bih.button.backtotop.text

สู้มะเร็งปอดด้วย Targeted Therapy

มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบมากและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของประชากรไทยทั้งเพศชายและหญิง แต่ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอดในระยะใดก็ตาม หากได้รับการวินิจฉัยระยะของมะเร็งและได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็สามารถรักษาได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
การรักษามะเร็งปอดโดยทั่วไปมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการฉายรังสี แต่ในปัจจุบัน ด้วยวิวัฒนาการและการพัฒนาทางเทคโนโลยี จึงทำให้แพทย์สามารถแบ่งแยกชนิดของมะเร็งปอดได้ละเอียดถึงระดับชีวโมเลกุล และเกิดการคิดค้นการรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า “Targeted Therapy
 
Targeted therapy เป็นการรักษาโดยการให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นการต่อสู้กับมะเร็งอย่างตรงจุด และส่งผลต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าการใช้เคมีบำบัด โดยในปัจจุบันมียา targeted therapy หลายชนิดที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งยาแต่ละชนิดจะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของมะเร็งนั้นๆ เช่น ยาที่ทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตาย ยาที่ทำหน้าที่จับตัวรับสัญญาณที่ผิวเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต หรือยาที่เป็นแอนติบอดีเข้าไปจับกับตัวรับสัญญาณเซลล์มะเร็งโดยตรง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันกำจัดเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
 
ทั้งนี้ พบว่าการรักษามะเร็งด้วย targeted therapy อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการตอบสนองต่อตัวยาดีขึ้น ช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากยาหลายชนิดอยู่ในรูปแบบรับประทาน ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ
 
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วย targeted therapy จำเป็นต้องได้รับการตรวจยืนยันจากแพทย์ก่อนว่าผู้ป่วยมีเซลล์มะเร็งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับยา สำหรับมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจดูยีนของผู้ป่วย เช่น มีการกลายพันธุ์ของตัวรับ EGFR (epidermal growth factor receptor) หรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้ยาในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการใช้ยาอย่างแท้จริง
 
สุดท้ายนี้ที่อยากจะฝากไว้คือ การรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือและกำลังใจของผู้ป่วยเอง การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้การวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างมีระบบ โดยทีมแพทย์จะร่วมกันพิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งในปัจจุบันก็มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ซึ่งสามารถช่วยลดความทุกข์ทรมานจากโรคได้ ผู้ป่วยจึงไม่ควรหมดหวังต่อการรักษาหรือหันไปรับการรักษาในรูปแบบที่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ
 
เรียบเรียงโดย นพ.หฤษฎ์ สุวรรณรัศมี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs