bih.button.backtotop.text

ภูมิคุ้มกันบำบัด กระสุนวิเศษปิดการรุกรานจากมะเร็งร้าย

          หากจะกล่าวว่าทศวรรษที่ผ่านมานี้คือการเปิดฉากการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอย่างยิ่งใหญ่ก็ไม่เกินเลยไปแม้แต่น้อย การมาถึงของยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งผิวหนังนั้นทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลงอย่างฮวบฮาบถึงร้อยละ 7 ต่อปีเลยทีเดียว ทว่านอกจากประสิทธิภาพแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือผลข้างเคียงที่ต่ำ เนื่องจากแทนที่จะใช้กำลังเข้าห้ำหั่นมะเร็งตรงๆ กลับเป็นการเข้าไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของเราลุกขึ้นมากำจัดมะเร็งด้วยตัวเอง

          ตามปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มทำงานทันทีที่ร่างกายตรวจพบสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็งก็ตาม ปัญหาก็คือเซลล์มะเร็งสามารถขัดขวางการทำงานของภูมิคุ้มกันได้ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเสริมพลังให้กับระบบภูมิคุ้มกัน และด้วยความที่สุดท้ายแล้วฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งก็มาจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของเราเอง ไม่ใช่สารเคมีอื่นใด ผลข้างเคียงจึงน้อยกว่าเคมีบำบัดหรือการฉายแสงมาก

210303_Bumrungrad-IDM_The-Magic-Bullets-Fight-Various-Types-of-Cancers-with-Immunotherapy_Final_CO_CS6.jpg


          เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรานั้นซับซ้อนมาก จึงมีตำแหน่งที่เราสามารถเข้าไปเสริมพลังให้ทำงานได้ดีขึ้นหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการไปช่วยอวัยวะต่างๆ ให้ผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันมากขึ้น หรือการไปสอนให้เซลล์ภูมิคุ้มกันรู้จักค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งต่างๆ ไปจนถึงการช่วยให้สารโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันใช้ในการสื่อสารทำงานได้คล่องตัวกว่าเดิม แต่ในปัจจุบันนี้ การนำเซลล์เม็ดเลือดขาวออกไปดัดแปลงภายนอกร่างกายเพื่อเพิ่มความสามารถในการค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น (CAR-T cell therapy) ขณะที่การใช้ยาเพื่อเปิดสวิตช์เซลล์เม็ดเลือดขาว (immune checkpoint inhibitor) นั้นมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าพร้อมเต็มที่

          กลไกการต่อสู้กับมะเร็งของ immune checkpoint inhibitor (ยายับยั้งอิมมูนเช็กพอยต์) นั้นก็ตรงไปตรงมาตามชื่อ กล่าวคือเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์นั้นมีโปรตีนที่เรียกว่า “จุดตรวจสอบ (checkpoint)” อยู่หลายจุด ซึ่งทำหน้าที่เหมือนสวิตช์คอยเปิดและปิดการทำงานของเซลล์ เพราะหากเราปล่อยให้ทีเซลล์ทำงานตลอดเวลา มันก็จะไปทำลายเซลล์ปกติเข้าและก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันต่างๆ ปัญหาก็คือเซลล์มะเร็งหลายชนิดสามารถหลั่งสารมาปิดสวิตช์เหล่านี้ได้เช่นกัน ทำให้ทีเซลล์อยู่เฉยๆ แทนที่จะไล่ทำลายเซลล์มะเร็งเสีย ดังนั้นสิ่งที่ยายับยั้งอิมมูนเช็กพอยต์ทำจึงเป็นการไปขวางไม่ให้เจ้ามะเร็งมาแอบปิดสวิตช์ทีเซลล์ด้วยวิธีต่างๆ ระบบภูมิคุ้มกันของเราจึงไล่กำจัดเซลล์มะเร็งได้เต็มที่ ยายับยั้งอิมมูนเช็คพอยต์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันออกฤทธิ์โดยการยับยั้งโปรตีนต่างๆ ต่อไปนี้

  1. PD-1 (programmed death protein 1) โปรตีนตัวนี้เป็นตัวรับอยู่บนผิวของทีเซลล์ ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นก็จะออกไปตามหาและทำลายเซลล์มะเร็ง ยาที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกนี้คือยายับยั้งอิมมูนเช็กพอยต์กลุ่มแรกที่วางจำหน่ายในท้องตลาดหลังจากนั้นก็มียาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

  2. PDL-1 (programmed death-ligand 1) โปรตีนตัวนี้อยู่บนผิวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งหากปล่อยให้ไปจับกับโปรตีน PD-1 ที่กล่าวไว้ด้านบน ทีเซลล์ก็จะไม่ทำงาน เมื่อเราส่งยาไปชิงจับไว้ก่อน ทีเซลล์ก็จะทำงานได้ตามปกติ

  3. CTLA-4 โปรตีนตัวนี้อยู่บนผิวของทีเซลล์ เมื่อยาเข้าไปชิงจับไว้ก่อน ก็จะเป็นการเปิดสวิตช์ให้ทีเซลล์ทำงานอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

          กลไกที่ได้อธิบายไว้ข้างบน นำไปสู่ตัวยามากมายซึ่งครอบคลุมการรักษามะเร็งหลายชนิดดังที่แสดงไว้ในภาพประกอบด้านล่าง และและยังมีตัวยาใหม่ๆ ที่รอให้องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) พิจารณาเพื่ออนุมัติให้วางจำหน่ายในท้องตลาด รวมถึงตัวยาเดิมที่อาจพิจารณาข้อบ่งใช้ให้ครอบคลุมสำหรับมะเร็งชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมอยู่อีกมากมาย”

BIH_Horizon-Article_Immunotherapy_co.jpg
 

รูปที่ 1: มะเร็งชนิดต่างๆ ที่รักษาได้ด้วยยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด
 

          การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป การเลือกปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ทั้งในการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดและการรักษาแบบอื่นๆ จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการผสมผสานทุกทางเลือกและออกแบบการรักษาให้จำเพาะเจาะจงย่อมในไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และนั่นก็คือแนวทางที่ศูนย์มะเร็งฮอไรซันยึดถือเสมอมา
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 18 มกราคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs