“เราสามารถลดเวลาในการตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็งเพื่อหายารักษาที่ดีที่สุดให้ผู้ป่วยแต่ละราย ได้เร็วกว่าการส่งตรวจที่อื่น ทางโรงพยาบาลมีเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการที่พร้อมและทันสมัยอยู่เสมอ เพราะเราคิดว่าช่วงเวลาทุกนาทีนั้น สำคัญกับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกคน” หนึ่งในความห่วงใยและเป็นภารกิจหลักที่ตั้งใจทำเพื่อผู้ป่วยของ ดร.วิภา พันธ์มณฑา (Wipa Panmontha, Ph.D) Senior Manager Laboratory โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
การทดสอบทาง Genetic ที่เกี่ยวกับมะเร็งนั้น ปัจจุบันนับว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในขั้นตอนการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่ดีและมีโอกาสที่จะหายได้สูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางฝ่ายห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีหลากหลายการทดสอบเพื่อรองรับเคสของมะเร็งอย่างครอบคลุม อย่างเช่นการตรวจดูการกลายพันธุ์ของยีน EGFR หรือจะเป็น KRAS , NRAS , BRAF เป็นต้น “การทดสอบต่างๆของเรานั้น มีการทดสอบหลายรูปแบบเพื่อที่จะนำเสนอให้กับแพทย์ใช้ในการประเมินการรักษาและเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยได้มากที่สุด” ดร.วิภา อธิบายถึงการทดสอบชนิดต่างๆ
“แต่ก่อนนั้น เรามักจะได้ยินว่าการวินิจฉัยและเลือกการรักษานั้น อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ (Biopsy) แน่นอนว่าบางครั้งผู้ป่วยบางคนอาจไม่สะดวกในการตัดชิ้นเนื้อ ต้องเจ็บตัวหรือเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ในบางครั้งก็สามารถตัดชิ้นเนื้อได้น้อยมากจนไม่สามารถทำการทดสอบจากชิ้นเนื้อนั้นได้ ซึ่งในตอนนี้ทางแล็บของเราก็เห็นถึงข้อจำกัดเหล่านี้ จึงมีเทคโนโลยีการตรวจทดสอบใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุด”
ดร.วิภา อธิบายถึงการทดสอบที่เรียกว่า Next-Generation Sequencing (NGS) “เราใช้การทดสอบ NGS โดยใช้เลือดของผู้ป่วย หรือที่เรียกว่า Liquid Biopsy เพื่อดูตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็ง การทดสอบนี้สามารถตรวจพบเศษเล็กๆของ DNA ของเซลล์มะเร็งที่ปล่อยเข้ามาในกระแสเลือด ที่เรียกกันว่า Circulating Tumour DNA”
ข้อดีที่เห็นได้ชัดของการใช้การทดสอบนี้ก็คือใช้การเจาะเลือดแทนการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อหายาที่จำเพาะกับการกลายพันธุ์มาใช้ในการรักษาและเสนอให้กับแพทย์ ดร.วิภายังอธิบายเพิ่มในเรื่องของการติดตามผล (Monitor) ผู้ป่วยอีกด้วย “นอกจากจะใช้การทดสอบนี้หายาที่จำเพาะกับการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว เรายังสามารถติดตามผลดูว่าหลังการรักษาเป็นอย่างไร การกลายพันธุ์ของมะเร็งนั้นมีการลดหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมไหม จากการเจาะเลือดมาตรวจการกลายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถทำได้ง่าย และบ่อยกว่าการทำ MRI หรือ PET Scan”
“มีเคสผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นคนต่างชาติผู้หญิง ไม่สามารถที่จะตัดชิ้นเนื้อได้ และอาการหนักมากต้องเข้าห้องไอซียู แพทย์ได้เลือกใช้การทดสอบ NGS จาก Liquid biopsy นี้ โดยการเจาะเลือดส่งตรวจ ซึ่งพอผลออกมาพบการกลายพันธุ์ที่มียาที่จำเพาะกับการกลายพันธุ์ แพทย์ได้ในเวลาแค่ไม่กี่วันผู้ป่วยคนนั้นก็อาการดีขึ้นมากจนออกจากไอซียูและอาการดีขึ้นตามลำดับ” นอกจากนี้เรายังมีอีกเครื่องมือหนึ่ง เพื่อตรวจดูยีนเฉพาะแค่ยีนเดียว แทนที่จะตรวจแบบรวมๆ ซึ่งความพิเศษของเรานั้น ใช้เวลาน้อยมากในการตรวจทดสอบ ประมาณไม่เกิน 3 วันเท่านั้น เร็วกว่าการส่งตรวจแล็บที่อื่นกว่าหนึ่งเท่าตัว เพราะเราคิดว่าเวลานั้นมีค่ามากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพียงแค่นาทีเดียวก็มีความหมายสำหรับเขา”
“ล่าสุดเรามีเทสต์ที่ชื่อว่า MSI (Microsatellite Instability) ตรวจว่าคนไข้ตอบสนองต่อ Immunotherapy หรือเปล่า ก็คือการใช้หลักการของภูมิคุ้มกันบำบัดนั่นเอง และสิ่งที่เราจะก้าวต่อไปนั้น เรากำลังที่จะพัฒนาการทดสอบเพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็งที่มีถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย” ดร.วิภากล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจรักษาสำหรับคนไข้มะเร็งที่ไม่หยุดนิ่งของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 18 พฤษภาคม 2565