การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง endoscope เป็นหนึ่งในการผ่าตัดบาดเจ็บน้อย (minimally invasive spine surgery) เป็นการใช้เทคโนโลยี และ เทคนิคในการผ่าตัดสมัยใหม่ โดยจุดประสงค์เพื่อให้มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อให้น้อยที่สุด และผลการรักษาไม่ด้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ (conventional operation)
หลักการคือเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope ซึ่งมีขนาดน้อยกว่า 1 เซนติเมตรและ มีแผลเดียว การทำงานอาศัยระบบน้ำ เพื่อช่วยให้การมองเห็นชัดเจนเป็นอย่างดี (lens optic under fluid) และลดเลือดออกในการผ่าตัด โดยในขณะผ่าตัดมองผ่านจอแสดงภาพความละเอียดสูง
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope
- แผลผ่าตัดเล็กมีขนาดเล็ก ประมาณ 1 เซนติเมตร เจ็บแผลน้อย
- มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและกระดูกน้อย เสียเลือดน้อยมากจากการผ่าตัด
- ลดเวลาในการนอนโรงพยาบาล โดยทั่วไปนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1 คืน
- ทำงานภายใต้การมองเห็นที่ชัดเจน ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
- ลดอัตราการติดเชื้อของการผ่าตัดกระดูกสันหลัง
- ลดการเกิดแผลเป็นในโพรงกระดูกสันหลัง ทำให้ถ้าต้องมีการผ่าตัดในครั้งต่อไป เป็นไปด้วยความไม่ยากลำบาก
- ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยในกรณีที่แพทย์มีความชำนาญ
- ผลลัพธ์การรักษาได้ผลการผ่าตัดที่ดีไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ
ข้อจำกัดของการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope
- อาศัยทักษะความชำนาญของแพทย์
- การผ่าตัดสามารถทำได้ในพื้นที่จำกัด ไม่เหมาะที่จะทำในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพหลายระดับมากๆ หรือมีความไม่มั่นคงของข้อต่อกระดูกสันหลัง
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope
สามารถรักษาได้ใน 2 โรคหลักๆ ซึ่งเป็นโรคจากความเสื่อมทางกระดูกสันหลังที่พบได้มากที่สุด
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (herniated disc)
- โพรงประสาทตีบแคบทับเส้นประสาท (spinal stenosis)
นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคถุงน้ำจากข้อต่อกระดูกสันหลัง (facet cyst)กดทับเส้นประสาท ได้ด้วย
ผู้ป่วยที่เหมาะสมในการรักษาผ่านกล้อง endoscope มักจะมีอาการ
- ปวดหลัง ร้าวมาที่สะโพก ร้าวลงขา (Sciatica pain)
- อาจจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ขา ร่วมด้วย (Numbness or weakness)
- อาจจะมีอาการปวดเมื่อยที่ขาเมื่อเดินไกล ต้องหยุดพัก (Claudication)
- ในคนที่มีการกดทับเส้นประสาทรุนแรง อาจมีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายได้ (Bowel /bladder symptoms)
เทคนิคในการผ่าตัด มี 2 แบบ
- Interlaminar approach เป็นการผ่าตัดเข้าทางด้านหลังของผู้ป่วยผ่านช่องโพรงประสาททางด้านหลัง ใช้ได้ทั้งการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออก (discectomy) และ ใช้ในการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อหรือกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก (decompression)
- Transforaminal approach หรือ extraforaminal approach เป็นการผ่าตัดเข้าทางด้านข้างของผู้ป่วยผ่านช่องโพรงประสาททางด้านข้าง มักใช้ในการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออก (discectomy)
ความเสี่ยงจากการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้น้อยมาก เช่น การติดเชื้อที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง (discitis) แผลผ่าตัดติดเชื้อ (wound infection) ถุงหุ้มเส้นประสาทฉีกขาด (dural tear) มีโอกาสที่ต้องเปลี่ยนจากผ่าตัดส่องกล้องเป็นผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ โอกาสเกิดเป็นซ้ำของหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (recurrent disc herniation)อยู่ที่ประมาณ 6%
สรุปในปัจจุบันการผ่าตัดโดยวิธีใช้กล้อง endoscopeได้ผลดี แผลผ่าตัดเล็ก บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย อาการเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดน้อย ใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้น ใช้ได้ในการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาททุกชนิด (herniated disc) และ โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาท (spinal stenosis) และโรคถุงน้ำจากข้อต่อกระดูกสันหลัง (facet cyst) โดยได้ผลการรักษาที่ดีไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ
เรียบเรียงโดย
นพ. ปฤศนัย พฤฒิกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567