันข้ามและกังวลกับรูปร่างหน้าตาของตนเอง คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามวัย เพื่อให้เด็กคิดแก้ปัญหา ตัดสินใจและมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้เด็กจะอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นตอนกลาง ควรฝึกให้เด็กได้ลองทำในสิ่งที่ถูกต้องและหัดยับยั้งชั่งใจในสิ่งที่เป็นอันตราย

ในช่วงขวบปีแรกๆของชีวิตเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กมากที่สุด การดูแลเด็กอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความรับผิดชอบและประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างไรก็ตามในทุกช่วงเวลาของชีวิตเด็ก เด็กต้องการความรัก ความอบอุ่น การตอบสนอง ความเข้าใจและคำแนะนำจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะจากคุณพ่อคุณแม่
 
 
เรียบเรียงโดย ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs