bih.button.backtotop.text

กระดูกคอเสื่อม กดทับเส้นประสาทรักษาได้


กระดูกเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไมถึงกดทับเส้นประสาท?

กระดูกคอเสื่อมเกิดขึ้นได้จากการเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้นและการใช้งาน เนื่องจากกระดูกคอต้องแบกน้ำหนัก ศีรษะ และต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา การเสื่อมย่อมเกิดขึ้นทุกคน และการเสื่อมสภาพมากน้อยแต่ละคนจะไม่เท่ากัน 

การเสื่อมสภาพของกระดูกคอ จะเริ่มตั้งแต่มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอ ต่อมาก็มีการเสื่อมของข้อต่อของกระดูกสันหลัง ข้อต่อฟาเซ็ท (Facet) และข้อต่อ Uncovetebral เมื่อมีการเสื่อมมากขึ้น ข้อต่อก็จะมีการหลวม หรือไม่มั่นคง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ บางรายไม่มีอาการปวดคอ แต่รู้สึกเมื่อยคอ ต่อมาร่างกายก็มีการปรับสภาพโดยการพยายามสร้างกระดูกขึ้นมา ไม่ว่าบริเวณข้อต่อ หรือส่วนอื่นๆของกระดูกสันหลังที่มีการเคลื่อนไหว กระดูกที่สร้างขึ้นมานี้ เรียกว่า “หินปูน” หรือ “กระดูกงอก” ก็จะส่งผลให้ขยับเคลื่อนไหวน้อยลง อาการปวดคอของผู้ป่วยก็จะดีขึ้น บางรายก็ไม่ปวดคอเลย แต่กระดูกงอกหรือหินปูนดังกล่าวถ้าเกิดบริเวณตำแหน่งใกล้กับเส้นประสาทก็จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดชาแขนไปตามส่วนที่เส้นประสาทไปเลี้ยง ในผู้ป่วยอายุน้อยการเกิดการกดทับเส้นประสาท จากหินปูนพบน้อย เนื่องจากกระดูกคอยังเสื่อมไม่มาก แต่ก็เกิดขึ้นได้จากที่ “หมอนรองกระดูกคอ” ที่เสื่อมเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในช่วงอายุ 20-40 ปี 

 

ปัจจัยเสี่ยงอะไรที่ทำให้กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

  • บุหรี่ เป็นปัจจัยทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูกสันหลัง
  • การใช้งานในอิริยาบถและทำผิดลักษณะ เช่นการที่คอก้มเขียนหนังสือ หรือดูคอมพิวเตอร์นานๆ การนอนหนุนหมอนที่สูงมาก ทำให้คออยู่ในท่างอผิดปกติตลอดจนการนอนอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเงยคอทำงานเช่น ช่างซ่อมช่วงล่างรถยนต์ ก็ทำให้คออยู่ในลักษณะแอ่นไปด้านหลังตลอดเวลา ถ้าหากมีการใช้ผิดลักษณะเรื้อรัง    ก็ทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้นได้
  • การได้รับอุบัติเหตุรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ กระดูกคอเกิดการกระแทก หรือคอมีการเหวี่ยงอย่างรุนแรง อาจเกิดการฉีกขาดของหมอนรองกระดูก หรือเอ็นข้อต่อกระดูกได้
  • การเล่นกีฬาบางชนิด เช่นฟุตบอล ที่มีการโหม่งลูกฟุตบอล เล่นอเมริกันฟุตบอล ทำให้เกิดการกระแทกบริเวณศีรษะหรือคอบ่อยๆ การเล่นโยคะบางท่า เช่น ท่าศีรษะโหม่งพื้นรับน้ำหนักตัว
 

อาการแสดงของกระดูกคอเสื่อม 

  • ไม่มีอาการแสดง อาจจะมีอาการเมื่อยๆคอ เป็นๆหายๆ แต่ก็ไม่ได้สังเกต ไม่ได้รักษา
  • ปวดคอเรื้อรัง กินยาแก้ปวดก็ดีขึ้น ต่อมากลับมาปวดคออีก บางรายเวลาแหงนคอก็มีอาการปวดร้าวไปบริเวณสะบักหรือหัวไหล่
  • ปวดคอร้าวไปแขน แสดงว่ากระดูกคอเสื่อมเริ่มมีการกดทับเส้นประสาท อาจจะมีประวัติ เหมือนมีไฟช๊อตร้าวจากคอไปบริเวณข้อศอกหรือนิ้วมือ เสียวแปล๊บๆ ต่อมาอาการเสียวดีขึ้นแต่รู้สึกชาและปวดแขน แขนล้าไม่มีแรง
  • ไม่มีอาการปวดคอแต่รู้สึกปวดไหล่ ร้าวไปข้อศอก ปวดล้าๆ เมื่อย อาจจะมีอาการชาร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ 
  • มีอาการเดินเซ หรือแขนขา อ่อนแรง โดยไม่ปวดคอ (cervical  myelopathy) ถ้ามีการกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรงก็ทำให้เดินไม่ได้ หรือควบคุมการอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้
 

การตรวจวินิจฉัย

  1. การตรวจเอกซเรย์กระดูก
  2. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
 

วิธีการรักษากระดูกคอเสื่อม

 
1. รักษาแบบอนุรักษ์นิยม
  • พักผ่อนนอนราบ เพื่อที่กระดูกคอไม่ต้องแบกรับน้ำหนัก
  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อน (Hot pack) ประคบบริเวณคอ 10-15 นาที
  • ถ้าปวดมากให้ใช้ปลอกคอ (Soft collar or hard collar) ช่วยพยุงคอได้ โดยเฉพาะในช่วงปวดเฉียบพลันในสัปดาห์แรก
  • กินยาแก้ปวด ซึ่งได้แก่ กลุ่มพาราเซ็ตทามอล, ยาคลายกล้ามเนื้อ หรืออาจจะใช้ยาทานวดช่วยได้ สำหรับกลุ่มยาลดการอักเสบ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกว่า ยากระดูก อาจจะต้องระวังเนื่องจากจะมีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้
  • การนวดจับเส้น ไม่แนะนำในระยะปวดเฉียบพลัน เพราะจะทำให้อาการอับเสกมากยิ่งขึ้น
  • การบริหาร กลุ่มปวดคอเรื้อรังควรมีการบริหารเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อกระดูกคอ และบริหารกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอให้แข็งแรง โดยให้ลำคออยู่แนวตรง ใช้ฝ่ามือวางบริเวณเหนือหู เกร็งกล้ามเนื้อคอดันสู้ฝ่ามือ โดยไม่ให้คอเคลื่อนไหว หรือเกิดอาการปวด นับ 1-10 แล้ว ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง ประมาณ 3 รอบต่อวัน (รูป 1) และให้วางฝ่ามือบริเวณ หน้าผาก เพื่อเกร็งกล้ามเนื้อ ดันสู้ฝ่ามือ ทำเหมือนเดิม ฝึกทำบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงช่วยพยุง
  • การทำกายภาพในโรงพยาบาล โดยการให้ความร้อนอัลตราซาวด์  หรือดึงคอเป็นการรักษาวิธีหนึ่ง ซึ่งช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้
 

แนวทางป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หยุดสูบบุหรี่
  • ระวังอิริยาบถขณะทำงาน ไม่ก้ม-เงยคอนานเกินไป
  • ขณะทำงานควรหาเวลาหยุดพัก เพื่อออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอ เคลื่อนไหวคอ หรือเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ ชั่วโมง
  • เก้าอี้นั่งทำงานควรมีพนักพิง หนุนคอได้พอดี
  • เวลานอน ใช้หมอนหนุนบริเวณก้านคอ ไม่ให้ศีรษะก้ม หรือ เงยมากเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ ศีรษะอยู่ระดับเดียวกับพื้น
  • ออกกำลังกายฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง
 
2. การรักษาโดยการผ่าตัด
 

ข้อบ่งชี้

  • การรักษาทางอนุรักษ์นิยม 6 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น

  • ​ยังคงมีอาการปวดตลอดเวลา ทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเสียไป

  • มีอาการชา หรือแขนอ่อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะได้รับการรักษาอยู่


การผ่าตัดอันตรายหรือไม่

พบว่าการผ่าตัดกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทสมัยใหม่ มีความปลอดภัยสูงมาก และการผ่าตัดได้ผลดีมาก 90-95 % ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลไม่เกิน 2-3 วัน สามารถลุกยืนเดินได้หลังผ่าตัด ทำกิจวัตประจำวันได้เป็นปกติ


การผ่าตัดทำได้อย่างไร

  • แผลผ่าตัดอยู่บริเวณลำคอด้านหน้า ยาวประมาณ 3-5 ซม.

  • ผ่าเข้าไปเอาส่วนหมอนรองกระดูก และหินปูนหรือกระดูกงอกซึ่งกดทับเส้นประสาทออก

  • เชื่อมกระดูกที่เสื่อมเข้าด้วยกันด้วยการใส่กระดูกที่ตัดมาจากกระดูกเชิงกราน แถวสะโพกชิ้นเล็กๆ หรือปัจจุบันก็มีกระดูกเทียม  มาใช้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยปวด จากกระดูกที่ถูกตัดมาใช้ในการเชื่อมกระดูกคอเข้าด้วยกัน

  • การเชื่อมกระดูกอาจมีการใช้โลหะช่วยดาม ถ้ากรณีการเชื่อมกระดูกหลายๆข้อ เพื่อให้เกิดความมั่นคง และทำให้กระดูกที่เชื่อม ติดสูง โดยโลหะที่ใส่เป็นเหล็กไทเนียม ซึ่งไม่เกิดสนิม หรือผลข้างเคียง สามารถใส่ตลอดชีวิตได้ (ดังรูป C)

  • ปัญหาการเชื่อมกระดูกคอหลายๆข้ออาจทำให้เกิดการสูญเสียการก้มเงย หรือการหมุนคอได้ลดลง ปัจจุบันจึงมีการใช้ข้อกระดูกสันหลังเทียม (Disc prosthesis) (ดังรูป D) แทนการเชื่อมกระดูก ก็จะทำให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างเดิม 


ระยะเวลาการพักฟื้น

ปกติการผ่าตัดกระดูกคอเสื่อมใช้เวลา 2-3 วัน นอนในโรงพยาบาล ก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนใหญ่อาการปวดจะดีขึ้นทันที หลังผ่าตัดสามารถลุกยืนเดิน ทำกิจวัตรประจำวันได้ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องใช้ปลอกคอเพื่อป้องกันมิให้คอมีอาการ ก้ม เงย มากเกินไปในช่วงแรกหลังการผ่าตัด

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 
แก้ไขล่าสุด: 11 กุมภาพันธ์ 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs