ตามสถิติแล้ว ตราบเท่าที่เรารักษาระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงและไม่ปล่อยให้โรคประจำตัวใด ๆ เข้ามาแทรกซ้อน ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือมีอาการรุนแรงหลังติดเชื้อก็จะต่ำ แต่ด้วยความที่ตัวโรคมะเร็งเองและวิธีการรักษา ล้วนมีโอกาสที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผู้ป่วยและผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันจึงต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาสุขอนามัยต่างๆ อย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงขึ้นมา ที่สำคัญคืออย่าตื่นกลัวหรือหวาดระแวงจนไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อเนื่องหรือเมื่อมีอาการฉุกเฉิน เพียงเท่านี้ก็สามารถรับมือกับโรคโควิดได้ด้วยความตระหนักที่ไม่ตระหนกแล้ว
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรคโควิด-19
- ปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 1,000,000 คนแล้ว และขณะที่คุณอ่านบทความนี้ก็ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- กว่า 145 ประเทศทั่วโลกตรวจพบผู้ติดเชื้อ
- ซึ่งหมายความว่าคนทั่วโลกล้วนเผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน
ตามสถิติจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า “โควิด-19” นั้น ผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายเป็นปกติได้ โดยกลุ่มที่อาการรุนแรงนั้นมักมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น อายุที่มาก มีโรคประจำตัวต่างๆ อยู่ก่อน หรือมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
พอถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะมีคำถามว่าแล้วโรคมะเร็งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ หากใช่ ผู้ป่วยมะเร็งควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ทว่าก็ไม่เพลี่ยงพล้ำต่อโรคมะเร็ง เราจะมาตอบคำถามเหล่านี้กัน
สรุปว่าโรคมะเร็งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือไม่
โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่แต่อาจก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่ามาก
ปกติแล้วเมื่อร่างกายของเราถูกเชื้อไวรัสโจมตี ระบบภูมิคุ้มกันจะรับหน้าที่กำจัดวายร้ายจิ๋วเหล่านี้ และในกรณีของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เช่นกัน ดังนั้นหากภูมิคุ้มกันของเราดี ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็จะลดลง หรือต่อให้ติดโรคแล้วก็จะมีอาการไม่รุนแรง และอาจหายได้เองหรือจำเป็นต้องรับการรักษาเพียงเล็กน้อย ขอเพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหมู่ กักตัวแยกจากผู้อื่น และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
แต่ในกรณีของผู้ป่วยมะเร็งนั้น ทั้งตัวโรคเองและวิธีการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการฉายรังสี เคมีบำบัด การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก หรือยาบางชนิด ล้วนมีโอกาสที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองต่างๆ อย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ เพราะหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมาก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
แล้วผู้ป่วยมะเร็งควรปฏิบัติตัวอย่างไร
คำแนะนำเบื้องต้นนั้นก็ไม่ต่างกับคำแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ 70% ครั้งละ 20 วินาที รักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดยการงดไปในที่ชุมชน และอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร หรือหากจำเป็นต้องออกจากบ้านจริงๆ ก็ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา
เพียงแต่ต้องเคร่งครัดกว่าบุคคลทั่วไปให้มาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปอดและมะเร็งเลือดชนิดต่างๆ ผู้ที่อยู่ระหว่างการรับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา (หรือเพิ่งรักษาเสร็จสิ้น) ผู้ที่ได้รับยารักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดหรือยารักษาแบบเฉพาะจุด (targeted therapy) บางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยอาจจะเพิ่มความเข้มข้นเป็นการรักษาระยะห่าง 2 เมตรกับทุกคน รวมถึงบุคคลในครัวเรือนเดียวกันที่ยังคงออกไปนอกบ้านเป็นประจำ หรือบุตรหลานที่อาจแวะมาเยี่ยมเยียน และสวมหน้ากากเมื่อพบกัน
ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยมะเร็งก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างเคร่งครัดเช่นกัน เพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้นำความเสี่ยงมาสู่บุคคลอันเป็นที่รัก
ถ้ามีนัดพบแพทย์ ต้องทำอย่างไรดี
อันดับแรก โปรดติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษา จากนั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรนัดผู้ป่วยเข้ามาที่โรงพยาบาลหรือไม่ โดยคำนึงถึงอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่ยังฉายแสงหรือรับยาเคมีบำบัดไม่ครบคอร์ส ก็จำเป็นต้องมารับการรักษาต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาจก่อผลเสียมากกว่าผลดี แต่สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงติดตามอาการ แพทย์ก็อาจเลื่อนนัดออกไปก่อน หรือใช้ช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์หรือวิดีโอคอล ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาลอันถือเป็นพื้นที่เสี่ยง
ในกรณีที่ยาของผู้ป่วยหมด และแพทย์สามารถจ่ายยาต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องตรวจร่างกายเพิ่ม แพทย์อาจอนุโลมให้ญาติของผู้ป่วยที่เป็นคนหนุ่มสาวและมีสุขภาพแข็งแรงมารับยาแทน หรือส่งยาทางไปรษณีย์ (หากทำได้) หรือหากแพทย์จำเป็นต้องตรวจผู้ป่วยก่อน ก็อาจนัดผู้ป่วยเข้ามาและจ่ายยาให้มากกว่าปกติ เพื่อลดความถี่ที่ผู้ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาล
หากเกิดเหตุฉุกเฉินล่ะ
ในกรณีผู้ป่วยหรือญาติสังเกตพบอาการผิดปกติที่รุนแรงหรือฉุกเฉิน ก็ควรไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โปรดอย่าตื่นกลัวโรคโควิด-19 จนไม่กล้าไปโรงพยาบาลโดยเด็ดขาด ขอให้วางใจว่าโรงพยาบาลทุกแห่งมีมาตรการในการดูแลผู้ป่วยทุกโรคให้ปลอดภัยในสถานการณ์เช่นนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี แนะนำให้โทรศัพท์แจ้งล่วงหน้า และรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน เนื่องจากขั้นตอนในการพบแพทย์อาจต่างไปจากปกติ
แม้โรคระบาดโควิด-19 จะถือเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก แต่พวกเราทุกคนก็ยังมีหนทางป้องกันตัวเองได้ ขอเพียงตระหนักรู้ถึงโรค และไม่ตระหนกจนแตกตื่น ขอเพียงรักษาระยะห่างกับผู้อื่นเพียงชั่วคราว งดการสัมผัสแตะต้องสิ่งที่ไม่จำเป็น ล้างมือบ่อยๆ และถนอมสุขภาพกายใจให้แข็งแรงจนถึงวันที่มีวัคซีน เราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 18 พฤษภาคม 2565